วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > เคทีซีฝ่าวิกฤติโควิด-19 ดันกำไรสุดที่ 5,332 ล้านบาท ขานรับ ธปท. เตรียมขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

เคทีซีฝ่าวิกฤติโควิด-19 ดันกำไรสุดที่ 5,332 ล้านบาท ขานรับ ธปท. เตรียมขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

เคทีซีรายงานผลประกอบการปี 2563 ตามมาตรฐาน TFRS9 กำไรสุทธิเท่ากับ 5,332 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี สินเชื่อรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ NPL รวมลดต่ำต่อเนื่องอยู่ที่ 1.8% ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดวิกฤติโควิด-19 (Covid-19) ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เดินหน้าแผนปี 2564 สร้างความแข็งแกร่งในพอร์ตลูกหนี้คุณภาพทั้ง 3 ธุรกิจหลัก บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อทะเบียนรถ พร้อมตรึงฐานสมาชิกเดิมผูกพันกับเคทีซี ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และร่วมแบ่งเบาภาระเคียงข้างสมาชิก

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น รวมทั้งพอร์ตลูกหนี้ของเคทีซีสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้เกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศปรับลดเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ยในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ได้ส่งผลกระทบกับรายได้ของบริษัทเต็มไตรมาสสุดท้ายของปี บริษัทจึงปรับกลยุทธ์โดยให้ความสำคัญกับการคัดกรองลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลคุณภาพของสินทรัพย์ได้ดี รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่สอดรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อีกทั้งปรับกระบวนการทำงานในองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และบริหารต้นทุนทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงใช้มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงของลูกหนี้ให้เหมาะสม และการตัดหนี้สูญเพื่อให้พอร์ตลูกหนี้สะท้อนภาพความเป็นจริง โดยมีรายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ”

“เคทีซียังร่วมสนับสนุนมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ทั้งการปรับลดเพดานดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินให้กับลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคล การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวดหรือเงินต้น การลดค่างวด เป็นต้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีกลุ่มลูกหนี้สมัครเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างกับเคทีซีมียอดหนี้คงเหลือ 813 ล้านบาท (10,812 บัญชี) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งเคทีซีจะได้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวต่อไป”

“สำหรับแผนในปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด Covid-19 ที่ยังส่งผลต่อเนื่อง และเกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย บริษัทจะปรับแผนธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในพอร์ตลูกหนี้คุณภาพทั้ง 3 ธุรกิจหลัก โดยมุ่งรักษาพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพดีและผูกพันกับเคทีซี ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งแบ่งเบาภาระเคียงข้างสมาชิกทุกกลุ่ม โดยธุรกิจบัตรเครดิต จะร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เน้นส่งเสริมการตลาดที่เป็นออนไลน์มากขึ้นในทุกหมวดการใช้จ่ายซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อตอบรับกับความจำเป็นทุกความต้องการของสมาชิก ธุรกิจสินเชื่อบุคคล จะให้ความสำคัญกับการตอกย้ำทุกฟังก์ชันการใช้งานของบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ที่เพิ่มความสะดวกให้กับสมาชิกผู้ถือบัตรทั้งรูด โอน กด ผ่อนในบัตรเดียว ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เคทีซีจะมุ่งขยายตลาดในปีนี้เป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายเติบโตที่ 1,000 ล้านบาท เป็นฐานสนับสนุนการเติบโตในระยะต่อไป สำหรับแผนโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงิน “Payment System” อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลและวิธีการดำเนินการ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่มาเสริมธุรกิจหลัก และสร้างโอกาสให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว”

ผลประกอบการของเคทีซี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ภายใต้มาตรฐาน TFRS9 เปรียบเทียบกับปี 2562 มีดังนี้ กำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท (ปี 2562 เท่ากับ 5,524) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 90,149 ล้านบาท (เติบโต 4.3%) NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเท่ากับ 1.8% ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี (ใกล้เคียงปี 2562) แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,575,684 บัตร (เพิ่มขึ้น 2.6%) สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 60,235 ล้านบาท อัตราเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงที่ -7.7% หรือมีมูลค่ารวม 197,087 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิต 1.3% ธุรกิจสินเชื่อบุคคล (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) มีจำนวนทั้งสิ้น 814,329 บัญชี (ลดลง -8.3%) จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 2.7%

ในปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม22,056 ล้านบาท ลดลง -2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่เพิ่ม 5.7% และ 2.8% ตามลำดับ เป็นอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลง เพราะผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 และการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) มีอัตราที่ -11.0% จากรายได้ค่าธรรมเนียม Interchange Fee รายได้ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจร้านค้า (Acquiring Business) ที่ลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 15,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายการบริหารงาน 7,260 ล้านบาท ลดลง -6.0% จากรายการทางการค้าและกิจกรรมการตลาดที่ลดลง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 6,605 ล้านบาท (หนี้สูญ 4,920 ล้านบาท และหนี้สงสัยจะสูญ 1,685 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2.7% และต้นทุนทางการเงิน 1,534 ล้านบาทตามลำดับ โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) เท่ากับ 25.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 25.3% ในขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 32.9% ลดลงจาก 34.1% เนื่องจากลดกิจกรรมการตลาดด้านการจัดหาสมาชิกบัตรใหม่ และหันไปเน้นส่งเสริมการตลาดใช้จ่ายผ่านบัตรออนไลน์มากขึ้น

ใส่ความเห็น