การปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ ในช่วงที่ผ่านมาได้จุดประกายของการตั้งคำถามในบริบทว่าด้วยความต่อเนื่องและทิศทางของนโยบายที่กำลังจะมุ่งไปนับจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของอนาคตและความเป็นไปในการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่เป็นประหนึ่งผลงานน่าพึงใจที่รัฐบาลประยุทธ์พยายามโหมประโคมในฐานะโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลักตลอดระยะเวลาของการบริหารรัฐนาวามายาวนานกว่า 6 ปี
การพ้นออกจากตำแหน่งไปของรัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมผลักดันและโหมโฆษณาโครงการพัฒนา EEC ในช่วงก่อนหน้านี้และแทนที่ด้วยรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบชุดใหม่ทำให้หลายฝ่ายเพ่งมองไปที่แนวทางการพัฒนาและนโยบายที่จะเกิดมีขึ้นว่าจะมีความชัดเจนและรูปธรรมอย่างไร
ความกังวลใจของนักลงทุนต่างชาติในมิติของความชัดเจนและแนวทางการพัฒนา EEC ในห้วงเวลานับจากนี้ในด้านหนึ่งสะท้อนความเปราะบางของแผนพัฒนา EEC ที่ดำเนินอยู่ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินมานานมากกว่า 5-6 ปี หากแต่โครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการพัฒนาในพื้นที่กลับดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและในหลายกรณีขาดการบูรณาการที่มีเอกภาพอีกด้วย
การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในด้านหนึ่งเป็นเพียงการเปลี่ยนหัวรถจักรในการขับเคลื่อนพัฒนาการของ สกพอ. หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ก็คือ สกพอ. มีกรอบกำหนดเป็นประหนึ่งรางให้เคลื่อนไปในทิศทางที่วางไว้ก่อนแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่ารัฐมนตรีที่เข้ามารับผิดชอบครั้งใหม่นี้จะมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการเร่งความเร็วหรือกำหนดทิศทางใหม่ของการพัฒนา EEC ไปในรูปแบบใด โดยไม่ทำให้การพัฒนา EEC ต้องสะดุดหรือตกรางไปในที่สุด
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาในด้านหนึ่งคือการแสวงหาช่องทางของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เพื่อเข้าพบและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อสอบถามถึงนโยบายเศรษฐกิจและแผนพัฒนา EEC ที่จะมีขึ้นนับจากนี้
แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใน EEC จะเดินหน้าต่อเนื่องเพราะมี พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มารองรับอยู่แล้ว และขณะนี้หลายโครงการก็คืบหน้าไปมากทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แต่ประเด็นในเชิงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจและ COVID-19 ที่ทำให้ทุกอย่างชะลอตัวเป็นกรณีที่นักลงทุนต้องการความชัดเจนอย่างยิ่ง
ความเชื่อมั่นที่ว่าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเดินหน้าต่อไปโดยรัฐบาลจะสานต่อโครงการนี้อย่างแน่นอนแม้ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เนื่องจาก EEC เป็นโครงการลงทุนที่สำคัญของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์มุ่งมั่นและทุ่มเทสรรพกำลังให้กับ EEC โดยอาจละเลยที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นในลักษณะของการสร้างแรงดึงดูดการลงทุนและกระจายความจำเริญให้กับแต่ละภูมิภาค
การแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงเวลาหลังวิกฤต COVID-19 นับจากนี้ ดูจะมีความหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก เพราะแม้ว่าจะมีบรรษัทและผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสำคัญและสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกลไกรัฐไทยต่างมั่นใจว่าการเดินหน้าโครงการ EEC มีประโยชน์และมีโอกาสการลงทุนสูงมากรอคอยอยู่เบื้องหน้า
ประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ที่การเร่งทำ Business Bubble เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจสามารถเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ และลงนามในสัญญาธุรกิจได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกเหนือจากการให้ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้ตัดสินใจลงทุนได้ง่าย
ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนในห้วงเวลาปัจจุบันดูจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่น่าหนักใจมากนัก เพราะปัจจุบัน EEC มีมาตรการพิเศษเพียงพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายถึง 12 กลุ่ม ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้นักลงทุนและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้จะเข้ามาในประเทศไทยและยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งดูจะเป็นประเด็นท้าทายอย่างมาก
สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการจึงอยู่ที่การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าจะผลักดันและดำเนินโครงการ EEC อย่างเต็มที่ ซึ่งผลจากการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในช่วงที่ผ่านมาสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับอนาคตของ EEC ได้ในระดับหนึ่ง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือก่อนหน้านี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC จากผลของการที่ประเทศไทยเป็นซัปพลายเชนในหลากหลายอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้ดี ทั้งเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหาร แต่ต้องติดขัดจากความล่าช้าของระบบราชการ ซึ่งต้องแก้ไขให้เดินหน้าได้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กจำนวนมากต้องประสบปัญหาทางธุรกิจและมีบางรายต้องยุบเลิกกิจการไปโดยปริยาย ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญและสนใจผู้ประกอบการภายในประเทศควบคู่กับการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้กลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของไทยเดินหน้าต่อไปได้
ความมั่นใจของนักลงทุนจากต่างประเทศอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของผู้ที่มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี หากอยู่ที่วิสัยทัศน์และการกำหนดนโยบายของกลไกรัฐไทยว่ามีทิศทางอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเด็นปัญหาว่าด้วยการผลิตสร้างและพัฒนาบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ของไทย ถือเป็นปัญหาหลักในการพัฒนา โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคนจบปริญญาตรีที่ว่างงานหรือทำงานต่ำระดับ (Underemployment) มากกว่า 2 แสนคน มีความต้องการช่างฝีมือชั้นดี 5 หมื่นคน แต่กลับไม่มีคนไปสมัคร เป็นปัญหาซัปพลายไซส์การผลิตคนที่ไม่ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งหากดูความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว จะพบว่ายังไม่มีคนทำงานเรื่องอุตสาหกรรมใหม่อย่างการบิน หุ่นยนต์ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้น
ปัญหาว่าด้วยการผลิตบุคลากรซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถผลิตบุคลากรในแบบที่ตลาดต้องการได้ กลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและมีความเกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวงทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแม้การพัฒนาใน EEC จะมีการผลักดันและดำเนินโครงการนำร่องเพื่อสร้างหลักสูตรการศึกษารองรับกับพัฒนาการที่กำลังจะเกิดขึ้นใน EEC แต่ก็ต้องถือว่าบุคลากรที่ผลิตได้ยังเป็นจำนวนน้อยและต้องเร่งดำเนินการขยายผลออกไปอีก
ประเด็นว่าด้วยทุนมนุษย์กลายเป็นปัจจัยในการดึงดูดการลงทุนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเชิงกายภาพว่าด้วยระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน โดยในด้านเทคโนโลยีไทยไม่สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียได้ และมีแนวโน้มที่จะตามหลังอินโดนีเซียและเวียดนามในอนาคตหากไม่รีบปรับตัว ซึ่งผลการศึกษาก่อนหน้านี้ยืนยันว่า หากเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3 จะไม่สามารถจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ได้ทั้งหมด ซึ่งหมายความว่านอกจากเศรษฐกิจจะย่ำแย่แล้วสังคมไทยยังจะมีคนว่างงานอีกจำนวนมากด้วย
การประเมินดังกล่าวนี้กำลังถูกผลิตซ้ำและดูเหมือนจะเลวร้ายหนักไปอีกเมื่อข้อเท็จจริงของสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดำเนินไปแบบเติบโตติดลบหรือหดตัวรุนแรงถึงร้อยละ -8 ถึงร้อยละ -10 ซึ่งหมายความว่าสังคมไทยในช่วงเวลานับจากนี้จะมีผู้ว่างงานมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
การฝากความหวังไว้ที่การพัฒนาพื้นที่ EEC ในฐานะที่เป็นกลไกในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยทั้งในมิติของการลงทุนและการจ้างงานจึงดูเหมือนจะเป็นคำตอบและทางออกสุดท้ายที่กลไกรัฐไทยจะพอคิดได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าภายใต้คณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่นี้ พวกเขาจะนำพาเศรษฐกิจไทยและ EEC ไปสู่จุดที่ควรจะเป็นได้อย่างไร