แม้ธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ากำลังอ่วมพิษการเมือง ทั้งการชุมนุมแฟลชม็อบตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และการปิดให้บริการชั่วคราวของรถไฟฟ้า ส่งผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปลายปี แต่ดูเหมือนว่าช่องทางออนไลน์กลับคึกคักสุดขีด โดยเฉพาะบรรดาแม่ค้า Facebook Live ที่เล่นกลยุทธ์อัดสินค้าจำนวนมากขึ้น ไลฟ์นานขึ้นและถี่ยิบทั้งกลางวันและกลางคืน
ถึงขั้นที่ว่า บางเพจที่มียอดผู้ชมจำนวนมากและกำลังไลฟ์สดในช่วงเวลาการนัดหมายชุมนุมตามจุดต่างๆ มีการแทรกข้อความโหนกระแสการเมือง “สนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย” ให้ผู้คนคลิกแชร์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เพื่อเพิ่มยอดแชร์ด้วย
ขณะเดียวกัน หากประเมินเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลาดการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มีอัตราเติบโตแบบพุ่งพรวด มีจำนวนผู้ค้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งกลุ่มแม่ค้าที่ต้องปิดหน้าร้านตามคำสั่งของทางการ กลุ่มคนตกงาน หรือแม้กระทั่งกลุ่มห้างสรรพสินค้าต่างหันมาเปิดเฟซบุ๊กไลฟ์ เพื่อสร้างยอดขายแบบเร่งด่วน
ตัวอย่างกรณีห้างสรรพสินค้าโรบินสันประกาศให้พนักงานจัดรายการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเพจของสาขาต่างๆ วันละ 3-6 รอบ รอบละประมาณ 1 ชั่วโมงทุกวัน มีการจัดรายการแนะนำ รีวิวสินค้า โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งซื้อพร้อมบริการส่งถึงบ้าน
ดังนั้น เมื่อรวมกับสถานการณ์การเมืองที่ทำให้ห้างค้าปลีกปิดให้บริการเร็วขึ้นและการเดินทางที่ไม่สะดวกทำให้นักช้อปส่วนใหญ่ต้องอยู่กับบ้าน ยิ่งเปิดโอกาสกระตุ้นให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวสูงมาก โดยข้อมูลจากบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา คาดการณ์ว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยจะหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 35% จากปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 163,300 ล้านบาท
ที่สำคัญ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีสัดส่วนเพียง 3% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ เทียบกับประเทศจีนมีสัดส่วนสูงถึง 25% เกาหลีใต้ 22% อังกฤษ 22% สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกหลายเท่าตัว และตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมบรรดาแม่ค้าออนไลน์นอกระบบที่เปิดเพจทำมาหากินอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจำนวนผู้ค้าออนไลน์รายย่อยที่ชัดเจน แต่ประเมินกันไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย ซึ่งกรมสรรพากรพยายามดึงกลุ่มค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์ขายสินค้า เข้ามาอยู่ในระบบ โดยในปีงบ 2562 สามารถดึงกลุ่มค้าออนไลน์นอกระบบเข้ามาเสียภาษีในระดับกว่า 1 แสนคน คิดเป็นเงินภาษีกว่า 1,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 1.7 แสนราย รายได้มากกว่าในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ถ้าเจาะเฉพาะกลุ่มผู้ค้ารายย่อย หรือ “แม่ค้าออนไลน์” สินค้าส่วนใหญ่เน้นราคาไม่สูง เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อง่าย เน้นจับกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกลุ่มผู้ค้าที่จะนำไปขายปลีกอีกทอดหนึ่ง เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ซึ่งแต่ละหมวดจะแยกย่อยกลุ่มต่างๆ เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา และหลายเพจเริ่มขยายฐานลูกค้าระดับพรีเมียม ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากเห็นเทรนด์ลูกค้ากำลังซื้อสูงเริ่มสนใจซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น กลุ่มเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง สินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง
เจ้าของเพจขายสินค้ารายหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มแม่ค้าไลฟ์สดเกิดขึ้นจำนวนมาก ยิ่งช่วงโควิดแพร่ระบาดมีการเปิดเพจเยอะมากและไลฟ์สดแข่งขันกัน ดัมป์ราคา ลดค่าส่ง หรือเหมาค่าส่ง ซึ่งช่วงเดือนตุลาคมที่มีการชุมนุมจนห้างหลายแห่งต้องปิดให้บริการเร็วขึ้นทำให้เพจต่างๆ ใช้ช่วงจังหวะนี้ไลฟ์สดดึงลูกค้าเข้ามาจับจ่าย เห็นชัดคือ จำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นมาก
สินค้ายอดนิยม คือ กระเป๋า เพราะเป็นของใช้ทั่วไปและเจาะกลุ่มผู้หญิง ซึ่งตัดสินใจซื้อง่ายและเบื่อง่าย อยากเปลี่ยนตามแฟชั่นหรือตามเสื้อผ้าที่สวมใส่และมีให้เลือกหลากหลายมาก ทั้งกระเป๋ามือสอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าจากเกาหลี ญี่ปุ่น คุณภาพยังดี ใช้งานได้ ส่วนใหญ่แม่ค้าจะไปคัดกระเป๋าเองก่อนนำมาขายจริงด้วย
หากเป็นสินค้าใหม่จะมีให้เลือกทั้งกระเป๋าแฟชั่น กระเป๋าผ้า กระเป๋าสตางค์ แบรนด์กระเป๋าส่วนใหญ่ของแต่ละเพจมาจากแหล่งเดียวกัน แต่แข่งเรื่องราคาและค่าขนส่ง
อย่างเพจ “แม่ดากระเป๋าสวยราคาถูก” ของฟารีดา มะหวีเอ็น ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญการไลฟ์ขายกระเป๋า ด้วยยอดผู้ชมร่วมหมื่น ผู้ติดตามเพจเกือบ 1 ล้าน และสามารถทำยอดขายถล่มทลาย จะมีการไลฟ์สดทั้งช่วงเช้าและกลางคืน 3-4 ทุ่ม จำนวนการขายต่อเซตไม่ต่ำกว่าหลักพันชิ้นและไม่พอกับความต้องการของลูกค้า เพราะลูกค้าต้องแข่งกัน CF (Confirm) และมีการประกาศรับสมัครพนักงานเพิ่มหลายตำแหน่ง เพื่อรองรับลูกค้าจำนวนมาก
เช่น ตําแหน่งตอบแชต วุฒิปริญญาตรีทุกสาขา สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี ทํางานกะดึกได้ ถ้าโสดจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เงินเดือนเริ่มต้น 13,000-18,000 บาท ไม่รวมโบนัส
ตําแหน่งแพ็กของ ไม่จํากัดวุฒิการศึกษา เพศหญิง อายุ 18-28 ปี เงินเดือนขึ้นกับจํานวนแพ็ก เริ่ม 9,000-25,000 บาท
ความร้อนแรงของช่องทางไลฟ์สดขายสินค้ายังดึงดูดให้ยักษ์ใหญ่ทีวีโฮมช้อปปิ้งอย่าง “ทีวีไดเร็ค”เร่งขยายฐานผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เช่นกัน
ธนะบุล มัทธุรนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD และนายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจทีวี โฮมช้อปปิ้งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2563) มีอัตราการเติบโตเกือบ 20% มูลค่าสูงถึง 14,000 ล้านบาท เติบโต 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดรวม 10,700 ล้านบาท เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยที่ปรับเปลี่ยนสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มทีวีโฮมช้อปปิ้งและแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น เพราะสะดวกสบาย สามารถชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ มีบริการจัดส่งสินค้าถึงปลายทาง รับประกันคืนสินค้า จากเดิมที่เคยชินกับการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่
“แม้ธุรกิจทีวีช้อปปิ้งมีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ ทั้งกลุ่ม Baby Boomer ที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 และกลุ่ม Gen X ที่เกิดในช่วงปี 2508-2522 ซึ่งยังมีพฤติกรรมรับชมทีวีเป็นสื่อหลัก แต่กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มเรียนรู้การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ จึงเป็นโอกาสและทางรอดของผู้ประกอบการต้องเชื่อมช่องทางออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกช่องทาง”
ล่าสุด กลุ่มทีวีโฮมช้อปปิ้งเริ่มทดลองช่องทางไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก โดยชูจุดขายโปรโมชั่นลดราคา และการถ่ายทอดสดวิดีโอสตรีมมิ่ง แชตโต้ตอบกับผู้ชม ซึ่งถือเป็นสีสันใหม่ๆ แม้ยังมีสัดส่วนยอดขายไม่มาก แต่โอกาสเติบโตสูงในระยะยาวและกลายเป็นแนวรบใหม่ที่ผู้ค้าปลีกทุกค่ายไม่มีไม่ได้แล้ว