วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > มาแล้ว “โรบอทคาเฟ่” บาริสต้าหุ่นยนต์จะแรงแค่ไหน

มาแล้ว “โรบอทคาเฟ่” บาริสต้าหุ่นยนต์จะแรงแค่ไหน

การเผยโฉมหุ่นยนต์ชงกาแฟ Robosta café ของบริษัทคนไทย Brainworks โดยปักหมุดแรกในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน สร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมงานชนิดแน่นบูธ ที่สำคัญ บริษัทมีแผนเจรจาธุรกิจกับร้านกาแฟแบรนด์ดังที่เตรียมเปิดตัวแฟรนไชส์ Robot Barista ในปลายปีนี้ด้วย

แน่นอนว่า ในต่างประเทศ อย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี นำหุ่นยนต์บาริสต้ามาสร้างสีสันได้ระยะหนึ่งแล้ว จนเกิดกระแส 2 ด้าน

ด้านหนึ่งถือเป็นนวัตกรรมการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนความหวั่นวิตกเรื่องการแย่งงานของมนุษย์

ก่อนหน้านี้ อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ บริษัทด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจ เคยประเมินว่า งานในภาคการผลิตทั่วโลกสูงถึง 20 ล้านตำแหน่ง อาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในปี 2030 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า และหุ่นยนต์จะแย่งงานในภาพรวมถึง 800 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะภูมิภาคที่คนมีทักษะในการทำงานต่ำกว่า ซึ่งมีแนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าและมีอัตราการว่างงานสูงกว่าภูมิภาคอื่น จะเสี่ยงต่อการสูญเสียตำแหน่งงานให้แก่หุ่นยนต์มากกว่า

ที่สำคัญ ตำแหน่งงานในภาคบริการจะถูกหุ่นยนต์มาแทนที่มากขึ้นด้วย เช่น การขนส่ง การก่อสร้าง และล่าสุดเริ่มรุกคืบเจาะธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม

ชัชชัย ผลมูล กรรมการผู้จัดการบริษัท เบรนเวิร์คส์ จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2546 ทำธุรกิจหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมานานมากกว่า 10 ปี ผลิตหุ่นยนต์หยิบชิ้นงานในโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน แพ็กเกจจิ้ง โดยได้สิทธิ์เอ็กซ์คลูซีฟเอเยนต์หุ่นยนต์ มือหุ่นยนต์ จากต่างประเทศ และตัดสินใจขยาย Business Unit ใหม่ เรียกว่า Robomotion สร้างโปรเจกต์ Robosta café เปิดตัวในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 เป็นครั้งแรก

ตัว Robosta café ใช้หุ่นยนต์ มือหุ่นยนต์ ซึ่งนำเข้าจากประเทศจีน เครื่องทำน้ำแข็งจากประเทศญี่ปุ่น และเครื่องทำกาแฟจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันเขียนซอฟต์แวร์โดยคนไทย ซึ่งการขยายมาจับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพราะเป็น Pain Point เหมือนกันทุกธุรกิจ คือ เรื่องคน จากอดีต หุ่นยนต์ถูกใช้แทนมนุษย์ในงานอันตราย งานที่ต้องเสี่ยงกับความร้อนสูง หรือความเร็ว แต่ตอนนี้หลายๆ ธุรกิจเริ่มเจอปัญหาแรงงานขาดแคลนมากขึ้น

“อย่างจีนมีประชากรจำนวนมากแต่ไม่อยากทำอาชีพบริการ ต้องถามผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาอะไร ปัญหาใหญ่ คือ พนักงานเข้าออกตลอดเวลา ร้านหนึ่งมีพนักงาน 5 คน หายไป 3 คน อีก 2 คนจะตามไป เพราะคนเลือกงานมากขึ้น ไม่ใช่ไม่มีงานทำ แต่เกิดมาไม่ได้อยากทำอาชีพบริการ ซึ่งร้านกาแฟในปัจจุบันประสบปัญหามากและร้านที่เปิดจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นบาริสต้าลงทุนเปิดร้าน เขาทำคนเดียวได้ไม่มีปัญหา แต่เมื่อขยายร้าน เพิ่มสาขา มีลูกจ้างจะเริ่มประสบปัญหาเรื่องคนทันที”

