ไม่เพียง “กระท่อม” ที่เข้ามาสร้างความเคลื่อนไหวให้กับเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ธุรกิจกัญชง-กัญชาเองก็กำลังคึกคัก หลังภาครัฐปลดล็อกออกจากการเป็นยาเสพติด หลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนประกาศเดินหน้าพัฒนาและเดินเครื่องผลิตเต็มสูบ พร้อมสู้ศึกในธุรกิจใหม่นี้ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง
ปัจจุบันประเทศไทยมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยให้บางส่วนของพืชกัญชงและกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 ซึ่งรัฐเองก็ได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชงและกัญชาเพิ่มขึ้นในฐานะพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ
ประกอบกับมูลค่าตลาดกัญชาโลกมีแนวโน้มพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากรายงานของ “MarketsandMarkets” ที่ออกมาระบุว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดกัญชาทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดของกัญชาจะพุ่งสูงไปถึง 90,400 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขดังกล่าวทำให้กัญชากัญชงขึ้นแท่นเป็นพืชแห่งความหวังของไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในระหว่างการเป็นประธานในงาน “Kick Off กัญชาริมฝั่งโขง เส้นทางการท่องเที่ยวสมุนไพรกัญชา” ที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครพนม ว่า “ที่ผ่านมาหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันพืชสมุนไพรกัญชา กัญชง มาได้ระดับหนึ่ง โดยได้ปลดล็อกออกจากยาเสพติดควบคุมประเภทที่ 5 โดยต้น กิ่ง ก้าน ใบ และรากของกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป และในประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ ไม่มีกัญชาและกัญชงเป็นพืชที่ผิดกฎหมายแล้ว และตั้งแต่ปี 2565 เราจะผลักดันให้ทั้งต้น ราก กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ช่อดอก และเมล็ดของกัญชาจะไม่ต้องอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกต่อไปด้วย”
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศรายชื่อบัญชียาเสพติดฉบับใหม่ทั้ง 5 ประเภท โดยจะไม่มีกัญชาอยู่ในนั้น กำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มีทีเอสซี (THC) เกินกว่า 0.2% เท่านั้นจึงจะเป็นยาเสพติด แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมัน สารสกัด ผลิตภัณฑ์สบู่ เครื่องสำอาง อาหารเสริมที่มีค่าทีเอสซีต่ำกว่า 0.2% สามารถใช้ได้ทั้งหมด
แน่นอนว่าเมื่อภาครัฐเปิดไฟเขียวประกอบกับมูลค่าการตลาดที่มีแนวโน้มพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างกระโดดเข้าสู่ธุรกิจกัญชากัญชงเพื่อชิงโอกาสทางธุรกิจใหม่นี้
ล่าสุดบริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด (Salus Bioceutical Thailand: SBT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทย และบริษัท MPX International Corporation (MPXI) หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมกัญชาระดับโลกที่มีกิจการในแคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ มอลตา ออสเตรเลีย และไทย ประกาศเปิดตัวโรงงานผลิตและสกัดกัญชากัญชงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและมีเครื่องมือตลอดจนเครื่องสกัดที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งนอกทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 600 ล้านบาท
โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีกำลังการสกัดชีวมวลมากกว่า 200,000 กิโลกรัมต่อปี ผลิตน้ำมัน CBD ได้มากกว่า 50,000 ลิตร และผลิต Isolate powder และ CBD Isolates Water Soluble ได้ 90,000 กิโลกรัมต่อปี มีพื้นที่การเพาะปลูกในระบบปิดขนาด 800 ตารางเมตร และได้ชื่อว่าเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูง สามารถผลิตสารสกัดกัญชง-กัญชาออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งสารสกัด CBD เข้มข้น, น้ำมัน CBD, สารสกัด CBD บริสุทธิ์, สารสกัด CBD รูปแบบผงที่ละลายน้ำได้ และสารสกัด CBD รูปแบบละลายน้ำ
ซึ่งสาร CBD (cannabidiol) ถือเป็นสารสำคัญที่มีคุณค่าทางการแพทย์สูง ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ช่วยลดความวิตกกังวล ลดการอักเสบได้ โดยที่สารสกัดแต่ละรูปแบบสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิดทั้งในการผลิตยา เครื่องสำอาง อาหารเสริมต่างๆ โดยจะผลิตสินค้าล็อตแรกป้อนสู้ตลาดได้ในเดือนธันวาคม 2564 และภายในกลางปี 2565 จะขยายประเภทของผลิตภัณฑ์รวมถึงผลิต “ยากัญชา” อันถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของบริษัท
สำหรับการปลูกกัญชงกัญชาเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานนั้น ทางซาลัสได้ทำ Contract farming กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเลย ในการเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก โดยได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชงกัญชาและสมุนไพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตขอนแก่น (มทร. อีสาน) เพื่อวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา พร้อมให้ความรู้กับเกษตรกรในการเพาะปลูก ปัจจุบันซาลัสมีพื้นที่ปลูกในระบบ contact farming ทั้งหมด 77 ไร่ และพร้อมขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
