สัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดมีคุณลักษณะ คุณสมบัติแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความฉลาด น่ารักและมีเสน่ห์เฉพาะสายพันธุ์ ขณะที่มนุษย์มีเหตุผลในการเลี้ยงสัตว์แตกต่างกันไป บางคนใช้ความฉลาดของสัตว์เลี้ยงให้เป็นประโยชน์ บางคนเลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงา หรือบางคนที่รับเลี้ยงเพราะสงสารเมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกทอดทิ้ง แต่ทุกเหตุผลหลอมรวมเป็นบทสรุปสุดท้ายคือ “รัก”
แน่นอนว่า การเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะชนิดไหน ผู้เลี้ยงควรมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ ความเข้าใจในสายพันธุ์ที่เลี้ยง ความพร้อมด้านสถานที่ ได้รับความยินยอมจากคนในบ้าน ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ เงิน และเวลา
นั่นเพราะการเลี้ยงสัตว์แต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้เงินพอสมควร สำหรับค่าอาหาร ค่ายาวัคซีนประจำปี อุปกรณ์การเลี้ยง หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษา
บางคนอาจมองว่าการมีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเรื่องที่สร้างความลำบาก และแน่นอนว่าบางสายพันธุ์ บางประเภทอาจสร้างความปวดหัวให้แก่ผู้เลี้ยงในบางครั้ง แต่นั่นก็นำมาซึ่งการหัวเราะ ความสุขใจ ที่ลอยอบอวลกำจายอยู่ทุกอณูในบ้าน
คุณอาจเคยเห็นประโยคเหล่านี้ถูกแชร์อยู่บนโลกออนไลน์ “ถ้ามีภาวะซึมเศร้า ให้ลองเลี้ยงสัตว์ เราจะหายจากซึมเศร้า แต่เป็นโรคประสาทแทน” เป็นประโยคที่บอกเล่าประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์ได้อย่างชัดเจน ทว่าประโยคนี้มีนัยสำคัญมากกว่านั้น
เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน เลี้ยงไว้แก้เหงา สัตว์เลี้ยงยังเป็นนักบำบัดจิตใจได้ดี
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการบำบัดด้วยสัตว์เอาไว้อย่างน่าสนใจ “การบำบัดด้วยสัตว์” มาจากคำว่า “Animal Assisted Therapy” หรือ “Animal Therapy” คือการนำสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัดรักษาผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อความสามารถในการปรับตัว หรือช่วยเสริมสร้างทักษะต่างๆ ที่จำเป็น เป็นการบำบัดที่นำมาเสริมเข้ากับการรักษาวิธีการหลัก ซึ่งมีการนำมาใช้อยู่หลากหลายวัตถุประสงค์และหลากหลายรูปแบบ
สัตว์ที่นิยมนำมาใช้กันมาก ได้แก่ สุนัข แมว ม้า และโลมา เป็นต้น โดยต้องมีการคัดเลือกและฝึกฝนสัตว์มาเป็นอย่างดี พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยจำนวนมากที่ทำการศึกษาและวิจัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้สัตว์เลี้ยงช่วยในการบำบัดโรคซึมเศร้า มีรายงานการศึกษาของ E. Pul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวารสาร Current Gerontol Geratic Research ปี 2014 ในฐานข้อมูล NCBI ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuls โดยการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าและจิตเภท ด้วยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด
เป็นที่ทราบกันดีว่า สัตว์เลี้ยงเพื่อนสี่ขานั้น เพื่อช่วยภาวะสุขภาพจิตดี อาทิ ความเหงา ความโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม ฯลฯ ต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างดี แต่ไม่มีรายงานการศึกษาใดยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยบำบัดโรคได้มากน้อยเพียงใด การศึกษาจึงเป็นการศึกษาผลต่อพยาธิสภาพของเหล่าสัตว์เลี้ยงที่มีต่อความเจ็บป่วยของบุคคล อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเสี่ยงทางร่างกายของโรคจากสัตว์ก็ไม่ได้ถูกมองข้าม เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะมีคำเตือนให้การเลี้ยงและการบำบัดอยู่ภายใต้ขอบเขตเงื่อนไข ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีการศึกษาที่สมบูรณ์แบบมากนัก
ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยงที่มักนำมาใช้บำบัดโรค หรือเยียวยาจิตใจ ได้แก่ สุนัขและแมว ด้วยคุณลักษณะพิเศษที่สัตว์สองชนิดนี้มี คือความเป็นมิตรของสุนัข ขนอ่อนนุ่มชวนสัมผัส และเสียงเพอร์ของแมว
ความเป็นมิตรของสุนัขช่วยให้ผู้ป่วย หรือผู้เลี้ยงหลุดออกจากกรอบของความเครียด วิตกกังวล หรือการเก็บตัวได้ดี เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่ช่วยในการเปิดประตูสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้แก่ผู้เลี้ยง ธรรมชาติของสุนัขที่ชอบแสดงออกอย่างง่ายๆ เช่น การชวนเจ้าของเล่นชักเย่อสิ่งของ แสดงความตื่นเต้นดีใจเมื่อได้ออกไปนอกบ้าน สิ่งเหล่านั้นช่วยให้ผู้เลี้ยงรู้สึกผ่อนคลาย อัตราการเต้นของหัวใจดีขึ้น
เสียงเพอร์ (Purr) ของแมว เป็นเสียงที่แมวจะแสดงออกมาเมื่อรู้สึกพอใจ มีความสุข เมื่อได้รับความรัก หรือความเอาใจใส่จากทาส แน่นอนว่าความถี่ของเสียงเพอร์ 20-140 เฮิรตซ์ เป็นช่วงความถี่ที่สามารถบำบัดโรคในมนุษย์ได้เช่นกัน ทั้งการลดความเครียด ความดัน ช่วยให้ผู้เลี้ยงจิตใจสงบ
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างสัตว์เลี้ยงและคนเลี้ยงที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนคือ สุขภาพของผู้ที่เลี้ยงสัตว์จะมีสุขภาพดีกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ แน่นอนว่ารวมไปถึงสุขภาพใจด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่เลี้ยงสัตว์มักจะได้รับการบำบัดความเครียดจากเจ้าตัวป่วนที่บ้านอยู่เสมอ
ในด้านการบำบัดโรคด้วยสัตว์ นอกเหนือจากสุนัขและแมวแล้ว ยังมีสัตว์อื่นที่ทางการแพทย์นำมาเป็นสัตว์บำบัดได้ เช่น ม้า โลมา ช้าง ปลา กระนั้นในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านดูจะเป็นเรื่องยากสักหน่อย
บางคนเลือกสัตว์ชนิดอื่นที่มีขนาดเล็ก เช่น กระต่าย นก ปลาสวยงาม หรือสัตว์เอ็กซ์โซติก แม้จะไม่ได้มุ่งหวังให้สัตว์เลี้ยงมาบำบัดสภาพจิตใจ แต่การเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าชนิดใดด้วยความรักและความเข้าใจแล้ว สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นมักจะกลายเป็นนักบำบัดในที่สุด และคนเลี้ยงเองแทบไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังได้รับการบำบัดจากบรรดาเพื่อนรักสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น
หากจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อความขุ่นใจ กังวลใจ หรือความเครียด ที่เคยมีอยู่ก่อนหน้าได้หายไปแล้วนั่นเอง