ตรงนี้เองทำให้เบรนเวิร์คส์มั่นใจว่า บาริสต้าหุ่นยนต์เป็นโมเดลที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการและไม่ใช่เฉพาะปัญหาคน แต่ยังสร้างสีสันดึงดูดลูกค้า มาตรฐานการชงเครื่องดื่มทุกเมนู และสอดรับกับพฤติกรรมเว้นระยะห่างในยุคโควิดที่ยังหวั่นวิตกเรื่องการแพร่ระบาดรอบสองด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทสร้างโมเดลธุรกิจให้เลือก 3 รูปแบบ เพื่อรองรับขนาดธุรกิจและความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถกำหนดผ่านระบบซอฟต์แวร์และอัปเกรดเพิ่มเติม

โมเดลแรก ติดตั้ง 1 ยูนิตครบเซตใช้งบลงทุน 2.5 ล้านบาท โดยระบบซอฟต์แวร์กำหนดข้อมูลต่างๆ มีเมนูเครื่องดื่มร้อนและเย็น จำนวน 45 เมนู ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกสูตร หรือปรับเพิ่มเติมได้ ภายใต้การดูแลของบาริสต้าแชมป์ประเทศไทย สามารถสร้างซิกเนเจอร์เมนูของร้านได้

โมเดลที่ 2 ติดตั้งจำนวน 5 ยูนิตขึ้นไป งบลงทุนประมาณ 2 ล้านบาทต่อยูนิต โดยใช้พนักงานเพียง 1 คน ดูแลผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ถ้ามีร้าน 5 สาขาอยู่ใกล้กัน ในละแวกเดียวกัน โดยรอบการดูแลของพนักงาน คือ การเติมวัตถุดิบ เช่น กาแฟ นม รอบหนึ่งชงได้ 40-50 แก้ว และ 3 รอบต่อวัน รวมถึงการเช็กยอดขายและเมนูยอดนิยม

ส่วนโมเดลที่ 3 Custom เป็นรูปแบบที่รองรับความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น เพิ่มประเภทเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก เพิ่มกลุ่มอาหารอย่างไก่ทอด มันฝรั่งทอด เบเกอรี่ โดยใช้งบลงทุนเริ่มต้นประมาณ 3.5 ล้านบาท

ชัชชัยกล่าวว่า ถ้าลูกค้าซื้อเพียง 1 ยูนิต หรือหุ่นยนต์ 1 ตัว บริษัทกำหนดให้ใช้แบรนด์ Robosta café แต่อีก 2 โมเดลขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งล่าสุด มีผู้สนใจติดต่อมาในหลายรูปแบบ เช่น ติดต่อให้ไปวางจุดจำหน่าย ทำแฟรนไชส์ และมีร้านอาหารที่มีหุ่นยนต์ให้บริการ (Robot restaurant) เข้ามาเจรจาแล้วเช่นกัน

“เรามองตลาดกาแฟในระดับกลาง ราคา 80-110 บาทต่อแก้ว กลุ่มเซกเมนต์ไม่แรงเหมือนดาวสีเขียวแต่ไม่ดาวน์เหมือนนกแก้ว นกขุนทอง อยู่ตรงกลาง เราได้ไลฟ์สไตล์ ได้ความว้าว ได้การดึงดูดลูกค้า ถ้ามีธุรกิจอยู่แล้ว มีร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ สามารถติดตั้งได้เลย เพราะใช้พนักงานร่วมกัน สร้างจุดขาย สร้างความตื่นเต้น ซึ่งหลังจากนี้ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีผู้ติดต่อให้วางจุดจำหน่ายศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 กับแฟชั่นไอส์แลนด์ และน่าจะได้เห็นร้านกาแฟแบรนด์ดังนำไปติดตั้งเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปีนี้”

สำหรับการคืนทุนต่อยูนิต บริษัทคาดว่าใช้เวลา 1 ปีครึ่ง คิดจากยอดขาย 150-200 แก้วต่อวัน และเฉลี่ยเวลาการชงต่อแก้วไม่เกิน 2 นาที เช่น เมนูอเมริกาโนร้อนเฉลี่ย 1 นาทีครึ่ง เมนูเย็นแบบหวานสุดๆ ประมาณ 2 นาที

ดังนั้น ต้องยอมรับว่า หุ่นยนต์บาริสต้าเป็นจุดขายใหม่ที่สามารถกระตุ้นการเติบโตของตลาดกาแฟไทย โดยเฉพาะในช่วงโควิดแพร่ระบาด ซึ่งกลุ่มร้านอาหารและร้านกาแฟต่างปรับกลยุทธ์เน้นช่องทางออนไลน์ การจัดส่งตรงถึงผู้ซื้อ ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นกาแฟพร้อมดื่ม แนะนำให้ความรู้ สอนการปรุงกาแฟในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความต้องการแก่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องได้