วิลเลียม สก็อต บอยส์ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหารของ MPXI กล่าวว่า “ตลาดเกิดใหม่ของผลิตภัณฑ์สารสกัด CBD และ THC มาตรฐานการแพทย์ในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลไทยจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ในการเพาะปลูกและผลิตกัญชามาตรฐานการแพทย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าโรงงานแห่งนี้จะสร้างรายได้และผลกำไรในระยะเวลาอันใกล้”
ท่ามกลางกระแสการใช้กัญชาทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน นับเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมนี้ หลังจากที่กฎหมายได้รับรองการใช้กัญชาทางการแพทย์ในปี พ.ศ. 2562 ทำให้มีผู้ป่วยชาวไทยประมาณ 600,000 คนที่สามารถเข้ารับการรักษาโดยการใช้กัญชา รวมถึงในปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อจุดประสงค์ด้านการแพทย์มากเป็นอันดับสามของโลก คาดว่ารายได้จากการรวมอุตสาหกรรมกัญชาเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพียงอย่างเดียวน่าจะสร้างรายได้ถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2567
ในขณะที่ ธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล เปิดเผยว่า ไทยมีการลงทุนในตลาดกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ โดยในขั้นแรกซาลัสจะเริ่มผลิตภัณฑ์กัญชามาตรฐานการแพทย์ตามมาตรฐาน EU-GMP เช่น CBD distillate isolate powder และ CBD isolate water soluble เพื่อจำหน่ายในประเทศ และตั้งเป้าครองตลาดอาเซียนด้วยการขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกที่ 618 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2567
ปัจจุบันฐานลูกค้าของซาลัสครอบคลุมทั้งผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ อาหารเสริม ธุรกิจสปา และอาหารสัตว์ ซึ่งกัญชงและกัญชาถือเป็น Zero waste agriculture ทุกส่วนตั้งแต่ใบ กิ่ง ก้าน ราก สามารถนำไปต่อยอดและแปรรูปได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกากที่เหลือจากการผลิตยังสามารถใช้เป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์ได้เพราะมีระดับโปรตีนสูง
ไม่เพียงเท่านั้น จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าขวบปีที่ผ่านมามีกลุ่มธุรกิจต่างทยอยมายื่นขอจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจกัญชงกัญชาเป็นระยะ เช่น บริษัท เจนโดว์ จำกัด ประกอบกิจการนำเข้า ส่งออก เมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท
บริษัท แอมโบรส เอเชีย จำกัด ประกอบกิจการรับเป็นที่ปรึกษา วิจัยและพัฒนากลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชง จดทะเบียน 5 มีนาคม 2564 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท
บริษัท โกลเด้น ไทร แองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด หรือ GTG ผู้ประกอบการต้นน้ำของธุรกิจกัญชากัญชงทั้งพัฒนาสายพันธุ์และผลิตสารสกัด CBD ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการรายสำคัญของไทย โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายศึกษาวิจัยจนสามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชง “Raksa” ที่มีคุณภาพสูงได้เป็นผลสำเร็จ
และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการออกหุ้นเพิ่มทุนกว่า 250 ล้านบาท ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มธุรกิจรายใหญ่อย่างบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมทุนในครั้งนั้นด้วย โดยที่โกลเด้น ไทร แองเกิ้ล จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนี้ไปขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต
อีกหนึ่งรายที่น่าสนใจคือบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ผู้เล่นในธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจระบบไฟฟ้า ที่ขอแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจกัญชากัญชงแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งการปลูกและการสกัดสาร CBD พร้อมเตรียมงบลงทุนในธุรกิจกัญชากัญชงในช่วง 2 ปี (2564-2565) ไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเป็น New S-Curve ของบริษัท
ล่าสุดยังได้ทุ่มเงินกว่า 250 ล้านบาท ส่งบริษัทย่อยอย่าง บริษัท จี.เค.เฮมพ์ กรุ๊ป จำกัด (GKHG) เข้าถือหุ้น 50% ในบริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด (THCG) เพื่อดำเนินธุรกิจการปลูกกัญชากัญชงเพื่อการจำหน่าย รวมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกัญชากัญชง
ซึ่งทีเอชซีจี กรุ๊ป ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจกัญชากัญชง และมีโครงการที่มีใบอนุญาตและดำเนินการอยู่ ได้แก่ โครงการแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และโครงการหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ฉะนั้น การร่วมลงทุนในครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถเริ่มเดินเครื่องธุรกิจและรับรู้ส่วนแบ่งรายได้เข้ามาทันที และเป็นการเสริมความพร้อมให้กับธุรกิจใหม่ของบริษัทอีกด้วย
จากความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ รวมถึงมูลค่าทางการตลาดและความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจกัญชาและกัญชงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ที่น่าจับตามอง แต่ด้วยนโยบายของภาครัฐและตัวบทกฎหมายของประเทศ เราคงต้องดูกันต่อไปว่า ธุรกิจใหม่นี้จะเกิดได้แค่ไหน?