วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > หวังวัคซีนหนุนจีดีพีโต ช่วยดึงเศรษฐกิจไทยพ้นวิกฤต

หวังวัคซีนหนุนจีดีพีโต ช่วยดึงเศรษฐกิจไทยพ้นวิกฤต

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2564 ดูจะเป็นปัจจัยเร่งที่ฉุดให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยทรุดหนักลงไปอีก โดยการคาดการณ์ของจีดีพีไทยในปี 2564 ล่าสุดได้รับการประเมินว่าจะอยู่ในระดับที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.8-1.6 ต่อปี หลังจากที่การระบาดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 5.8 แสนล้านบาท

ผลพวงของการระบาดระลอกใหม่ดังกล่าวทำให้กลไกรัฐคงระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรคยาวนานขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์ในประเทศได้รับผลทางลบค่อนข้างมาก โดยมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงถึง 4.0-5.8 แสนล้านบาท ซึ่งการระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน โดยสถานการณ์การระบาดในประเทศได้แพร่กระจายไปยังหลายคลัสเตอร์ทั่วประเทศ จนเป็นการยากที่จะควบคุมให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,000-3,000 คนต่อวัน

ข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ที่สัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.3 และกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่ ทำให้จำเป็นต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งย่อมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนที่การรณรงค์ระดมปูพรมฉีดวัคซีนจะเริ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความสับสนกังวลต่อปริมาณและการกระจายวัคซีนที่กลไกรัฐดำเนินการอยู่ว่าจะสามารถขยับสัดส่วนการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐกำหนดไว้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในทิศทางลบหนักหน่วงมากขึ้น เกิดขึ้นจากรูปแบบการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้ต้องคงระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรคให้ยาวนานขึ้น ขณะที่แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียในหลายประเทศ และการระบาดครั้งใหม่นี้ทำให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าเดิม

การคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วง 4 เดือนระหว่างเมษายนถึงกรกฎาคม คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะเสียหายประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.9 ต่อจีดีพี ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นหากยาวนานไปถึง 5 เดือนจนถึงเดือนสิงหาคม อุปสงค์ในประเทศอาจจะหายไปถึง 2.3 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.4 ของจีดีพี ก่อนที่สถานการณ์จะทยอยคลี่คลายได้อย่างช้า ๆ หลังจากที่สังคมไทยได้รับการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดยังได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค และส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานให้เปราะบางมากขึ้น ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอาจหายไปมากกว่า 1 ใน 3 ตามแผนการเดินทางและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่ต้องล่าช้าออกไป คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึงประมาณ 1.8 แสนล้านบาท และยังส่งผลให้ภาคบริการยังมีแนวโน้มซบเซาต่อไปอีก

อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หนุนมูลค่าการส่งออกโดยรวม โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวได้ตามคาด ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อมูลค่าส่งออกของไทย สะท้อนจากส่งออกไม่นับรวมทองคำในไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8.2 ขณะที่ประเด็นว่าด้วยการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าประเมินว่าได้ผ่านพ้นจุดวิกฤตไปแล้วจากการอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าเรือไทยได้ เช่นเดียวกับการหมุนเวียนตู้สินค้าในต่างประเทศที่มีทิศทางดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ซึ่งทำให้การส่งออกในปี 2564 จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 8.5 สูงขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.0

ปัจจัยสำคัญที่จะหนุนนำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งน่าจะอยู่ที่กลไกภาครัฐว่าจะสามารถเร่งการใช้จ่ายและลงทุนได้มากขึ้นผ่าน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยหลายฝ่ายคาดหวังมาตรการพยุงกำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อย ผ่านเงินโอนประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีคนรายได้ระดับกลาง-บนที่อาจไม่ได้รับผลกระทบต่อรายได้มากนัก แต่ไม่กล้าใช้เงินเพราะขาดความเชื่อมั่น ซึ่งอาจเห็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากคนกลุ่มนี้หลังประชาชนเริ่มทยอยได้รับวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างชัดเจน ผู้บริโภคจะคลายความกังวลมากขึ้นและมีความเชื่อมั่นในการเดินทางในประเทศและการซื้อสินค้าและบริการ แต่อาจเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน การส่งออกดูจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนนำเศรษฐกิจไทยให้กระเตื้องขึ้นหลังจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และจีนส่งผลให้การส่งออกไทยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าน่าจะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 16 ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเคมีภัณท์ กลุ่มผลิตภัณท์ยางพารา และกลุ่มอาหารแปรรูป โดยต้องเฝ้าระวังว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จะไม่ลามไปยังสหรัฐฯ และจีน เพราะจะเป็นผลลบต่อการส่งออกของไทย

ประเด็นว่าด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะขาดดุลสูง จากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เร่งตัวแรงตามการส่งออก ประกอบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำ อีกทั้งมีเงินโอนไปต่างประเทศมาก ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีน่าจะเกินดุลในระดับที่ต่ำมาก ผู้เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนควรระวังเงินบาทอาจอ่อนค่าไปมากกว่าระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงครึ่งหลังของปี ตามความกังวลของความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่ำ

ความคาดหวังสำคัญจึงอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรและฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามแผนปีนี้ และวัคซีนมีประสิทธิภาพในการรับมือการระบาดได้ เศรษฐกิจไทยก็จะเร่งตัว อย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 5.1 จากการบริโภคในประเทศที่เร่งตัวขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเร่งตัวแรงในปีหน้าเช่นกัน

ปัจจัยสำคัญในการประมาณการเศรษฐกิจไทยในช่วงนับจากนี้ จึงผูกพันอยู่กับแผนการกระจายฉีดวัคซีนและประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการติดเชื้อ ซึ่งจะบ่งชี้ว่ารัฐบาลจะสามารถผ่อนคลายมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อลดการระบาดในประเทศได้เร็วขึ้นกว่าไตรมาส 4 ได้หรือไม่ รวมถึงแผนการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้นเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวในประเทศมีความเป็นไปได้และประสบผลสำเร็จอย่างไร ควบคู่กับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐสามารถประคองกำลังซื้อและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและผู้บริโภคได้ในระดับใด

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่สัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ซึ่งพบว่าตัวเลขเศรษฐกิจติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้จะมีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน แต่พบว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขติดลบที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะติดลบมากกว่านี้ ดังที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 1 มีสัญญาณบวกของราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย และเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชนเป็นปัจจัยหนุนอีกแรงหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจของการขยายตัวของภาคเอกชนดังกล่าวอยู่ที่ แม้จะมีอัตราการขยายตัวไม่มาก แต่นับเป็นสัญญาณที่ดี โดยพบว่ามีการนำเข้าสินค้าทุนสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการลงทุนด้านเครื่องจักรต่างๆ ที่จะช่วยเสริมการผลิตของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 1 ของปีนี้ ซึ่งเติบโตมากกว่าในไตรมาส 1 ของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 80

ความคาดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นคืนกลับมาสู่ภาวะปกติ แม้จะดูเป็นเพียงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่การมาถึงของวัคซีนและการระดมปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสังคมไทยดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนนำให้ความเชื่อมั่นได้หวนคืนกลับมาอีกครั้ง

ใส่ความเห็น