วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > AMBALANGODA: เมืองหน้ากาก

AMBALANGODA: เมืองหน้ากาก

 
Column: AYUBOWAN
 
สังคมทุกวันนี้ ดูจะอยู่ยากขึ้นเป็นลำดับนะคะ แม้นว่าก่อนหน้านี้จะมีถ้อยความเปรียบเทียบประหนึ่งว่าโลกนี้เป็นโรงละครโรงใหญ่ที่ทุกสรรพชีวิตต่างมีบทบาทซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่ในสมัยปัจจุบัน นอกจากจะยอกย้อนอย่างยิ่งแล้ว สังคมมนุษย์ยังยั่วแยง ย้อนแย้งหนักหนาขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
 
ยังไม่นับรวมถึงหน้ากากคุณธรรมและความดี ที่หลายท่านพยายามใส่ทับหัวโขนให้ต้องลำบากตรากตรำทั้งศีรษะและใบหน้าอย่างน่าฉงน จนบางครั้งแอบนึกสงสัยไม่ได้ว่าเมื่อส่องกระจกเห็นเงาตัวเองแล้ว แต่ละท่านจะตะลึงในภาพเบื้องหน้าเหล่านั้นบ้างไหมและอย่างไร
 
เมื่อกล่าวถึงหน้ากาก ทำให้นึกถึงเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งของศรีลังกา ซึ่งขึ้นชื่อเรืองนามว่าเป็นถิ่นฐานที่ผลิตหน้ากากไม้และหุ่นกระบอก หนึ่งในศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนฐานคติและแนวความคิด ความเป็นไปของสังคมศรีลังกาในยุคที่ตกอยู่ใต้อาณัติของเจ้าอาณานิคมได้เป็นอย่างดี
 
Ambalangoda เมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกา ห่างจากโคลัมโบลงไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร คือเมืองที่ว่านี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทั้งพิพิธภัณฑ์หน้ากาก และสำนัก Maha Ambalangoda School of Kolam และ Nambimulla School of Kolam ซึ่งต่างเป็นสำนักที่ช่วยสืบทอดประเพณีการเต้นรำหน้ากากให้ยืนยาวมาจนปัจจุบัน
 
จากพื้นฐานที่ผูกพันอยู่กับวิถีความเชื่อว่าด้วยเรื่องภูตผี เหล่ามารร้าย โรคภัยไข้เจ็บและเทพผู้พิทักษ์แล้ว หน้ากากเหล่านี้ยังแนบแน่นกับการร้องเล่นเต้นรำ ที่เป็นไปเพื่อประกอบส่วนในพิธีสำคัญของราชสำนักและมีประวัติการณ์สืบย้อนไปในอดีตได้นานกว่า 4 ศตวรรษ หลังจากที่คณะนาฏศิลป์จากอินเดียใต้เดินทางเข้ามาในศรีลังกาในช่วงที่โปรตุเกสเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดนแถบนี้ และดูเหมือนว่า หน้ากากจะถูกสงวนไว้ให้กับราชสำนัก มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อประชาชนทั่วไป
 
แต่เมื่อสังคมอาณานิคมซึ่งทอดยาวต่อเนื่องท่ามกลางการเปลี่ยนมือระหว่างชาติตะวันตก ทั้งโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ ควบคู่กับความเสื่อมถอยลงของราชสำนักศรีลังกา การเต้นรำหน้ากาก (mask dance) จึงได้ขยายลงไปสู่การเป็นการละเล่นของชาวบ้านร้านถิ่นที่ส่อเสียด ประชดประชัน และตั้งคำถามกับสังคมอาณานิคมไปด้วยพร้อมกัน โดยเฉพาะ Kolam Dance ที่นำเรื่องราวจากตำนานพื้นบ้านของชาวสิงหลมาปรับแต่งให้เกิดเป็นมุขปาฐะในหมู่ชน
 
ความเสื่อมถอยของราชสำนักและการถูกครอบงำโดยเจ้าอาณานิคม เปิดโอกาสให้ Kolam Dance มีวัตถุดิบเหลือเฟือในการผูกแต่งเรื่องราวด้วยอารมณ์ที่เสียดเย้ย และท่วงทำนองที่หยามหยัน ซึ่งเป็นไปทั้งเพื่อความสนุกสนานแก่ผู้รับชม และเป็นการตั้งคำถามที่ยากจะตอบท่ามกลางห้วงเวลายากลำบากที่กำลังเผชิญ
 
