วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจโลกฟื้น แต่ไทยยังไร้สัญญาณบวก

เศรษฐกิจโลกฟื้น แต่ไทยยังไร้สัญญาณบวก

ความเป็นไปของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกและเป็นปัจจัยฉุดรั้งการจำเริญเติบโตทางสังคมเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง หากแต่การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 มาสู่ระดับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการอนุมัติและฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ในประเทศต่างๆ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้ช่วยเกื้อหนุนความหวังที่จะเห็นการยุติการแพร่ระบาดของโรคระบาดในอนาคตอันใกล้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศยังประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ที่ผ่านมามีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะหดตัวลดลงที่อัตราร้อยละ 3.5 ซึ่งดีกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคม ที่ IMF ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลดลงที่ระดับร้อยละ 4.4

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการคาดการณ์ไว้เดิมนี้ ในด้านหนึ่งเป็นผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกในภาพรวม แต่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ท่ามกลางการแพร่ระบาดรอบใหม่ และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกดำเนินไปท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 5.1 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 โดยได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาตรการภายใต้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผ่านการอนุมัติเห็นชอบของรัฐสภาก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีก

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1 และขยายตัวร้อยละ 5.6 ในปี 2565 ส่วนเศรษฐกิจของอินเดียคาดว่าจะขยายตัวมากถึงร้อยละ 11.5 ในปี 2564 นี้ จากเดิมที่คาดการณ์การเติบโตไว้ที่ระดับร้อยละ 8.8 ซึ่งสะท้อนภาพว่าระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เริ่มทยอยฟื้นตัวจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และจะเป็นการเริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบของวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่

ประเด็นที่น่าสังเกตจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 อยู่ที่การฟื้นตัวดังกล่าวจะมีภูมิภาคเอเชียเป็นผู้นำ โดยคาดว่า GDP ของเอเชียจะเติบโตสูงถึงร้อยละ 7.5 โดยเฉพาะประเทศจีนอาจเติบโตสูงถึงร้อยละ 8.1-8.2 จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของกิจกรรมการท่องเที่ยว และความต้องการในประเทศ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อภูมิภาคอาเซียน แต่การเติบโตดังกล่าวไม่ได้อนุมานว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นไปด้วยอัตราเร่งดังกล่าว

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยการขยายตัวร้อยละ 4.0 และขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2565 หลังจากที่เติบโตติดลบในระดับร้อยละ 6.5 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดังกล่าวนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมากหากเปรียบเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในระดับร้อยละ 7.5 และยังเป็นการเติบโตจากฐานของเศรษฐกิจที่ติดลบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก การท่องเที่ยวซบเซา และกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งทำให้รายได้ของประชาชนลดลง ส่งผลให้มีความยากลำบากในการดำรงชีวิตอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลที่น่าสนใจในปี 2563 คาดว่ามีคนไทยยากจนเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 5.2 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีคนยากจน 3.7 ล้านคน ตามเส้นแบ่งความยากจนที่กำหนดรายได้ไว้ที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 165–170 บาทต่อวัน หากแต่ข้อเท็จจริงจากโครงการแจกเงินคนจนตามมาตรการของรัฐ กลับพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีคนจนมากถึง 31.1 ล้านคน จากประชากร 68 ล้านคน หรือมีคนจนรวมอยู่ที่ร้อยละ 45 จากประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและอยู่ในภาวะที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะการบริโภคภาคเอกชนถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

แรงขับเคลื่อนหลักสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังมาจากภาคส่งออกเป็นสำคัญ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศว่าด้วยการบริโภค แม้ว่าจะขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวแบบเปราะบาง เพราะไม่ได้ขยายตัวจากทุกกลุ่มรายได้ โดยคนที่มีรายได้สูงจะเติบโตเร็วกว่า และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออก แต่ภาคบริการยังคงหนักและมีความเปราะบางสูง

การลงทุนภาคเอกชนอาจกลับมากระเตื้องขึ้นเป็นบวกได้เล็กน้อยจากที่ในปี 2563 อยู่ในระดับที่ติดลบถึงร้อยละ 10 โดยเริ่มเห็นกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลับเข้ามา ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยเริ่มกลับมาลงทุน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่เห็นสัญญาณการลงทุน เนื่องจากยังต้องจัดการกับการปรับโครงสร้างหนี้ และเก็บสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอ

ข้อมูลน่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งอยู่ที่ตัวเลขธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวน 6,013 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปี 2562 ที่มีจำนวน 5,666 ราย แต่หากเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มีจำนวน 2,457 ราย ต้องถือว่ามีการเลิกกิจการเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 145 ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกกิจการของปี 2563 มีจำนวน 20,920 ราย

ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการทั่วประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีช่วงทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาทมากถึง 14,488 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 69.01 ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีช่วงทุนจดทะเบียน 1-5 ล้านบาทขอเลิกกิจการรวม 5,434 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 25.98 ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการที่ขอเลิกกิจการจำนวนมากถึงร้อยละ 94.99 เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่สะท้อนภาพความเปราะบางของธุรกิจ SMEs ไทยได้อย่างชัดเจน

ภายใต้สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ ยังมีผลต่อการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้รายได้ถูกกระทบและมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้ลดลงและสูญเสียการจ้างงาน ตลาดแรงงานยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อเนื่องในปี 2564 โดยเฉพาะนโยบายเรื่องการชะลอเลิกจ้างงาน ประคองการจ้างงาน เพราะเป็นนโยบายที่ควรจะต้องทำเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

มาตรการที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการในห้วงเวลาจากนี้อยู่ที่การจัดโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อแรงงานกลับไปทำงาน สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำต่อเนื่องก็คือ ทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้และการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้าง ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลต้องเพิ่มการจ้างงาน ควบคู่กับการขยายการเกษียณอายุออกไป รวมทั้งการจัดให้มีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อยืดอายุการทำงานให้กับผู้สูงวัย และวางแผนโครงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน

นโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาว่าสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เผชิญหน้าอยู่ได้มากน้อยเพียงใดและจะนำพาประเทศสู่ทิศทางใดในอนาคต แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่สังคมไทยได้เห็นกลับเป็นเพียงนโยบายที่ออกมารองรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าด้วยการประคองกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตได้

ความเปราะบางของสังคมเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ จะหวังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งที่มาของรายได้สำคัญ จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกย่อมไม่เพียงพอ เพราะรากฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เป็นกำลังซื้อและเป็นพลังในการขับเคลื่อนการบริโภคสำคัญกำลังถูกบ่อนเซาะให้ผุพังและเสื่อมสลายอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตขึ้นของต้นไม้หลังผ่านฤดูแล้งกับการพอกพูนขึ้นของจอมปลวกย่อมไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ และบางทีนี่อาจเป็นมายาคติที่ยังครอบทัศนะของผู้มีอำนาจในสังคมไทยก็เป็นได้

ใส่ความเห็น