วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยปีฉลู 2021 ความหวังที่เตรียมฉลองฉลุย?

เศรษฐกิจไทยปีฉลู 2021 ความหวังที่เตรียมฉลองฉลุย?

ความเป็นไปของสังคมเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2020 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ดูจะเป็นขวบปีแห่งความยากลำบากและเป็นปีแห่งการสูญเสียที่ทำให้ประเทศไทยต้อง ชวด โอกาสหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์และสถาบันวิจัยจำนวนมากต่างเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาถดถอยต่อเนื่องมานาน ได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วในช่วงปลายปี 2019 และมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นในปี 2020 แต่เหตุไม่คาดฝันว่าด้วยการอุบัติขึ้นของการแพร่ระบาด COVID-19 ในลักษณะ pandemic หรือการระบาดใหญ่ที่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกได้ฉุดให้สถานการณ์กลับตาลปัตร ผิดไปจากที่ผู้คนคาดหวังไว้

ประเด็นสำคัญซึ่งถือเป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจสังคมไทยก็คือ ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอกว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างมาก เห็นได้จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เทียบกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย IMF คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวลงร้อยละ 4.4 และจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ในปี 2021 พร้อมกับระบุว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่จะหดตัวลงร้อยละ 5.7 ในปี 2020 และจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2021 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า GDP ไทยจะปรับลดลงร้อยละ 7.8 ในปีนี้และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปีหน้า

กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยตกต่ำรุนแรงกว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ และยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ อย่างมากอีกด้วย ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการสูงถึงร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งแม้ประเทศไทยดูจะพึงพอใจอย่างมากที่ป้องกัน COVID-19 ได้ดี แต่ความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้เป็นผลดีกับเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร กลับกลายเป็นว่าประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากมายวันละเป็นหมื่นคนมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศไทยอย่างมาก

ภาวะการฟื้นตัวช้าในทางเศรษฐกิจของไทยส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามและเรียกร้องให้กลไกรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมกลับมาดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเรียกร้องให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ซึ่งหากติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อในประเทศ ที่นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของรัฐบาล และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง

แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 12 ของ GDP ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤต COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่นๆ มากในภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ หนึ่งในสัญญาณที่อาจสามารถสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้บ้าง อาจจะอยู่ที่แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเปรียบเทียบแล้วตลาดหุ้นไทยแทบไม่ฟื้นตัวเลยในขณะที่หุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับจุดก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แล้ว

การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเมินว่าจะมีการหดตัวลงมากถึงร้อยละ -9 ในปี 2020 และอาจกระเตื้องขึ้นเป็นปกติในปี 2021 ก็ได้รับการประเมินว่าจะเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 3.4 ในปีหน้าแม้ว่าฐานจะต่ำมากแล้วก็ตาม เกิดขึ้นจากปัจจัยหลักสำคัญและข้อเท็จจริงที่ว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยยังเกิดขึ้นจริงได้ยาก และสะท้อนให้เห็นถึงการที่เศรษฐกิจไทยในปีฉลูยังคงห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ระดับของกิจกรรมเศรษฐกิจก่อน COVID-19

สถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดในหลายพื้นที่ทั่วโลก และแนวคิดเกี่ยวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในไทยได้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ซึ่งทำให้ในปี 2020 นี้คาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้บางส่วนในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ในปี 2021 ประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงกว้าง เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านความสามารถในการกักตัวและติดตามนักท่องเที่ยว ประกอบกับพัฒนาการของวัคซีนที่มีแนวโน้มจะยังไม่สามารถใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ต้องเปลี่ยนการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2021 จาก 17 ล้านคน เหลือเพียง 6.4 ล้านคน โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2021 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ระดับ 40 ล้านคนอยู่มาก

แม้ว่าตัวเลขว่าด้วยการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง แต่กรณีดังกล่าวดูจะไม่ช่วยเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลงจะยังคงเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงชะลอตัว ประกอบกับเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลงมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของ COVID-19 ซึ่งยากที่เศรษฐกิจในประเทศจะกลับไปขยายตัวได้ในระดับสูงเหมือนในอดีต

สมมุติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปีฉลู 2021 จึงมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ในกรณีเลวร้ายที่ประเทศไทยอาจไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้เลยในช่วงปี 2021 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งการจ้างงานและการเลิกกิจการของบริษัทในวงกว้าง การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้เสีย ที่จะฉุดรั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศและเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจจะหดตัวลึกไปกว่าเดิม และอาจเติบโตได้ในระดับร้อยละ 0-1 เท่านั้น

ความคิดความเชื่อที่ว่าสถานการณ์เลวร้ายในปี 2020 น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น หากแต่ข้อเท็จจริงที่ท้าทายความเป็นไปของสังคมไทยในช่วงจากนี้อยู่ที่ฐานะการเงินของธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีความเสี่ยงในการเลิกกิจการ ขณะที่ธุรกิจหลายกลุ่มมีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลต่อเนื่องมาสู่การจ้างงาน จากความเสี่ยงในการเลิกกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่จะยิ่งสูงขึ้นหากสถานการณ์ดำเนินต่อไป ซึ่งจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นได้

ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งอีกด้วยผ่านการชะลอลงของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ที่ช่วยหนุนภาคธุรกิจและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมากำลังจะหมดลงอีกด้วย

ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่ทำให้หลายฝ่ายตั้งใจรอคอยอย่างจดจ่อที่จะนับถอยหลัง 5-4-3-2-1 เพื่อส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป บางทีการเตรียมตัวที่จะเริ่มนับไปข้างหน้า 1-2-3-4-5 เพื่อการก้าวเดินสู่ปีฉลู 2021 ด้วยบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองก็อาจมีนัยความหมายไม่น้อยเช่นกัน

ใส่ความเห็น