ในฐานะซีอีโอหนุ่มต้องดูแลอาณาจักรธุรกิจหลายหมื่นล้านของครอบครัว ชีวิตอีกมุมหนึ่งของ ยุทธชัย จรณะจิตต์ หลงใหลเสน่ห์อันหอมกรุ่นและรสชาติละเมียดละไมของเครื่องดื่มชา ชนิดที่ดื่มแทนน้ำได้ตลอดทั้งวัน และด้วยความชอบส่วนตัวบวกกับวัฒนธรรมการดื่มชาที่ขยายวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่องให้กับกลุ่มอิตัลไทยอย่างไม่คาดคิด
ย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้า ยุทธชัยตัดสินใจติดต่อขอทำสัญญาบริหารลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ชาหรูระดับโลก TWG Tea salon&Boutique ในประเทศไทย กับ เดอะ เวลเนส กรุ๊ป (The Wellness Group) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายชาระดับสากล มีความเชี่ยวชาญและเป็นต้นแบบของร้านบูติคชาค้าปลีก ร้านชาสุดหรู มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1837 เพราะถือเป็นสถาบันที่ก่อตั้งเพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเกาะสิงคโปร์ ตั้งแต่ยุคเริ่มมีการซื้อขายชากันอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน TWG มีสาขาร้านทีซาลอนมากกว่า 50 แห่ง ใน 15 ประเทศทั่วโลก ในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว ลอนดอน ดูไบ เซี่ยงไฮ้ โซล และกรุงเทพฯ
ล่าสุด กลุ่มบริษัทอิตัลไทยเปิดสาขารูปแบบทีซาลอน 3 แห่ง ที่ ดิ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน และสาขาน้องใหม่ในเอ็มควอเทียร์ ซึ่งเป็นโมเดลร้านขนาดใหญ่ 300 ตารางเมตร มีโซนให้บริการทั้ง Tea Salon ให้นั่งจิบชา โซน Boutique จำหน่ายชามากกว่า 500 ชนิด และโซนเคาน์เตอร์จำหน่ายขนม ส่วนสาขารูปแบบเคาน์เตอร์รีเทล 3 สาขา อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ เอ็มโพเรียม และเซ็นทรัล ชิดลม
ทั้งนี้ ตามแผนโรดแมพ 5 ปีของกลุ่มบริษัทอิตัลไทย เริ่มปี 2558-2562 ธุรกิจแฟรนไชส์ชาทีดับเบิลยูจี (TWG Tea Franchise) ตั้งเป้าหมายผลักดันยอดขายเติบโตขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเร่งขยายสาขาในทำเลระดับซูเปอร์พรีเมียม ทั้งทีซาลอน เคาน์เตอร์ค้าปลีก และการจับมือกับพันธมิตรค้าปลีก
ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทย กล่าวกับ “ผู้จัดการ360 ํ” ว่า ในอนาคตอันใกล้เคาน์เตอร์รีเทลจะเพิ่มบทบาทในการสร้างรายได้พร้อมๆ กับขยายธุรกิจโฮลเซลส์สู่ช่องทางร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ตหรูทั่วประเทศ รวมทั้งขายเข้าสู่โรงแรมในเครืออิตัลไทย มากกว่า 30 แห่ง ส่วนแผนการขยายไปสู่ต่างจังหวัดอาจจะได้เห็นแห่งแรกที่ภูเก็ตในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า
“ภาพรวมการแข่งขันในตลาดร้านชาพรีเมียมเริ่มดุเดือดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบรรดาแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่กำลังทยอยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ TWG Tea เปิดในไทยเข้าสู่ ปีที่ 3 เราเริ่มเห็นร้านในลักษณะ Tea Room เข้ามาเปิดมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะเริ่มมีธุรกิจลักษณะเดียวกับ TWG Tea เกิดขึ้นมากขึ้น แต่ข้อดีของ TWG Tea คือ เรากล้าที่จะเป็นคนแรกที่ทำ ตอนนี้เราโฟกัสไปที่สาขา 6 ดิเอ็มควอเทียร์ และหลังจากนั้นจะเน้นการเปิดในลักษณะของรีเทลเคาน์เตอร์มากขึ้น”
