วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > CMO ขานรับนโยบายเปิดประเทศ เดินหน้าตามแผน เชื่อธุรกิจอีเวนต์ยังมีความหวัง

CMO ขานรับนโยบายเปิดประเทศ เดินหน้าตามแผน เชื่อธุรกิจอีเวนต์ยังมีความหวัง

“ซีเอ็มโอ” ประกาศเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ขานรับนโยบายเปิดประเทศพร้อมเพิ่มทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ เชื่อธุรกิจอีเวนต์ยังไม่หมดหวัง ผู้ประกอบการต่างปรับตัวเน้นจัดกิจกรรมผ่านออนไลน์ หวังอีเวนต์ปลายปีกลับมาคึกคักรับไฮซีซัน มั่นใจปีหน้ารายได้กลับมาแตะ 1,400 ล้านบาท

สถานกาณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 สร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อธุรกิจอีเวนต์และซัปพลายเชน อย่างโรงแรม ศูนย์ประชุม ตลอดจนซัปพลายเออร์ที่ให้บริการเช่าอุปกรณ์ต่างๆ การจัดงานรูปแบบเดิมหรือออนกราวด์ถูกระงับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง หรือหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อรอวันที่สถานการณ์คลี่คลาย

และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างก็หาทางปรับตัวเพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยปรับไปจัดงานในรูปแบบออนไลน์ หรือเวอร์ชวล อีเวนต์ (Virtual Event) แทน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นงานเปิดตัวสินค้า งานประชุม งานแฟชั่นโชว์ คอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งงานแฟนมีตติ้งระหว่างศิลปินและแฟนคลับ ซึ่งถึงแม้จะเป็นทางออกที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งรายได้และอรรถรสของงานคงไม่สามารถเทียบเท่ากับการจัดงานในรูปแบบเดิมได้

แต่จากนโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีผลในวันที่ 1 พ.ย. ตลอดจนมาตรการคลายล็อกดาวน์และการยกเลิกเคอร์ฟิว ประกอบกับช่วงปลายปีที่ถือเป็นไฮซีซันและเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้ธุรกิจอีเวนต์เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผู้ประกอบการต่างคาดหวังการปลดล็อกสำหรับธุรกิจอีเวนต์ให้สามารถกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO เปิดเผยว่า ก่อนการระบาดของโควิดธุรกิจอีเวนต์มีมูลค่าการตลาดหลักหมื่นล้านบาท หากสถานการณ์คลี่คลาย คาดการณ์ว่าปลายปีจะเห็นการฟื้นตัว และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเชื่อว่าปีหน้ามูลค่าตลาดจะกลับมาแตะระดับหมื่นล้านได้เช่นเดิม

ซีเอ็มโอถือเป็นหนึ่งผู้นำในตลาดอีเวนต์ แต่ผลกระทบจากโควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องประสบกับสภาวะ “ขาดทุน” ไม่ต่างกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยไตรมาส 2 ของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 114.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.30 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีรายได้ 37.55 ล้านบาท ยังขาดทุนอยู่ที่ 36.49 ล้านบาท แต่เป็นการขาดทุนที่ลดลง 42.17 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ถึงแม้จะเผชิญกับสภาวะขาดทุน แต่ซีเอ็มโอยังคงปรับตัวสู้กับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของกลยุทธ์การตลาดและการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในเพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ

ในส่วนของการตลาดมีการเปิดสตูดิโอสตรีมมิ่งสำหรับให้บริการงานอีเวนต์ออนไลน์ หรืองานเวอร์ชวลอีเวนต์โดยเฉพาะ จำนวน 3 สตูดิโอ ซึ่งปัจจุบันมียอดจัดงานมากกว่า 100 งานอยู่ในมือ จากลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีเอ็มโอยังกล่าวอีกว่า การจัดงานในรูปแบบออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคโควิด และเป็นเครื่องมือที่ช่วยนักการตลาดในการทำธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาปีกว่าที่เข้าสู่การจัดงานอีเวนต์แบบออนไลน์พบว่ามีความท้าทายสูง แต่ถึงกระนั้นก็ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับอีเวนต์ออแกไนเซอร์ทั้งหลายให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์

พร้อมทั้งยังได้เปิดเผยถึงเทรนด์การจัดงานแบบออนไลน์ที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยม อย่างเช่น งานปฐมนิเทศออนไลน์ สำหรับนักศึกษาใหม่ ที่มีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก, Virtual Town Hall Meeting การจัดงานประชุมภายในองค์กร พบปะระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงาน เพื่อประกาศนโยบาย ชี้แจงถึงสถานการณ์ของบริษัท หรือจะเป็นการฉลองความสำเร็จของบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานจะได้มีโอกาสเข้ามาพูดคุยใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มงานประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลาแห่งการเวิร์กฟอร์มโฮม และ IPO Virtual Event การจัดงานออนไลน์ให้กับบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับนักลงทุน เป็นต้น

