วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เจาะไอเดีย Good Noodle ท่องอาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

เจาะไอเดีย Good Noodle ท่องอาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

อังกูร วงศ์กลธูต เป็นนักสร้างแบรนด์ของบริษัทชั้นนำ เป็นนักเขียนหนังสือยอดฮิต “แสนไลค์…คุณทำได้” ล่าสุด เขาตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ Good Noodle Bkk สร้างอาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีรสชาติโดดเด่นมากกว่า 300 รสชาติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มาแต่ละครั้ง จะได้ลองชิมรสชาติใหม่ๆ และเราได้เลือกให้คุณแล้ว” โดนใจกลุ่มลูกค้าแบบสะเทือนวงการชนิดไม่คาดฝัน

ที่สำคัญ เกิด Destination ดึงดูดผู้คน แม้กระทั่งเหล่าเซเลบอย่างป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม เพื่อเลือกสรรเมนูรสเด็ดที่มีให้เลือกตั้งแต่ซองละ 6 บาท ไปจนถึงหลักร้อยบาท

อังกูรเล่าถึงจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤตโควิดที่เปิดโอกาสทางธุรกิจและอยากสร้างโมเดลร้านอาหารที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่ร้านครัวซองต์ ร้านกาแฟ หรือคลาวด์คิทเช่น และจังหวะพอดีเพื่อนจากต่างประเทศส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เขามองกระป๋องบะหมี่สำเร็จรูปถ้วยนั้นอยู่นานและเกิดจุดประกายไอเดียขึ้นมาทันที

อังกูรจึงเริ่มทำรีเสิร์ชตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยตัวเอง 4 เดือนกว่า รวบรวมรสชาติต่างๆ ได้ถึง 300 กว่ารสชาติจากหลากหลายแบรนด์ ทั้งแบรนด์ในประเทศ แบรนด์เกิดใหม่ เช่น ผู้ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ ทำบะหมี่ขึ้นมาเอง แต่ไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างในท้องตลาด บางแบรนด์โด่งดังในโซเชียล แต่ขาดเงินทุนและการเจาะช่องทางเข้าร้านสะดวกซื้อหรือห้างค้าปลีก ซึ่งมีการเก็บค่าขึ้นชั้นสินค้า (Shelf) ราคาสูงลิบลิ่ว

ส่วนแบรนด์จากต่างประเทศมีหลายชาติ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวันและเวียดนาม

“เดิม ผมเป็นที่ปรึกษาแบรนด์มาก่อน ให้คิวเฮาส์, 3 เคแบตเตอรี่, ทรูคอร์ปอเรชั่น แบรนด์ดังๆ พอเกิดโควิดระบาดหนัก งานเริ่มน้อยลง และตอนนั้นเป็นอะไรที่ทุกคนมองธุรกิจอาหารทำในสิ่งที่เหมือนๆ กัน ซึ่งถ้าคิดแบบนี้เหมือนติดกับดักตัวเอง ต้องแข่งกับร้านที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ผมมองสวนออกมาว่า ต้องมีอะไรที่คนคิดไม่ถึง ผมผุดไอเดีย Good Noodle เปรียบเสมือน Portal หรือเว็บท่าที่แต่ละคนมีคอนเทนต์ของตัวเอง แบรนด์ต่างๆ มีคอนเทนต์และสร้างแบรนด์ได้ดีด้วย มีรสชาติของตัวเอง มีความหลากหลายของตัวเอง เราคิดว่า เราทำได้ ลองรวบรวมจาก Mind Map สร้างจุดดึงแต่ละแบรนด์เข้ามารวบรวมไว้”

ขณะเดียวกัน ห้างยูเนี่ยนมอลล์อยู่ระหว่างการหาจุดขายใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้า การเริ่มต้นโปรเจกต์ Noodle Portal จึงชัดเจนมากขึ้นและตัดสินใจเปิดร้านหลังทางการไฟเขียวให้ศูนย์การค้าเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2564