ชีวิตของผู้รับใช้จากราชสำนักที่กำลังจะตกอับควบคู่กับอาณาจักรยิ่งใหญ่ที่กำลังจะล่มสลายได้รับการถ่ายทอด เพื่อให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความเป็นไปในสังคมศรีลังกา ขณะที่ชาวต่างชาติเจ้าอาณานิคมก็ได้รับการประเมินไม่แตกต่างจากมารร้ายที่เข้ามาเกาะกินจนก่อให้เกิดความป่วยไข้ให้กับสังคมศรีลังกา และควรจะต้องทำพิธีขับไล่ออกไปจากหมู่บ้านและสังคมของศรีลังกาในที่สุด
 
กิจกรรมที่ควบคู่กับการเต้นรำหน้ากาก ก็คือการผลิตหน้ากากและศิลปะการทำหน้ากาก และด้วยเหตุที่บริเวณเมือง Ambalangoda เป็นที่ลุ่มต่ำที่มีต้นแสลงใจ หรือ ตูมกาแดง (Strychnos Nux vomica) หรือที่คนศรีลังกาเรียก Kaduru ซึ่งเป็นไม้มวลเบาขึ้นอยู่หนาแน่น นี่จึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับศิลปหัตถกรรมนี้
 
วิถีที่วิวัฒน์ไปของหน้ากากแห่งเมือง Ambalangoda แม้จะรับการบันทึกว่ามีต้นทางมาจากอินเดียใต้ เมื่อช่วงศตวรรษที่ 16 ควบคู่กับการแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้โดยมหาอำนาจตะวันตก แต่ชาวศรีลังกาก็เติมแต่งและพัฒนาหน้ากากให้สอดรับกับคติความเชื่อและรากฐานทางวัฒนธรรม ศาสนา และมีลักษณะเฉพาะขึ้นมา
 
กระนั้นก็ดี ด้วยเหตุที่ศิลปหัตถกรรมและการเต้นรำหน้ากากเจริญอยู่อย่างจำกัดในหมู่ของครอบครัวตระกูลช่างและศิลปินที่กระจุกตัวอยู่ใน Ambalangoda และเขตติดต่อของเมืองที่อยู่ข้างเคียง จนเป็นเหตุให้กระทรวงกิจการวัฒนธรรมและศิลปะแห่งศรีลังกา เริ่มกังวลว่าศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดมาเนิ่นนานอาจจางหายไปกับกาลเวลา และพยายามส่งเสริมให้ศูนย์วัฒนธรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นกลไกในการสงวนและรักษาศิลปะนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นต่อไป
 
หากแต่สำหรับครอบครัวที่ผูกพันกับศิลปหัตถกรรมนี้ พวกเขาประเมินว่า การรังสรรค์งานศิลปหัตถกรรมหน้ากากนี้ ไม่ได้เป็นเพียงงานช่างที่เกี่ยวเนื่องอยู่เฉพาะค้อนและสิ่ว ในการแกะสลัก หากแต่เป็นความเข้าใจในบุคลิกลักษณะของตัวละครที่จะปรากฏเป็นหน้ากากด้วย
 
การแสดงออกทางสีหน้า แววตา และนัยแฝงของหน้ากากแต่ละชิ้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้แกะไม้หน้ากากนี้ ต้องศึกษา ทั้งในมิติของวิถีประเพณีและหลักปรัชญาที่ซ่อนอยู่เพื่อที่จะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นออกมาได้อย่างเหมาะสม
 
แต่ใช่ว่าหน้ากากแห่งเมือง Ambalangoda จะไม่มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมศรีลังกาเลยนะคะ เพราะนอกจาก Kolam Dance แล้ว ยังมี Sanni Yakuma ซึ่งเป็นการแสดงประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาดุลยภาพของร่างกายให้อยู่ในสุขภาวะที่ดี 
 
รวมถึงหน้ากาก Raksha ซึ่งนิยมนำมาประดับตกแต่งบ้านตามคติความเชื่อที่จะปกป้องขับไล่ความโชคร้าย (Naga Raksha: หน้ากากรูปงู) หรือนำพาสิ่งดีงามมาสู่ผู้ที่พักอยู่อาศัย (Gurulu Raksha: หน้ากากรูปนกยูง) ซึ่งนั่นทำให้หน้ากากแห่งเมือง Ambalangoda กลายเป็นของที่ระลึกและเป็นสัญลักษณ์อีกประการหนึ่งของศรีลังกาที่พร้อมจะขยายบริบทการรับรู้ไปสู่โลกภายนอก
 
และนั่นคงทำให้ลมหายใจของหน้ากากแห่ง Ambalangoda และครอบครัวของผู้รังสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่ดำเนินมากว่า 5-6 ชั่วอายุคนนี้ สามารถส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมนี้ให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของคนอีก 2-3 รุ่นต่อไปนะคะ