แม้จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิตที่สร้างผลกำไรนิวไฮมาตลอดหลายปี แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 และลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทบัตรกรุงไทย หรือเคทีซี ต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมเร่งขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและเพดานดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง
การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ของเคทีซีได้รับผลกระทบ โดยเดือนเมษายน 2563 ยอดการใช้บัตรลดลงถึง 40% และกระทบในทุกเซกเมนต์ของธุรกิจ อีกทั้งมาตรการลดเพดานดอกเบี้ยทั้งธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ ยังส่งผลให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปี 2563 ลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทต้องปรับตัวขนานใหญ่
ซึ่งปีที่ผ่านมา เคทีซีปรับตัวโดยเน้นการพัฒนากระบวนการทำงานทั้งระบบ (End to End Process Improvement) ลดความซ้ำซ้อนและซับซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น และปรับ Business Model โดยเดินหน้าสินเชื่อมีหลักประกันอย่าง “เคทีซีพี่เบิ้ม” ที่ครอบคลุมทั้งทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นหลัก เพื่อสร้างรายได้ทดแทนส่วนอื่น
ทำให้ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2563 เคทีซียังคงสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 5,332 ล้านบาท (ในขณะที่ปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,524 ล้านบาท) ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี สินเชื่อรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ NPL รวมลดต่ำต่อเนื่องอยู่ที่ 1.8% แต่ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ปี 2564 ยังคงเป็นอีกปีแห่งความท้าทายที่เคทีซีต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เคทีซีวางไว้สำหรับปีนี้ คือการสร้างความแข็งแกร่งในพอร์ตลูกหนี้ทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อมีหลักประกัน เร่งขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อให้หลากหลายและครอบคลุม ทั้งเคทีซีพี่เบิ้มและลีสซิ่ง หลังการเข้าถือหุ้นใหญ่ในเคทีบี ลีสซิ่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยเน้นการสร้างกำไรแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน และมุ่งรักษาฐานสมาชิกเดิม โดยผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์
“วิกฤตที่รุนแรงของโควิด-19 และมาตรการต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง เป็นตัวกระตุ้นให้แผนยุทธศาสตร์ของเคทีซีในปี 2564 ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้เคทีซีเติบโตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจเดิม เน้นทำกำไรแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างคลื่นใต้น้ำจนเป็นพลังคลื่นลูกใหญ่รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinite Game) โดยมุ่งขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันที่หลากหลาย เพื่อให้เคทีซีเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดที่ผู้บริโภคมองหา ซึ่งการเข้าถือหุ้นในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ เคทีบี ลีสซิ่ง ถึง 75.05% จะทำให้เคทีซีสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างครบวงจร และยังได้ใช้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม โดยบริษัทฯ จะเข้าไปศึกษาระบบในเคทีบี ลีสซิ่ง และคาดว่าจะเริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจได้หลังจากผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น” นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี กล่าวถึงทิศทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2564
แน่นอนว่าในปีที่ผ่านมาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเคทีซีได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เคทีซีต้องเร่งหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่ออุดรอยรั่วและเสริมความแกร่งให้กับองค์กร อย่างสินเชื่อมีหลักประกัน ทั้งเคทีซีพี่เบิ้มและการเข้าถือหุ้นในเคทีบี ลีสซิ่ง เพื่อลดความความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและเพดานดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง
สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อย่าง “เคทีซี พี่เบิ้ม” นั้น แม้จะเป็นธุรกิจน้องใหม่ที่เริ่มดำเนินการมาเมื่อปลายปี 2563 แต่กระแสการตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดี อีกทั้งยังเหมาะกับสภาพปัจจุบัน เพราะความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนเร็ว ทำให้ในปีนี้เคทีซีมีแผนมุ่งขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยชูจุดแข็งของเคทีซีพี่เบิ้ม คือวงเงินใหญ่ อนุมัติเร็ว เอกสารไม่ยุ่งยาก เน้นทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมี “พี่เบิ้ม Delivery” เป็นทีมงานในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยตรงแทนการเปิดสาขา พร้อมขยายพื้นที่การให้บริการออกไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ มากขึ้น จากที่ผ่านมายึดพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก โดยจะเริ่มขยายไปยังภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนบนภายในไตรมาสสองของปี โดยวางเป้ายอดสินเชื่อไว้ที่ 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การเข้าถือหุ้นในบริษัท กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จำกัด หรือ “เคทีบี ลีสซิ่ง” ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือธนาคารกรุงไทย (KTB) จำนวน 75.05 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 75.05% ด้วยมูลค่าการลงทุน 594.396 ล้านบาท ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต สร้างโอกาสสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่ครบวงจร ทั้งสินเชื่อมีหลักประกันและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน
ทั้งนี้ เคทีบี ลีสซิ่ง เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งประเภทบริการเช่าซื้อ (Hire Purchase) และบริการเช่าแบบลีสซิ่ง (Financial Lease) ทั้งลีสซิ่งสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ประกอบการ เช่น รถบรรทุก รถขุด เครื่องจักร, ลีสซิ่งรถยนต์แบบดำเนินงาน หรือรถเช่าเพื่อประกอบกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กร, เช่าซื้อรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว สินเชื่อรถหมุนเงิน และการให้สินเชื่อกับสินค้าอุปโภคทุกชนิด ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอทีต่างๆ
นับเป็นดีลแห่งความหวังของเคทีซีในการต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันให้ครบวงจร อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม โดยคาดว่าจะเริ่มออกโมเดลธุรกิจได้หลังจากผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนธุรกิจเดิมทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลนั้น นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับปีนี้เคทีซียังคงมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดี เน้นรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติการและระบบไอทีที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้สมาชิกเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรมว่าจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
โดยกลยุทธ์ในการทำตลาดธุรกิจบัตรเครดิตยังคงใช้คะแนนสะสม KTC FOREVER ที่ถือเป็นจุดแข็งของบัตรเครดิตเคทีซีเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทางการตลาด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้จ่ายผ่านบัตร เน้นส่งเสริมการตลาดในลักษณะออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้บัตรของผู้บริโภคในปัจจุบัน ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายในปี 2564 เติบโต 8% หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจสินเชื่อบุคคลตั้งเป้ารักษายอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (ปี 2563 มียอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท) พร้อมวางตัวเป็นบัตรกดเงินสดใบแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยเน้นใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างความผูกพันกับฐานสมาชิกเดิม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนบริการต่างๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยจุดเด่น “รูด โอน กด ผ่อน” ภายในบัตรเดียว สามารถเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” และเพิ่มวงเงินฉุกเฉินได้เองตลอด 24 ชั่วโมง
ในแง่ของการขยายฐานสมาชิกทั้งบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดนั้น หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการอนุมัติบัตรที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ปีนี้เคทีซียังคงให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้สมัครอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยตั้งเป้าจำนวนสมาชิกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนสมาชิกบัตรเครดิตของปีที่แล้วอยู่ที่ 235,000 ใบ และบัตรกดเงินสดหรือ “เคทีซี พราว” 135,000 ราย
นอกจากนี้ เคทีซียังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและวิธีการดำเนินการในระบบการชำระเงิน “Payment System” ซึ่งคาดว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะนำมาเสริมธุรกิจหลักและสร้างโอกาสให้กับองค์กรในอนาคต อีกทั้งยังมีแผนออกหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะยาวในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2564
แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทยังต้องประเมินผลกระทบและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นหัวเรือใหญ่ของเคทีซีอย่างระเฑียรยังคงมั่นใจว่าจะสามารถนำพาองค์กรให้ก้าวผ่านปีแห่งความท้าทายไปได้และกลับมาสร้างนิวไฮได้อีกครั้ง