“เราเปิดร้าน 8 ตุลาคม 64 กระแสตอบรับดีมาก ตกใจมาก ไม่ได้คิดว่าจะดังเปรี้ยงปร้าง มีคนรีทวิเตอร์และยูทูบเบอร์มารีวิวหลายสิบคลิป ผมไม่ได้คาดฝันกระแสจะแรงมาก พื้นที่ร้าน 300 ตารางเมตร จากที่นั่งไม่กี่สิบที่นั่ง ตอนนี้ลามไปถึงฟู้ดคอร์ต รวมแล้วกว่า 300 ที่นั่ง ซึ่งห้างยูเนี่ยนมอลล์ช่วยเหลือด้านพื้นที่ฟู้ดคอร์ต ผมต้องขอโทษทำทราฟฟิกมาก แต่ไม่ได้คาดฝันจริงๆ”

สำหรับคอนเซ็ปต์ของ Good Noodle คือ มาแต่ละครั้งจะได้ลองชิมรสชาติใหม่ๆ และเราได้เลือกให้คุณแล้ว มีให้เลือกทั้งรูปแบบซื้อกลับบ้านและต้มกินในร้านได้ โดยจัดวางเครื่องต้มรวม 4 เครื่อง ให้บริการ 4 ขั้นตอน หลังตัดสินใจเลือกรสชาติได้แล้ว เริ่มจากฉีกซองใส่บะหมี่ลงถ้วยพร้อมทอปปิ้ง ซึ่งมีให้เลือกมากกว่า 30 ตัว เช่น ไข่ออนเซ็น ปูอัด กิมจิรสชาติเกาหลีต้นตำรับ ผักชีญี่ปุ่น

ขั้นตอนต่อมา สแกนบาร์โค้ดข้างชามกับเครื่องต้ม วางถ้วยบนตัวเครื่องและกดปุ่ม Start cooking เครื่องจะเติมน้ำร้อนและต้มตามเวลาที่ต้องการ สุดท้ายใส่เครื่องปรุงและใช้ตะเกียบคนให้ทั่วพร้อมรับประทานได้ทันที

“ราคาบะหมี่เริ่มต้นจากซองละ 6 บาท ไม่รวมทอปปิ้ง และแพงสุดขึ้นอยู่กับขนาด แบรนด์ อย่างบะหมี่ไต้หวันกับจีนร้อยกว่าขึ้น ราคาไม่ถูก แต่อร่อยจริง น้ำซุปเด็ดขาดมาก ชนะขาด เส้นทำได้ดีมาก ส่วนเส้นเกาหลีจะหนาๆ ต้องใช้อุณหภูมิต้มให้พอเหมาะ ไม่งั้นเส้นจะแข็ง หรืออาจเละไปเลย แต่ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากเกาหลีตามกระแสโลกออนไลน์ กระแสซีรีส์เกาหลีและลูกค้าคนไทยคุ้นเคยกับบะหมี่เกาหลีที่เข้ามาค่อนข้างเยอะ ซึ่งการเลือกเปิดในยูเนี่ยนมอลล์ส่วนหนึ่งมาจากการจัดคอนเสิร์ตวงดนตรีเกาหลีที่ผ่านๆ มาและเป็นแหล่งรวมคนมีกำลังซื้อจริง ไม่ใช่คนมาเดินเล่น แต่มาซื้อจริง”

แน่นอนว่า กระแสแรงอย่างนี้ย่อมต้องมีเสียงเรียกร้องเรื่องการขยายสาขามากขึ้น แต่อังกูรขอใช้เวลาปรับระบบต่างๆ ให้แข็งแรง เนื่องจากเปิดให้บริการหลังโควิดได้ไม่ถึง 3 เดือน

“คนถามเยอะมาก เมื่อไหร่จะขยายสาขา เมื่อไหร่จะทำแฟรนไชส์ ผมว่า ใจเย็นๆ ก่อน เราต้องเลือกสรรซัปพลายเออร์ เราอยากให้คนได้รับประทานสิ่งที่ดี ไม่อยากทำให้เป็นตลาดๆ ต้องมีจุดขาย ไม่ใช่แค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เคยรับประทาน แต่คุณได้เลือกทอปปิ้ง ชิม และซื้อกลับบ้านได้ รับประทานเป็นครอบครัวได้ มีประสบการณ์กับบะหมี่ที่หลากหลายมากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม เขาวางแผนเปิดสาขาที่ 2 รูปแบบร้าน Stand alone พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและอยากจัดพื้นที่โชว์จุดขายต่างๆ ให้ลูกค้าเช็กอินต่อยอดปลุกกระแสโซเชียลด้วย

