กระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเข้มข้น ค่ายรถยนต์ต่างทยอยส่งรถยนต์ไฟฟ้าหลากรุ่นหลายระดับราคาออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ที่รถยนต์ไฟฟ้าจากหลายค่ายต่างออกมาอวดโฉมกันอย่างคับคั่ง และถือเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงยานยนต์ที่น่าจับตา
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กำลังเป็นที่สนใจจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการประเมินกันว่าช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2563-2572 จะเป็นทศวรรษแห่งการปฏิวัติรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยังคาดการณ์ต่อไปว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาทดแทนรถที่ใช้น้ำมันหรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปีอีกด้วย ซึ่งประเด็นหลักที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่สนใจของทั่วโลกจนกลายเป็นเมกะเทรนด์อยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ดังที่มองกันว่ารถที่ใช้น้ำมันหรือรถ ICE เป็นตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและฝุ่น PM 2.5 ปัญหาที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่าการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนแทนการใช้น้ำมันหรือพลังงานอื่น ๆ นั้น จะเป็นการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและช่วยลดมลพิษทางอากาศได้
สำหรับประเทศไทยรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากค่ายรถยนต์ต่างทยอยส่งรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดกันอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นงานใหญ่ประจำปีของวงการยานยนต์อย่างมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่รถยนต์ไฟฟ้าจากหลายค่ายหลายระดับราคาต่างพาเหรดออกมาอวดโฉมแย่งชิงลูกค้ากันอย่างคึกคัก
ไม่ว่าจะเป็น Ora Good Cat รถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย GWM ที่สร้างกระแสด้วยรูปทรงและสีที่ถูกออกแบบมาได้อย่างน่ารักกลายเป็นที่จับตามองมาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก โดยเปิดตัวไปทั้งสิ้น 3 รุ่น ได้แก่ ORA Good Cat รุ่น 400 TECH, ORA Good Cat รุ่น 400 PRO และ ORA Good Cat รุ่น 500 ULTRA ราคาอยู่ที่ประมาณ 989,000 – 1,199,000 บาท
Pocco (พอคโค) รถยนต์ไฟฟ้า EV 100% จากประเทศจีน ที่บริษัท BRG เป็นผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกะทัดรัดและมีราคาถูกที่สุดภายในงาน ราคาอยู่ระหว่าง 399,000 – 469,000 บาท
ในขณะที่ค่ายรถหรูก็ไม่ยอมตกขบวน ขนทัพรถยนต์ไฟฟ้าสุดหรูออกสู่ตลาดเช่นกัน ทั้ง The new EQS 450+ AMG Premium รถยนต์ไฟฟ้า 100% คันแรกจากเมอร์เซเดส เบนซ์, BMW iX x Drive50 Sport รถยนต์ SUV พลังงานไฟฟ้ารุ่นเรือธงจากค่ายบีเอ็มดับเบิลยู, MINI Cooper SE รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของมินิ (MINI), Volvo XC40 Recharge Pure Electric ของวอลโว่ และ Porsche Taycan 4S Cross Turismo รถสปอร์ตไฟฟ้าเวอร์ชั่นออฟโรดจากปอร์เช่
โดยยอดจองรถภายในงานอยู่ที่ 31,583 คัน สำหรับรถยนต์ และยอดจองรถมอเตอร์ไซค์อีกกว่า 3,000 คัน สิ่งที่น่าสนใจคือ ในจำนวนยอดจองรถยนต์ 3 หมื่นกว่าคันนั้น พบว่า 25% เป็นรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนหรือร่วมขับเคลื่อน แบ่งเป็นกลุ่มรถไฮบริด 70% กลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด 17% และรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนเทรนด์ของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้มีการประเมินกันว่า ปี 2565 รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นกว่าเดิม
ในขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ได้ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 ไว้อยู่ที่ 7.65 แสนคัน ลดลง 3.3% จากปี 2563 โดยปัจจัยฉุดรั้งมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 และกำลังซื้อที่ชะลอตัว และคาดว่าในปี 2565 ยอดขายจะทยอยกลับมาสู่ระดับปกติที่ 8.7 แสนคัน ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
แม้ว่าภาพรวมรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์จะลดลง แต่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใน 10 เดือนแรกของปี 2564 กลับมียอดสะสมรวมกว่า 35,501 คัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถไฟฟ้าประเภทไฮบริด 95% และเป็นรถไฟฟ้าประเภทใช้แบตเตอรี่ BEV 5% ขยายตัว 40% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีการเติบโตอย่างมากในทุกภูมิภาค ชี้ให้เห็นถึงความต้องการรถยนต์ที่มีความทันสมัยและประหยัดพลังงานซึ่งมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อยู่จากตลาดกลางถึงบน
ไม่เพียงการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถต่างๆ เท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ความเคลื่อนไหวของบริษัทชั้นนำที่หันธุรกิจเข้าสู่สายพานของรถยนต์ไฟฟ้าก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ต้นปี 2564 บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จับมือกับ บีเอ็มดับเบิลยู เปิดตัวจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Shell Recharge จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากระแสตรงควิกชาร์จแห่งแรกสำหรับเชลล์ในไทยที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์บนถนนกาญจนาภิเษก เพื่อรองรับความต้องการการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ
ส่วนบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้ร่วมมือกับบริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด หรือ EVLOMO ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้าน EV Charging Solution สร้างเครือข่าย EV Station ในเขตอีอีซี รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั้งภาคขนส่งและภาคประชาชน ในโครงการพัฒนา EV City บ้านฉาง นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายเครือข่าย EV Station ให้ครอบคลุมเส้นทางหลักทั่วประเทศ
ในขณะที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมเบอร์ใหญ่ของประเทศก็ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท เอ็ม จี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในไทย ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “MG Super Charge” 5 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และจังหวัดสระบุรี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
และล่าสุดบริษัท อรุณ พลัส จำกัด บริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100% ที่ดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain โดยเฉพาะ ได้ผสานความร่วมมือกับบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด (Hozon) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสทางธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เช่น ให้บริการเช่าหรือจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวารุ่นแรกของแบรนด์ Neta V ที่ผลิตโดย Hozon รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทย พร้อมดันไทยสู่สังคม Low Carbon และการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตเต็มรูปแบบ
ซึ่งการที่บริษัทชั้นนำมุ่งพัฒนาและเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จรถไฟฟ้านั้น นอกจากเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพื่อสนับสนุนให้การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปอย่างราบรื่น ยังถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคถือเป็นปัจจัยกระตุ้นการผลิตที่สำคัญ แต่สิ่งที่จะหนุนนำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศเติบโตและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้ในอนาคตคือนโยบายจากภาครัฐ
นโยบาย 30@30 ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติประกาศออกมา เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการที่จะผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ในอนาคต
ประเด็นสำคัญของนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน และส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง
ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน รวมถึงส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี และมีมาตรการส่งเสริม ZEV ในด้านต่างๆ ได้แก่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุ และการส่งเสริมเทคโนโลยีสมาร์ตกริด รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งหลายๆ ฝ่ายมองว่านโยบายจากภาครัฐที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นข้อกังวลของผู้บริโภคคือความพร้อมของสถานีชาร์จไฟฟ้า ราคาขายและค่าบำรุงรักษาที่อาจจะมากกว่ารถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน และสมรรถนะในการขับขี่ทางไกลของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการของรัฐที่หลายฝ่ายมองว่ายังไม่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่เชื่อแน่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และนั่นน่าจะหาคำตอบให้กับข้อกังวลใจของผู้บริโภคได้ในที่สุด