ผู้ประกอบการภาคเอกชนเพิ่งผ่านช่วงเวลาวิกฤตที่สร้างบาดแผลสาหัสสากรรจ์ และอยู่ในช่วงกำลังพักฟื้นเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางความหวังอันริบหรี่ นั่นเพราะเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงตลาดต่างชาติอยู่ไม่น้อย แม้ภาครัฐจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม
และอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนคือ การผลัดเปลี่ยนตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจหลัก ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติและภาคเอกชนไทย เป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย ว่าภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะสรรหามือดีคนต่อไปจากไหนเข้ามารับตำแหน่งสำคัญนี้
กระทั่งการตอบตกลงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ นายปรีดี ดาวฉาย ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย คล้ายปลุกความหวังให้เกิดขึ้นอีกครั้งแก่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ภายในเวลาไม่ถึงเดือน ข่าวที่เรียกว่า “ช็อก” คนไทย ผู้ซึ่งกำลังกอบความหวังที่เคยร่วงหล่นไปกลับขึ้นมา นั่นคือ ข่าวการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี ดาวฉาย หลังจากเข้ารับตำแหน่งไม่ถึงเดือน
แม้กระทรวงการคลังจะไม่ใช่คีย์แมนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากความตั้งใจของเจ้าตัวนั้น คล้ายกับเป็นการบอกใบ้ว่า คนดีที่มีฝีมือที่เป็นเหมือนผู้จุดไฟแห่งความหวัง ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสถูกนำพาไปข้างหน้าภายใต้บุคคลที่มีความสามารถจริงๆ ไม่อาจนั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ ไม่ว่าเบื้องหลังจะมีเหตุผลใดๆ ก็ตาม โดยเจ้าตัวให้เหตุผลที่ตัดสินใจลาออกว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบรายวัน ทั้งทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทุกระดับชั้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้สร้างความมั่นคงหรือความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้เลย
นอกเหนือไปจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่ยังเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง ทว่าประเทศอื่นๆ ในโลกยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และสะสมอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญในระบบแรงงานไทยกลับมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นจนน่ากังวล เพราะการลักลอบเข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทยโดยอาศัยเส้นทางธรรมชาติ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งกวดขันกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อเข้ามาภายในประเทศไทยได้
ปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของนักลงทุนไทย ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ยังระวังการใช้จ่ายมากกว่าเดิม
ในช่วงเดือนสิงหาคมที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบางประเทศเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ที่พอจะคลายความกังวลลงได้บ้าง นั่นทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและภาคบริการ มีความหวังว่าไทยและอีกหลายประเทศอาจเปิดประเทศในลักษณะทราเวลบับเบิล เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจการท่องเที่ยวสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ กระนั้นแม้จะมีการพูดคุยกันไปถึงเรื่องหลักเกณฑ์ของนักท่องเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ทว่า จนถึงเวลานี้โครงการดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งทำให้ความหวังของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการยังต้องรอความหวังกันต่อไป และทำได้เพียงรอให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศและใช้จ่ายเงินสำหรับการท่องเที่ยวมากขึ้น
ความเปราะบางที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจสร้างความเสี่ยงสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ หากผู้ประกอบการจะพัฒนาและเปิดตัวโครงการใหม่ เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อตลาดที่อยู่อาศัยลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแต่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวตั้งอย่างเดียว แต่ที่อยู่อาศัยแนวราบก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แม้จะมีข่าวว่าตลาดที่อยู่ศัยแนวราบยังได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นั่นอาจเป็นเพียงกระแสข่าวที่ช่วยกระพือให้สถานการณ์ไม่ดูแย่ไปกว่าความเป็นจริง
โดยเฉพาะตลาดอสังหาฯ บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่เริ่มส่งสัญญาณขาลงตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ว่าการเปิดตัวโครงการใหม่จะลดลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และอัตราดูดซับกลุ่มบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด น่าจะลดเหลือ 0.9-1.2 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
ขณะที่ค้าปลีกในประเทศแม้จะฟื้นตัวได้ดีในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แต่สินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น สินค้าคงทน อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โอกาสการฟื้นตัวช้าเพราะผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อเสถียรภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังต้องรอความเป็นไปได้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะพัฒนาได้เร็วแค่ไหน รวมไปถึงผลการทดสอบว่าจะสามารถสร้างเกราะป้องกันเชื้อไวรัสได้ดีเพียงใด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยแตะระดับต่ำสุดเมื่อไตรมาส 2 ของปีนี้ จากมิติการหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าปีนี้จีดีพี -10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หากเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวแบบ U-Shaped ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงแรมและภัตตาคาร ยังน่าห่วง
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 มาที่ -10 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ -6 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่มองว่าความไม่แน่นอนดังกล่าวจะทำให้เห็นการฟื้นตัวในรูปแบบ U-Shaped ซึ่งการประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วเพียงใดนั้น กลายเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลไทยที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสโควิด-19 เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีแผนการใช้จ่ายรออยู่อีกมากในระยะข้างหน้า แต่ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน จึงยังไม่กังวลระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้
ส่วนด้านนโยบายการเงิน คาดว่า กนง. คงจะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายและเลือกติดตามสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะช่วงหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ฯ ในช่วงปลายไตรมาส 3
ด้านภาคการเงิน ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563 จะขยายตัว 6.5-8.0 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับที่ขยายตัว 2.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ซึ่งการเติบโตสูงกว่าปกติ สะท้อนผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและภาคธุรกิจที่ขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง มากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแท้จริง
โดยยังต้องติดตามประเด็นคุณภาพหนี้ที่ระดับเอ็นพีแอล คงจะขยับขึ้นเข้าหา 3.5 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปี 2563 เทียบกับ 3.23 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ขณะที่แม้ภาครัฐจะต้องระดมทุนอีกจำนวนมากในตลาดการเงิน แต่เชื่อว่าเครื่องมือของ ธปท. ที่มีอยู่จะช่วยบริหารจัดการไม่ให้กระทบอัตราดอกเบี้ยในระบบได้และปัจจุบันเงินฝากธนาคารพาณิชย์ก็เติบโตสูงราว 9-10 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน
นอกจากนี้ รัฐบาลคงจะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานไปในตัว หลังจากในช่วง 6-8 เดือนแรกได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องต่างๆ ราว 3.6 แสนล้านบาท
ส่วนแนวโน้มธุรกิจนั้น เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการมองว่า สถานการณ์รายได้ของธุรกิจ แม้จะมีบางพื้นที่ที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นบ้างตามนโยบายทยอยเปิดประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้ภาวะปกติ โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนกิจการที่มีความเปราะบาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งคงเป็นกลุ่มที่ทางการอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง
ไม่ผิดเลยที่ศูนย์วิจัยกสิกรจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นแบบ U-Shaped หากพิจารณาจากกำลังซื้อที่เกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ E-Commerce ที่โตสวนกระแสอย่างมาก การประเมินดังกล่าวคล้ายเป็นการให้ความหวังแก่ตัวเอง แม้ความหวังจะยังดูห่างไกลความเป็นจริงก็ตาม
แต่ต้องไม่ลืมว่า ปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ใช่แค่การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบที่จุดไฟเศรษฐกิจให้สว่างดังเช่นพลุไฟที่สว่างไสวอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ทว่าต้องเกิดจากความมีเสถียรภาพทั้งทางการเมืองในประเทศ เสถียรของเศรษฐกิจและการค้าโลก ที่จะสร้างให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อนักลงทุนและประชาชน ให้กล้าที่จับจ่ายหรือนำเงินฝากจากธนาคาออกมาหมุนใช้ในระบบ