“เริ่มต้นปีหน้าฟ้าใหม่ เมื่อสาขายูเนี่ยนมอลล์แข็งแรงแล้ว ระบบหลังร้านดีแล้วจะเริ่มขยายสาขาในประเทศและกำลังเจรจาดีลต่างประเทศหลายประเทศ อย่างเกาหลี รวมถึงสาขาแฟรนไชส์ ซึ่งขอเก็บข้อมูล สำรวจเทรนด์ต่างๆ เราอยากให้เกิดปรากฏการณ์คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาเที่ยวด้วย เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ”

ส่วนที่บางคนพูดถึง Good Noodle เหมือน The Instant Ramen Museum พิพิธภัณฑ์ราเมนของ Nissin นั้น อังกูรบอกว่า พิพิธภัณฑ์ราเมนของนิชชินเป็นแบรนด์เดียว ถ้าทำแบรนด์เดียวจะขาดความวาไรตี้ของสินค้า ไม่น่าสนใจสำหรับคนไทย และถ้าต้องผูกพันกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะเหมือนโดนสปอนเซอร์ไปแล้ว ติดกับดักตัวเองอีก

อังกูรทิ้งท้ายอีกว่า Good Noodle ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์การแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องรสชาติและทอปปิ้ง ชนิดที่วงการบะหมี่สั่นสะเทือนจนหลายคนประหลาดใจและพิสูจน์ให้เห็นว่า เขาสามารถก้าวข้ามกับดักได้แล้วขั้นหนึ่งและรอเติมเต็มกลยุทธ์ให้แข็งแรงมากขึ้นด้วย

ย้อนรอยบะหมี่ซองแรกของโลก

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดยนายโมโมฟุคุ อันโดะ นักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไต้หวัน ผู้ก่อตั้งบริษัท นิสชิน ฟูดส์ ในช่วงยุคสมัยที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารการกินขาดแคลนและรัฐบาลสั่งรณรงค์ให้ประชาชนหันมากินขนมปัง เพราะราคาถูก อิ่มและเก็บได้นาน แต่ดูเหมือนทุกคนไม่ได้ชื่นชอบเลย

โมโมฟุคุจึงคิดหาเมนูที่ชาวญี่ปุ่นรับประทานได้ในราคาถูกและอร่อย จนพบคำตอบ คือ ราเมน หรือบะหมี่ และตั้งเป้าหมายอยากให้ทุกคนได้กินราเมนอร่อยๆ ที่ไหนก็ได้ ทำกินเองได้ทุกที่

เขาพัฒนากระบวนการผลิตเส้นบะหมี่ด้วยวิธีทอดและอบแห้ง เพื่อถนอมอาหารกลับมารับประทานได้อีกครั้งเมื่อเติมน้ำร้อน จนกระทั่งเปิดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2501 ชื่อ “ชิกิ้น ราเมน” (Chikin Ramen-Chicken Ramen) เป็นราเมนแบบไม่มีเครื่องปรุงรสในซอง เพียงต้มเส้นในน้ำร้อนจะได้ราเมนรสซุปไก่พร้อมรับประทาน ภายใต้แบรนด์ Nissin ราคา 35 เยน และได้รับความนิยมมาก ชนิดที่ว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นเมื่อปี 2543 ระบุว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นสิ่งคิดค้นที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20

ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งในจีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อเมริกา วางจำหน่ายไปทั่วโลก

เคยมีข้อมูลระบุว่า ประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก คือ เกาหลีใต้ ขณะที่จีนเคยมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงถึง 46,000 ล้านห่อ คิดเป็น 44% ของทั่วโลก เฉลี่ยคนละ 32 ซองต่อปี แต่ยังเป็นอัตราส่วนต่อคนน้อยกว่าเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

ขณะที่ในไทยเริ่มรู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปครั้งแรกราวปี 2514 ยี่ห้อซันวา

ปีเดียวกัน บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นรายแรกของไทย ยี่ห้อ “ยำยำ” จากนั้น บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ส่งแบรนด์ “ไวไว” ในปี 2515 ตามด้วยบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัว “มาม่า” ในปี 2516 เจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นคำติดปาก (generic name) เรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนถึงปัจจุบัน

ใส่ความเห็น