วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ภาวะเศรษฐกิจไทย เมื่อถึงคราวเครื่องยนต์ดับ!

ภาวะเศรษฐกิจไทย เมื่อถึงคราวเครื่องยนต์ดับ!

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นอกจากจะปราศจากสัญญาณเชิงบวกที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความหวังว่าด้วยการฟื้นตัวอย่างที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามแล้ว ดูเหมือนว่าผลกระทบว่าด้วยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ยังมีผลให้ภาคการผลิตของไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการจ้างงานในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

การส่งออกของไทยที่ตกต่ำลงจะอยู่ในภาวะติดลบต่อเนื่องในระดับร้อยละ 1.5-2.0 ส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวในการจ้างแรงงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่ง ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก

สัญญาณการจ้างงานที่ลดต่ำลง ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ไปสู่กระบวนการผลิตที่มีวิทยาการสูงขึ้น รวมถึงการใช้หุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาประกอบส่วน ซึ่งกรณีเช่นว่านี้กลายเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 อีกประมาณ 5.24 แสนคน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งในมิติของปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ เพราะจะทำให้สังคมไทยต้องแบกหนักและประสบปัญหาภาวะว่างงานสูงขึ้น ขณะที่กลไกรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการประคับประคองสถานการณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภคภายในก่อนที่จะทรุดหนักไปมากกว่านี้

ความหนักหน่วงของสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานสามารถประเมินได้จากสัญญาณจากมาตรการขึ้นต้นว่าด้วยการเริ่มไม่รับพนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตแทนตำแหน่งที่ว่าง การใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น ไปสู่การเลิกจ้างบริษัทภายนอกเกี่ยวกับแรงงาน การลดค่าล่วงเวลา การลดชั่วโมงการทำงาน ไปจนสู่การปิดไลน์การผลิต และการปิดสาขาหรือโรงงานการผลิตที่ไม่จำเป็น จนถึงการปลดออกแรงงานในที่สุด

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานไทยในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ที่แรงงานไทยในทุกภาคการผลิตมีอยู่ประมาณ 37.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 56.5 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทั้งการส่งออก การลงทุน การบริโภคลดลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตในปี 2562 ซึ่งกลายเป็นปัจจัยกดดันการจ้างงานปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2563 โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาสสองของปีหน้าอีกด้วย

ปัจจัยลบที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป นอกเหนือจากการเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้นแล้ว เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัว กำลังจะส่งผลให้เกิดการว่างงานอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยเหตุที่แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หากแต่แนวโน้มการปิดโรงงานและเลิกจ้าง โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่สูงขึ้นในระยะถัดจากนี้ กำลังจะเป็นอีกปัจจัยที่กดทับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยให้ดิ่งทรุดลงไปอย่างยากจะเลี่ยง

ความกังวลใจว่าด้วยการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกเลื่อนลอย หากแต่เป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา การส่งออกติดลบถึงร้อยละ 2.2 ซึ่งภาคเอกชนประเมินว่าสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปียังน่าเป็นห่วง เพราะแนวโน้มยังคงยืดเยื้อถึงปีหน้า และอาจทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบถึงร้อยละ 2-3 ซึ่งการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้โรงงานหลายแห่งมีการปรับลดเวลาการจ้างงานและลดคนงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าส่งออก ทั้งแผงวงจรไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวของโรงงานเมื่อคำสั่งซื้อลดลง

ข้อเสนอที่น่าสนใจภายใต้สถานการณ์การส่งออกที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้อยู่ที่การเสนอให้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจว่าด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออก จากระดับปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออกมากถึงร้อยละ 70 และการบริโภคภายในประเทศในระดับร้อยละ 30 ให้มาสู่ระดับร้อยละ 60-40 และเพิ่มเป็นร้อยละ 50-50 ในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยภายนอกและเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและความสามารถในการบริโภคภายใน ซึ่งจะเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจชาติในระยะถัดไป

ประเด็นว่าด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรม หรือสินค้าที่ผลิตในประเทศ และรณรณรงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการส่งออกนี้ ดูจะกลายเป็นข้อเสนอที่โดดเด่นมากขึ้นทุกขณะ หากแต่ในความเป็นจริงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องดำเนินไปท่ามกลางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเพิ่มจีดีพีจากฐานราก ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าให้มีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น

การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในห้วงยามที่ดูเหมือนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแต่ละหน่วยกำลังชะลอตัวหรือบางส่วนได้ดับสนิทไปแล้วเช่นนี้ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มลดต่ำลงไปอีก ทั้งจากผลกระทบของข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ขณะที่หนี้ครัวเรือนภายในประเทศกลายเป็นแรงกดดันกำลังซื้อภายในประเทศอย่างหนักหน่วง และทำให้ความหวังที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ดูจะริบหรี่ยิ่งขึ้นอีก

ความกังวลใจที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ประชาชนทั่วไปในลักษณะที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ความรู้สึกที่สัมผัสผ่านข้อเท็จจริงแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ในหมู่นักวิชาการและหน่วยงานด้านนโยบายใน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่กำกับดูแลความเป็นไปของเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้ผ่านมติเอกฉันท์ 7:0 ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ควบคู่กับการปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจจากระดับร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.8 ซึ่งสะท้อนภาพปัจจัยลบที่ปกคลุมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและพร้อมจะฉุดรั้งให้ทรุดต่ำลงไปกว่าที่เป็นอยู่

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของไทยในห้วงเวลาจากนี้นอกจากจะอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำลงแล้ว ความเปราะบางของเสถียรภาพของระบบการเงินยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ค่าเงินบาทที่พร้อมจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 อาจได้รับการกระตุ้นด้วยนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐผ่านมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ได้รับการโหมประโคมอย่างกว้างขวางแม้ว่าจะก่อให้เกิดผลในเชิงเศรษฐกิจอย่างจำกัด และประคองเศรษฐกิจในระยะสั้นจากการใช้จ่ายเท่านั้น ขณะที่การบริโภคยังขยายตัวอย่างจำกัดจากปัจจัยกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเท่านั้น

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย ในห้วงยามที่เครื่องยนต์กำลังดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาวะตกต่ำรอบด้าน ในขณะที่จักรกลทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าการส่งออก ท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจฐานรากดูจะชะลอตัวและกำลังจะดับลงจนยากที่จะกระตุ้นให้กลับมาโดยง่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจยืดเยื้อไปสู่ต้นปีหรือกลางปีหน้าด้วยนี้ กำลังท้าทายความสามารถของผู้นำรัฐนาวาว่าจะดำเนินมาตรการเพื่อจุดระเบิดและขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใด หรือทำได้เพียงการปล่อยให้เครื่องยนต์ดับและปล่อยให้ลอยลงจมดิ่งให้กลายเป็นเพียงซาก เพื่อรอการกอบกู้ครั้งใหม่เท่านั้น

ใส่ความเห็น