ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ซีอีโอทั่วโลกให้ความสำคัญด้านพนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent) และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรเป็นอันดับต้น
ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ซีอีโอของบริษัทชั้นนำทั่วโลกมองว่าความเสี่ยงด้านพนักงานที่เป็นคนเก่ง (Talent) เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเติบโตขององค์กร และยังให้ความสำคัญไปที่การสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและทบทวนจุดมุ่งหมายขององค์กร โดยเคพีเอ็มจีได้ทำการสำรวจ 2 ครั้ง คือ ก่อนการระบาดของโควิด-19 ในเดือนมกราคม และอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นการวิจัยแรกที่สำรวจความเปลี่ยนแปลงของการจัดลำดับความสำคัญและความกังวลของซีอีโอก่อนและหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก
การสำรวจ 2020 KPMG CEO Outlook พบว่า เป้าหมายสำคัญของผู้นำได้เปลี่ยนไปอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance – ESG) การทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working) และการเปลี่ยนแปลงโดยนำดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) ได้ถูกเร่งรัดให้เกิดเร็วขึ้น ในเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ซีอีโอร้อยละ 32 มีความมั่นใจลดลงจากตอนต้นปี อย่างไรก็ตาม ซีอีโอยังคงคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตของประเทศตนเอง (ร้อยละ 45 มีความมั่นใจ) และมีความมั่นใจในความยืดหยุ่นขององค์กรตนเองในอีก 3 ปีข้างหน้า
บิลล์ โทมัส ประธานและซีอีโอ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ซีอีโอให้ความสำคัญอย่างมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าธุรกิจต่างต้องเร่งความเร็วในการรับมือกับความท้าทายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้นำธุรกิจทั่วโลกพยายามจัดการกับความไม่แน่นอนด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด วิกฤตนี้ได้เร่งกลยุทธ์ที่มีอยู่แล้วในด้านการเปลี่ยนแปลงโดยการนำดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) และความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายด้านอื่น ๆ การวางแผนสำหรับอนาคตนั้นยากกว่ามาก โดยเฉพาะวิธีการทำงานในอนาคตและการแก้ไขปัญหา จึงไม่น่าแปลกใจที่ซีอีโอให้ความสำคัญกับการจัดการ Talent เพื่อรักษาและขยายธุรกิจในอนาคต”
ผลการสำรวจที่สำคัญ
ความเสี่ยงด้าน Talent พุ่งขึ้น 11 ลำดับขั้น และเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจที่สำคัญที่สุด
ในเดือนมกราคม ซีอีโอได้จัดอันดับความเสี่ยงด้าน Talent ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าความเสี่ยงอื่น ๆ อีก 11 ประการที่ส่งผลต่อการเติบโต อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 Talent ถูกจัดเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อธุรกิจ โดยอยู่ในอันดับสูงกว่าความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อซีอีโอ
ซีอีโอที่เข้าร่วมการสำรวจจำนวน 4 ใน 10 คน (ร้อยละ 39) ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากไวรัสโควิด-19 ต่อตนเองหรือต่อบุคคลในครอบครัว ทำให้ร้อยละ 56 มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การตอบสนองต่อการระบาดของโรค ผู้บริหารระดับโลกยังได้รับผลกระทบทางการเงินด้วยเช่นกัน โดยประมาณ 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) กล่าวว่ามีการปรับค่าตอบแทนเนื่องจากวิกฤตโควิด-19
การเปลี่ยนแปลงโดยนำดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน
ซีอีโอมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์และคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลนั้นช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน คล่องตัว และมุ่งเน้นลูกค้ามากขึ้น ผู้นำส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงโดยนำดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) ขององค์กรตนมีความรวดเร็วขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการพัฒนาที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นดิจิทัล โดยซีอีโอร้อยละ 30 กล่าวว่ากระบวนการดังกล่าวทำให้องค์กรก้าวกระโดดไปข้างหน้าได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซีอีโอจำนวนสองในสาม (ร้อยละ 67) มีแนวโน้มที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยีมากกว่าในด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานกรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า “ซีอีโอในอาเซียนยังคงให้ความสำคัญในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับต้น ๆ โดยในบรรดาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น (Technology Disruptors) ซีอีโอในอาเซียนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีคลาวด์เป็นอย่างมาก โดยร้อยละ 79 ให้ความสำคัญในปริมาณมากหรือมากที่สุด (Significant or very significant) อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีอาจทำให้ความต้องการพนักงานลดน้อยลง ร้อยละ 80 ของซีอีโอในอาเซียนที่เข้าร่วมการสำรวจมองว่าเทคโนโลยีจะสร้างงานได้มากกว่าเข้ามาทดแทนตำแหน่งงาน (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 68) จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้กับพนักงาน”
การมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ขององค์กรและ ESG ที่เพิ่มขึ้น
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซีอีโอกล่าวว่าองค์กรของตนมีบทบาทมากขึ้นในสังคม ซีอีโอจำนวนสองในสาม (ร้อยละ 65) กล่าวว่า สังคมต้องการให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ของสังคมมากขึ้น และสามในสี่ (ร้อยละ 76) เห็นด้วยว่าในฐานะผู้นำ ซีอีโอมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้ผู้บริหารทั่วโลกให้ความสำคัญกับบทบาทของตนในสังคมและทำให้องค์กรถูกจับตามองมากขึ้นในแง่การดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง ซีอีโอรู้สึกว่าการพัฒนาดังกล่าวทำให้มีการทบทวนว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้นเป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคาดหวังหรือไม่ โดยซีอีโอร้อยละ 79 ยอมรับว่าต้องประเมินจุดมุ่งหมายขององค์กรอีกครั้งเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และซีอีโอส่วนดังกล่าว (ร้อยละ 79) กล่าวว่ามีความเข้าใจและเข้าถึงจุดประสงค์ขององค์กรมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้
การพัฒนานี้ทำให้ ESG อยู่ในวาระสำคัญลำดับต้น ๆ ของซีอีโอ และในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ เกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) ของผู้นำได้เปลี่ยนไปมุ่งเน้นองค์ประกอบทางสังคมของ ESG ถึงแม้ว่าจะมีการให้ความสนใจในประเด็นสังคมเพิ่มขึ้น แต่หลายภาคส่วนยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยซีอีโอกลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 65) ตระหนักดีว่าการจัดการความเสี่ยงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการรักษาตำแหน่งงานของพวกเขาไว้ในอีกห้าปีข้างหน้า
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ กล่าวว่า “เช่นเดียวกัน ซีอีโออาเซียนมองว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของแบรนด์คือ การมีวัตถุประสงค์ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับในสังคม (ร้อยละ 27) การได้รับความไว้วางใจจากคนรุ่นใหม่และพนักงาน (ร้อยละ 25) ปัจจัยด้าน ESG (ร้อยละ 17) และความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 12) โดยองค์กรไม่อาจมุ่งเน้นเพียงแค่ยอดขาย และผลกำไรได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสัมคมที่มีความกระตือรือร้นและมีบทบาทอย่างจริงใจในการมอบประโยชน์ให้สังคมเพื่อให้แบรนด์อยู่รอด เจริญเติบโต และได้รับความไว้วางใจ”
บิลล์ โทมัส กล่าวสรุปว่า “วิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนนิยามการเป็นผู้นำธุรกิจที่ดีและคุณสมบัติที่ซีอีโอควรมี ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของซีอีโอที่น้อยคนจะคาดการณ์มาก่อนได้ การมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมยังคงมีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบทางสังคมเป็นวาระที่มีความสำคัญสูงกว่ามากในสภาวะปัจจุบัน ซีอีโอมีการเข้าถึงและเข้าใจวัตถุประสงค์ขององค์กรมากขึ้นและใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจทางธุรกิจในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้”