ที่สำคัญ อัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เฉลี่ยเพียง 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือ 300 แก้วต่อคนต่อปี ต่ำกว่าคนในยุโรปบริโภค 4-5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือ 600 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่คนในประเทศญี่ปุ่นบริโภคกาแฟ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือ 400 แก้วต่อคนต่อปี สะท้อนว่าตลาดกาแฟสดในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้มาก จากภาพรวมตลาดกาแฟไทยในปัจจุบันมีมูลค่าแตะ 30,000 ล้านบาท

แต่ระหว่างบาริสต้าหุ่นยนต์กับคนชงกาแฟ ไลฟ์สไตล์ระหว่างโรบอทคาเฟ่กับร้านกาแฟแบบเดิมๆ คงต้องพิสูจน์กันว่า โมเดลไหนจะโดนใจเหล่าคอกาแฟได้มากกว่ากัน!!!.

 

THAILAND COFFEE FEST 2020
ปลุกคอฟฟี่ทรัค Zero Waste

ช่วงวันที่ 1-4 ตุลาคม 2563 สมาคมกาแฟพิเศษไทย (SPECIALTY COFFEE ASSOCIATION OF THAILAND) จับมือกับ THE CLOUD จัดงาน THAILAND COFFEE FEST 2020 ณ IMPACT EXHIBITION HALL 6-7 เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด Coffee wisdom แบ่งเป็นโซนเรียนรู้ (Learn) นำเสนอองค์ความรู้เรื่องกาแฟในรูปแบบแตกต่างกัน โซนการแลกเปลี่ยน (Trade) ทั้งความรู้ ประสบการณ์ สินค้าและบริการ โซนการแบ่งปัน (Share) การแบ่งปันภูมิปัญญา แบ่งปันให้สังคมและโลก

ทั้ง 3 องค์ความรู้เกี่ยวข้องกับการปลูกกาแฟอาราบิก้าทดแทนฝิ่นของประเทศไทย เป็นการปลูกกาแฟแบบผสมผสานที่ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศ การสร้างแรงบันดาลใจจากแนวพระราชดำริและต้นกาแฟพระราชทานจากพระมหากษัตริย์

ภายในงานนอกจากรวมร้านกาแฟและผู้ประกอบธุรกิจกว่า 200 ราย ยังมีการมอบรางวัลให้เหล่าเกษตรกรชาวสวนกาแฟที่ได้รับรางวัลจากการประมูลสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย ซึ่งปีนี้จัดในรูปแบบการประมูลออนไลน์ครั้งแรกและใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง มีผู้สนใจร่วมประมูลจำนวนมากและได้ราคาประมูลสูงถึงกิโลกรัมละ 27,210 บาท คิดรวมมูลค่า 1,006,770 บาท

ต่อพงศ์ ตันตราภรณ์ กรรมการฝ่ายกิจกรรม สมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวว่า กาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการต่อเนื่องทุกปีและร้านกาแฟเป็นโมเดลธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าให้ชุมชนชาวบ้านในถิ่นที่ปลูกกาแฟ ทั้งการพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือที่มีแหล่งปลูกกาแฟมากที่สุดของประเทศไทย มีไร่กาแฟของชาวบ้านหลายพื้นที่ พัฒนาเป็นโฮมสเตย์ ต่อยอดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และปัจจุบันประเทศไทยมีการซื้อขายเมล็ดกาแฟเฉลี่ย 40,000 ตันต่อปี มาจากการปลูกในประเทศ 16,000 ตันต่อปี เฉลี่ยราคา 170-350 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดกาแฟ

ที่สำคัญ ในงานได้นำเสนอคอนเซ็ปต์ Coffee Fest On The Road Coffee Truck โดยคัด 6 เมล็ดกาแฟพิเศษไทยจาก 4 เกษตรกร 4 แหล่งปลูก นำมาดริปและสร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟ แบบ Zero Waste ไม่มีการใช้บรรจุภัณฑ์ Single Use ทุกชนิด เพียงนำแก้วหรือกระบอกน้ำขนาด 200cc ขึ้นไป มาซื้อกาแฟ หรือนั่งดื่มหน้า Slow Bar รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายกาแฟมอบให้ Bamboo School Eco-Friend เด็กๆ ในชุมชนบ้องตี้ล่างด้วย

ใส่ความเห็น