วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สตรีทฟู้ดบูม 3.4 แสนล้าน เซ็นกรุ๊ป งัด “เขียง” รถเข็นปูพรม

สตรีทฟู้ดบูม 3.4 แสนล้าน เซ็นกรุ๊ป งัด “เขียง” รถเข็นปูพรม

เชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” ประกาศรุกสงคราม Street Food ส่งโมเดลร้านรูปแบบใหม่ “รถเข็น” แบรนด์ “เขียง” หลังภาพรวมตลาดมีแนวโน้มเติบโตพุ่งพรวดหลายเท่า ทั้งความนิยม ไลฟ์สไตล์ของคนไทย และที่สำคัญ คือ ปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นการจับจ่าย “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลสามารถผลักดันยอดขายของร้านสตรีทฟูดริมทางเพิ่มขึ้นมากกว่า 30-50% ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจร้านอาหารริมทาง หรือ Street Food พลิกขยายตัวสวนพิษโควิด โดยกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารประมาณการปี 2564 จะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 340,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านๆ มามีมูลค่าตลาดราว 270,000 ล้านบาท จำนวนร้านค้ามากกว่า 103,000 ร้านทั่วประเทศ

เหตุผลสำคัญมาจากความได้เปรียบในแง่ความคล่องตัวของการเปิดร้าน ใช้พื้นที่ไม่มาก เงินลงทุนไม่สูง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่างปรับกลยุทธ์จุดขายหลากหลายรูปแบบ เช่น การประยุกต์เมนูอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า การจัดร้าน เน้นจุดขายทั้งในแง่ความเก่าแก่ ชูตำนานความอร่อย และเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี่มากขึ้น จนสามารถสร้างยอดขายไล่ตามกลุ่มฟาสต์ฟู้ดได้อย่างชัดเจน

ดูจากข้อมูลการสำรวจสถิติการสั่งอาหารออนไลน์ของคนไทย โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า อาหารสตรีทฟู้ดบางชนิด ได้แก่ อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยวและอาหารประเภทเส้น เป็นอาหารยอดนิยมอันดับ 2 และอันดับ 3 ในการสั่งเดลิเวอรี่ รองจากอาหารฟาสต์ฟู้ดในอันดับที่ 1 จนทำให้กลุ่มผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ หรือแม้แต่เครือข่ายร้านอาหารยักษ์ใหญ่ต้องดึงกลุ่มสตรีทฟู้ดเข้ามาเป็นจุดขายดึงดูดลูกค้ามากขึ้น

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจเปิดตัวแฟรนไชส์เขียงโมเดลใหม่ ‘รถเข็น’ ที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก หรือโลว์คอสต์โมเดล พื้นที่เริ่มต้น 30-40 ตารางเมตร หรือใช้อาคารพาณิชย์เพียง 1 ยูนิต ทำให้สามารถเข้าถึงทำเลที่มีศักยภาพ และกระจายสาขาได้แทบทุกพื้นที่ โดยคิดค่าลงทุนและค่าแฟรนไชส์ต่ำกว่าโมเดลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับผู้สนใจลงทุนประกอบการธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก

ยิ่งหากอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ ยิ่งมีโอกาสคืนทุนเร็ว ภายใน 1-2 ปี จึงถือเป็นเกม “วิน-วิน” ทั้งสองฝ่าย เนื่องจากบริษัทมีโอกาสขยายแฟรนไชส์รวดเร็วและเพิ่มจำนวนสาขามากขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกโมเดลร้านให้เหมาะกับทำเลพื้นที่ได้อย่างหลากหลายมากถึง 9 โมเดล

ไม่ว่าจะเป็นโมเดลสาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ โมเดลฟู้ดคอร์ท โมเดลในสถานีบริการน้ำมัน ในเทสโก้ โลตัส สถานีรถไฟฟ้า MRT อาคารพาณิชย์ โมเดลแบบสแตนด์อโลน โมเดลสาขาภายในห้างสรรพสินค้า และโมเดลล่าสุดรูปแบบรถเข็น

เบื้องต้น บริษัทวางแผนขยายสาขาเขียงในปี 2564 ประมาณ 100 สาขา ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบสแตนดาร์ด 40 สาขา และรูปแบบโลว์คอสต์อีก 60 สาขา เมื่อรวมกับปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการแล้วมากกว่า 80 สาขาและเปิดครบ 100 สาขาภายในสิ้นปี 2563 จะทำให้ร้านเขียงมีสาขาให้บริการมากที่สุดในเชนสตรีทฟู้ดของประเทศไทย

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการลงทุนในรูปแบบสแตนดาร์ด ขนาดพื้นที่ 40-50 ตารางเมตร ต้องใช้งบลงทุน 2-3 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า 600,000 บาท ค่าธรรมเนียมรอยัลตี้และมาร์เก็ตติ้งเดือนละ 15,000 บาท และเงินลงทุนอีก 1-2 ล้านบาท

ร้านดังกล่าวสามารถรองรับได้ 20-30 ที่นั่ง และคำนวณรายได้ยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาท ขึ้นกับทำเลและจังหวัดที่เปิดบริการ บางสาขาที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีสามารถสร้างยอดขายได้ถึงเดือนละ 600,000-800,000 บาท และหากตั้งอยู่ในทำเลที่ดีจะมีโอกาสคืนทุนภายใน 1-3 ปี

