วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ห้างลุ้นกำลังซื้ออีกเฮือก มึนม็อบดาวกระจายลาม

ห้างลุ้นกำลังซื้ออีกเฮือก มึนม็อบดาวกระจายลาม

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 ให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อผ่าทางตันของประเทศ แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นที่ยังต้องแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพิษการเมืองส่งผลเต็มๆ ต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของประชาชน ทั้งที่กลุ่มห้างค้าปลีกต่างคาดหวังการฟื้นรายได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสสุดท้าย หลังปัญหาโควิด-19 คลี่คลาย

ที่สำคัญ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร 2563 และแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม คือ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี 2. เปิดสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงสั่งปล่อยตัวและไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับกลุ่มผู้ถูกจับกุมอีก ล้วนเป็นการเรียกร้องที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยง่าย

เกมนี้จึงเหมือนหนังเรื่องยาว ต้องดูท่าทีของแต่ละฝ่าย แต่ต้องยอมรับว่าการงัดกลยุทธ์ม็อบดาวกระจายตามจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ สามารถกดดันรัฐบาลอย่างได้ผล เนื่องจากเลือกจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยประเดิมหมุดแรกย่านราชประสงค์ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ช้อปปิ้งสตรีท มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่

ไล่ไปตั้งแต่เซ็นทรัลเวิลด์ เกษรวิลเลจ สยามพารากอน อัมรินทร์พลาซ่า เอราวัณ แบงค็อก บิ๊กซี ราชดำริ เมอร์คิวรี่ ทาวเวอร์ เมอร์คิวรี่ วิลล์ ต่อเนื่องไปถึงเซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ไม่นับรวมโรงแรมหรูขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง

ในเวลาต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ยุทธวิธีนัดหมายล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมง เพื่อสกัดการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและระดมรวมมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแยกปทุมวัน ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งไม่ห่างจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกอโศก ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง และศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต

แม้บรรดาห้างร้านยังเปิดให้บริการได้ แต่ต้องสั่งปิดเร็วขึ้น เพื่อความปลอดภัยของกลุ่มลูกค้าและตัวศูนย์การค้าเอง เนื่องจากมีบทเรียนจากเหตุการณ์ชุมนุมหลายๆ ครั้งในอดีต ทำให้ชั่วโมงการให้บริการลดลงส่งผลโดยตรงต่อรายได้ยอดขาย

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวไปถึงครึ่งปีแรก บวกกับกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังคงอ่อนแรงต่อเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และภัยแล้ง ส่งผลให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวสูง จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปและการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ซบเซา โดยคาดการณ์ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 จะหดตัวอย่างน้อย 0.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น หรือเกิดการระบาดรอบ 2 อาจทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกหดตัวถึง 2.2% จากปีก่อน คิดเป็นเม็ดเงินค้าปลีกทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยหายไปประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท

แน่นอนว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งดูจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ย่อมสะท้อนภาพความหวั่นวิตกชัดเจนมากขึ้น

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การชุมนุม 5 ครั้งย้อนหลัง นับตั้งแต่ปี 2549-2557 กดดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงเฉลี่ย 11.19% โดยการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 SET Index ลดลง 6.75% การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเมื่อปี 2551 หุ้นไทยดิ่งหนัก 55.13% ขณะที่การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2552 หุ้นไทยปรับตัวขึ้น 2.32% การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้น 6.12% และการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ดัชนีหุ้นไทยติดลบ 2.51%

ขณะที่ บล. ทรีนีตี้ คาดว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสปรับตัวลดลงหลุดต่ำกว่า 1,200 จุด และกรณีเลวร้ายสุดคาดดัชนีฯ จะดิ่งลงมาอยู่ระดับ 1,150-1,170 จุด หากมีสถานการณ์รุนแรงหรือเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกรอบ

กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งมวลชนและสื่อนอกบ้าน เช่น BTS, BEM, VGI, PLANB เนื่องจากการชุมนุมแบบดาวกระจาย เน้นการจัดตั้งตามแนวสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ทำให้ต้องปิดให้บริการบางสถานีหรือทั้งระบบ เท่ากับลดทราฟฟิกของผู้โดยสารลงทันที

อีกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะผู้ที่ให้บริการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจต้องปิดการให้บริการก่อนกำหนดและลดการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ เช่น CRC, CPN, MBK

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายต่างหวั่นวิตกนั้น ภาคเอกชนซึ่งกำลังเร่งขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์และอัดแคมเปญทุกรูปแบบเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด อีกด้านหนึ่งต้องลุ้นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายของรัฐบาล โดยเฉพาะ 4 มาตรการหลัก เริ่มจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

โครงการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้

โครงการคนละครึ่ง ช่วยค่าใช้จ่ายของคนชั้นกลางและคนที่มีรายได้น้อย และโครงการช้อปดีมีคืน กระตุ้นกลุ่มชนชั้นกลางและคนมีรายได้สูงใช้จ่ายช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี โดยนำค่าสินค้าที่ซื้อกับร้านค้าร่วมโครงการมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อราย ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เชื่อมั่นว่าหากทุกโครงการได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนจะสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 2 แสนล้านบาท รวมทั้งประคองเศรษฐกิจช่วงปลายปีและเดินหน้าต่อในปี 2564

ดังนั้น 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้จึงไม่ใช่แค่เกมชี้ชะตารัฐบาล “ประยุทธ์” แต่ยังหมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนจะก้าวข้ามไปได้หรือไม่!!

ราชประสงค์ ราษฎร์ประสงค์

สี่แยกราชประสงค์ จุดตัดระหว่างถนนราชดำริกับถนนพระรามที่ 1 เป็นย่านศูนย์การค้า Shopping Street และสถานที่ประดิษฐานศาลเทพเจ้าต่างๆ มากถึง 8 ศาล ได้แก่ ศาลพระตรีมูรติและศาลพระพิฆเนศวรบริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ ศาลพระนารายณ์ทรงสุบรรณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ ศาลพระลักษมีและศาลท้าวจตุโลกบาล บริเวณเกษรวิลเลจ ศาลท้าวอัมรินทร์ทราธิราชเจ้า หน้าอัมรินทร์พลาซ่า ศาลพระนารายณ์ประทับยืนบนพญาอนันตนาคราช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลพระแม่อุมาเทวี ด้านบิ๊กซี ราชดำริ

ขณะเดียวกัน สี่แยกแห่งนี้ได้กลายเป็นหมุดหมายการเคลื่อนไหวสำคัญทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2553 เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนถึง 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนทำให้แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นเกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพฯ มีการยิงกระสุนปืน ยิงระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ในหลายพื้นที่

เหตุจลาจลครั้งนั้นส่งผลให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เกิดเพลิงไหม้นานหลายชั่วโมง อาคารฝั่งห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัว และต้องปิดซ่อมแซมพื้นที่เซนดีพาร์ทเมนต์สโตร์ทั้งหมด รวมถึงโรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ซินีมา และทีเคปาร์ก

ต่อมา ปี 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศจัดการชุมนุมหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ซึ่งสี่แยกราชประสงค์เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเช่นกัน เพื่อกดดันนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และล้างฐานอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

22 พฤษภาคม 2557 กปปส. สั่งยุติการชุมนุมเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง จากนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศยาวนานจนถึงปี 2562 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

17 สิงหาคม 2558 เกิดระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งทางการสันนิษฐานสาเหตุมาจากประเด็นการเมือง โดยจับผู้วางระเบิด คือ นายยูซูฟุ ไมรารี และนายอาเด็ม คาราดัก แต่ทั้งสองคนซัดทอดว่ามีคนไทยอยู่เบื้องหลัง คือ นายอ๊อด พยุงวงษ์ และนางสาววรรณา สวนสัน ซึ่งหนีออกนอกประเทศแล้ว

ผ่านไปกว่า 5 ปี ล่าสุด วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 คณะราษฎร 2563 จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ที่แยกราชประสงค์ มีการเรียกชื่อพื้นที่การชุมนุมเป็น “ราษฎร์ประสงค์” และเปิดกลยุทธ์ม็อบดาวกระจายทั่วพื้นที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร

ใส่ความเห็น