สำหรับเหตุผลข้อสำคัญของการรุกตลาด TWG Tea ดูเหมือนว่า ซีอีโอหนุ่มจะค้นพบคำตอบได้ทั้งจากไลฟ์สไตล์ส่วนตัวและกลุ่มเพื่อนฝูง โดยเฉพาะในสังคมที่มีกำลังซื้อสูงและนักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งนักการเมือง
ยุทธชัยกล่าวว่า ผู้คนจะนิยมวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นวงกว้างมากขึ้น เพราะชาเป็นเครื่องดื่มที่นำมาซึ่งความสงบ ผู้คนปัจจุบันโดยเฉพาะคนเมืองต้องการปลีกหนีความวุ่นวายและโหยหามุมสงบ หรือวิถีชีวิตแบบ Slow Life อยู่ตลอดเวลา การใช้เวลาช่วงสั้นๆ ในแต่ละวันมาดื่มด่ำกับชา จะเป็นช่วงเวลาเติมเต็มความรู้สึกนิ่งสงบกลางเมืองใหญ่ได้อย่างดี และจะไม่ใช่แค่การมาจิบชาเท่านั้น ผู้คนจะละเมียดละไมไปกับบรรยากาศภายในร้านอีกด้วย
“ส่วนตัวผม เป็นคนชอบดื่มชา ยิ่งเวลาเครียด ได้จิบชาคุณภาพดี จะช่วยผ่อนคลายได้ดี ผมชอบ TWG Tea ไม่ใช่แค่ตัวชาและดีไซน์ แต่ TWG บอกกับทุกคนว่าชาคือความสุนทรีย์ของชีวิตและไม่ได้มีให้คนเฉพาะกลุ่ม แต่ดื่มได้ทั้งคนอายุน้อยและอายุมาก แฟชั่นนิสต้า นักดื่ม คนที่ชื่นชอบอาหาร หรือคนทั่วไปที่อยากหาความสุข” ซีอีโอหนุ่มกล่าว
แน่นอนว่า ในแง่ธุรกิจและการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก “ชา” กลายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพอีกตัวหนึ่งและเป็นอีกทางเลือกนอกจากกาแฟ ขณะเดียวกันธุรกิจร้านกาแฟระดับพรีเมียมเริ่มอิ่มตัวมากขึ้นด้วย
ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของ TWG Tea โดยเฉพาะพฤติกรรมการดื่มชาของผู้บริโภคไทยที่มีความตื่นตัวเรื่องคุณภาพของใบชาและแหล่งที่มาของชามากขึ้น ต้องการรู้ถึงความแตกต่างระหว่างชาทั่วไปตามท้องตลาดและชากัวร์เมต์ หรือชาระดับซูเปอร์พรีเมียม ที่สำคัญ คือ ชา TWG กลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นในโรงแรมระดับห้าดาวในประเทศไทย ทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในช่วงจังหวะเดียวกัน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) สร้างปัจจัยบวกในการขยายธุรกิจในตลาดอาเซียน เนื่องจากการนำเข้าชาไปจำหน่ายในแต่ละประเทศด้วยอัตราภาษีในระดับใกล้ 0% ตามข้อกำหนดของเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) จากเดิมที่อัตราภาษีการนำเข้าชา และกาแฟสูงถึง 70-90% ทั้งบริษัทแม่ TWG และอิตัลไทยต่างได้รับผลประโยชน์เช่นกัน
หากดูผลประกอบการของ TWG Tea ประเทศไทย เมื่อปี 2557 จากจำนวนสาขาเพียง 5 แห่ง อยู่ที่ 170 ล้านบาท อัตราเติบโตสูงถึง 20% และยึดครองตำแหน่งผู้นำในตลาดชาระดับพรีเมียม
ปี 2558 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านบาท และเติบโต 100% ภายใน 5 ปี แต่เหนือสิ่งอื่นใด TWG Tea กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะทำให้โรดแมพของยุทธชัยบรรลุเป้าหมายได้ด้วย