ส่วนร้านรถเข็นใช้งบลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท และมีโอกาสคืนทุนรวดเร็วกว่า ซึ่งล่าสุดมีผู้ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์หลายสิบร้าน หลังเปิดสาขาต้นแบบในตลาดเดินเล่นย่านท่าพระ ทั้งในกรุงเทพฯ และในภาคใต้ เช่น ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายจังหวัด

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า ในอาณาจักรเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ยังมีแบรนด์ร้านอาหารในเครืออีกหลายแบรนด์ แยกเป็นกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น ร้าน ZEN BOX ร้าน AKA ร้าน On the Table ร้าน Tokyo Café ร้าน DIN’S ร้าน Tetsu ร้าน Sushi Cyu & Carnival Yakiniku และกลุ่มร้านอาหารไทย ได้แก่ ร้านตำมั่ว ร้านลาวญวน ร้านแจ่วฮ้อน และร้านเขียง

แม้แผนยุทธศาสตร์หลักต้องการครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทั้งระดับบน กลาง จนถึงระดับแมส แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ผู้คนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายและเลือกบริโภคอาหารคุณภาพในราคาเหมาะสมทำให้ “เขียง” กลายเป็นแบรนด์ที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากเป็นแบรนด์เรือธงในกลุ่มร้านอาหารไทยตามสั่งแนวสตรีทฟู้ดหรืออาหารบริการแบบด่วนที่มีรสชาติถูกปากคนไทยในราคาเข้าถึงได้

ที่สำคัญ บริษัทตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยเหมือนร้านสะดวกซื้อของอาหารตามสั่ง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในวงกว้างมากที่สุด ทั้งกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน ครอบครัว นักเรียน นักศึกษา นักเดินทางที่ต้องการรับประทานอาหารแบบเร่งด่วน สบายๆ และมีจุดขายด้านคุณภาพ ความสะอาด นอกเหนือจากความอร่อย เช่น ข้าวผัดกะเพราหมูสับ ข้าวหมูกระเทียม ข้าวไข่ยู่ยี่ ข้าวผัดคะน้าหมูกรอบ ใช้ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก

นายบุญยงย้ำว่า บริษัทต้องการต่อยอดแบรนด์เขียงเพื่อเป็นโมเดลสร้างอาชีพแก่คนในท้องถิ่น เนื่องจากทิศทางตลาดสตรีทฟู้ดในปี 2564 ยังมีอัตราการเติบโต 5-6% และเป็นกลุ่มร้านอาหารที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทย ราคาจับต้องได้ สอดคล้องกับกำลังซื้อและสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับพฤติกรรมการสั่งอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ยังช่วยผลักดันตลาดเติบโตต่อไปได้ นอกจากนี้ บริษัทพยายามจัดโปรโมชั่นต่อเนื่องทุกเดือน

อย่างช่วงส่งท้ายปีตลอดเดือนธันวาคม จัดรายการลดราคาพิเศษ เช่น สั่งเมนูมาม่าผัด แถมฟรีชามะนาว ราคา 70 บาท จากราคาปกติ 95 บาท สั่งเมนูข้าวปลาหมึกผัดไข่เค็มและข้าวกะเพราไก่ชิ้น ราคา 165 บาท จากราคาปกติ 215 บาท รวมทั้งโปรโมชั่นร่วมกับแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ เช่น สั่งอาหารผ่าน GrabFood กับเซตคู่เมนูข้าวกะเพราเทพ และข้าวไก่กระเทียม ราคา 149 บาท จากราคาปกติ 200 บาท เซตคู่เมนูมาม่าผัดกะเพราไก่และมาม่าผัดซีอิ๊วไก่ ราคา 119 บาท จากราคาปกติ 150 บาท

หรือสั่งอาหารผ่าน LINE MAN เมนูข้าวกะเพราเทพหมู พิเศษ ซื้อ 1 แถม 1 ราคา 125 บาท จากราคาปกติ 250 บาท และโปรโมชั่นพิเศษเมื่อสั่งอาหารผ่าน Gojek เซตคู่ข้าวกะเพราเทพหมู และข้าวผัดพริกแกงไก่ ราคา 135 บาท จากราคาปกติ 195 บาท เซตคู่ข้าวกะเพราคลุกไก่ และมาม่าผัดซีอิ๊วไก่ ราคา 105 บาท จากราคาปกติ 150 บาท และเซตคู่ข้าวกะเพราดิบเถื่อน (เนื้อโคขุน) และข้าวกะเพราไก่ชิ้น ราคา 135 บาท จากราคาปกติ 225 บาท

คงต้องยอมรับว่า สตรีทฟู้ดได้กลายเป็นแนวรบใหม่ของกลุ่มเชนยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่แค่แม่ค้าธรรมดาๆ และที่สำคัญ สตรีทฟู้ดอยู่คู่กับเมืองไทยมาช้านาน นิยมกันแพร่หลาย และเป็นอาหารของผู้คนทุกมื้อ ตั้งแต่เช้าจนถึงดึกดื่น ทั้งมื้อหลัก มื้อรอง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และเป็นจุดขายของประเทศ กระทั่งสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา เคยจัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอาหารริมทางที่ดีที่สุดถึงขั้นสวรรค์ของนักชิมทั่วโลก

ทั้งหมดยิ่งทำให้ตลาดเซกเมนต์นี้มีโอกาสเติบโตและเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดคู่แข่งขันมากขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น