ซึ่งการปรับตัวมาให้บริการสตูดิโอ ไลฟ์ สตรีมมิ่ง และออนไลน์อีเวนต์เช่นนี้ ทำให้ซีเอ็มโอยังคงสามารถสร้างรายได้ในยุคโควิดต่อไปได้ ประกอบกับการปรับโครงสร้างการทำงานที่ช่วยลดต้นทุน ทำให้แม้จะยังขาดทุน แต่ถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อน

พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าขยายธุรกิจเพื่อขานรับกับนโยบายการเปิดประเทศ ด้วยการต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีในงานอีเวนต์ และประกาศเพิ่มทุนเพื่อนำเงินที่ได้ไปพัฒนาธุรกิจและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กลับมาอยู่ที่ 1,400 ล้านบาทได้ในปี 2565

โดยแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้นั้นจะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอีเวนต์ทั้งรูปแบบปกติและออนไลน์อีเวนต์ สร้างงานเปิดเมืองเปิดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านเทศกาลและวัฒนธรรม เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการเปิดเมืองของไทย

นอกจากนี้ ยังแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติมและสร้างกิจการในเครือให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อขยายธุรกิจใหม่ๆ สู่การสร้างรายได้ประจำ และเตรียมพร้อมบุกตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งยังชูคอนเซ็ปต์ “Event-Tech Innovation” ในการดำเนินงานเชิงรุกด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้เม็ดเงินในการทำกิจกรรมมากขึ้นหลังการเปิดประเทศ

“ซีเอ็มโอมีความพร้อมที่จะลุยธุรกิจต่อเนื่องทันทีหลังเปิดประเทศ โดยแผนงานครั้งนี้จะเป็นการเติบโตก้าวกระโดดครั้งสำคัญของซีเอ็มโอที่จะมาช่วยฟื้นฟูกิจการสร้างรายได้และทำกำไร ทั้งนี้เพื่อให้แผนงานบรรลุเป้าหมาย บริษัทมีการเพิ่มทุน ตั้งเป้าหมายได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 638 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในกิจการและลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ ในส่วนทิศทางไตรมาส 4 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลาย บวกกับดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ ก็จะเห็นการฟื้นตัวในปี 65 รายได้กลับมาแตะ 1,400 ล้านบาท ผมเชื่อว่าธุรกิจอีเวนต์ยังไม่ตาย ถ้าไม่หยุดคิด ไม่หยุดสร้างสรรค์” เสริมคุณเปิดเผย

ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท 1,277.31 ล้านบาท จากเดิม 255.46 ล้านบาท เป็น 1,532.78 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,277.31 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) อัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 5 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 638.66 ล้านบาท

ในส่วนของภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์นั้นสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ประเมินว่า ก่อนโควิด-19 ธุรกิจอีเวนต์มีมูลค่าอยู่ที่ราว 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนการจัดงานต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 200 งาน แต่เมื่อโควิดระบาดและมีการล็อกดาวน์ทำให้รายได้ของธุรกิจอีเวนต์ในปี 2563 ลดลงราวๆ 50-60% ส่วนในปี 2564 ที่การแพร่ระบาดของโควิดโคม่ากว่าปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐมีมาตรการคุมเข้มมากขึ้น และคาดการณ์ว่ารายได้ของธุรกิจจะลดลงไปกว่า 70-80%

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งโดยปกติถือเป็นช่วงพีกของการจัดอีเวนต์นั้น ซีเอ็มโอคาดการณ์ว่าการจัดงานในรูปแบบเดิม หรือออนกราวน์ อีเวนต์ (On Ground Event) จะเริ่มกลับมาจัดได้อีกครั้ง โดยประเมินจากจำนวนคนที่ทยอยได้รับวัคซีนเข็ม 2 ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง และนโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถกลับมาจัดงานได้ตามปกติ แต่คงจะต้องจัดขึ้นภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันที่เข้มงวด

ซึ่งในช่วงไฮซีซันเช่นนี้ผู้ประกอบการเองต่างก็คาดหวังให้สามารถกลับมาจัดงานตามเดิมได้อีกครั้ง เพราะไม่เพียงเป็นการต่อลมหายใจให้กับธุรกิจอีเวนต์เท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างสีสันให้กับประเทศด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น