จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ออกมาย้ำเตือนถึงสถานการณ์ตลาดทองคำที่กำลังปั่นป่วนผันผวนอย่างหนัก เปลี่ยนราคากันทุกชั่วโมง ขึ้นแรงและร่วงลงแรง เพราะไม่ใช่แค่อาการเจ็บหนักของกลุ่มนักเก็งกำไรรายย่อย รายกลาง แต่กำลังส่งผลกระทบต่อช่างทำทองในอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 200,000 คน มีสิทธิ์ตกงานสูงถึง 60-70%
เหตุผลสำคัญ คือ เมื่อตลาดทองคำไม่นิ่ง กลุ่มลูกค้าผู้ซื้อส่วนใหญ่จะรอ เพื่อซื้อหรือขาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าทองรูปพรรณหายไปเกือบทั้งหมด ร้านทองปลีกหยุดสั่งซื้อ ร้านทองค้าส่งหยุดออร์เดอร์และกระทบเป็นลูกโซ่ต่อกลุ่มช่างทำทองทันที
ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ ปิดให้บริการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ผู้คนงดการเดินทาง ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกโรงงานผลิตทองรูปพรรณหยุดการผลิตไปจำนวนมาก และหยุดการจ้างกว่า 50%
นายจิตติกล่าวว่า หากดูข้อมูลการซื้อขายทองคำช่วงเดือนกรกฎาคม ลูกค้าส่วนใหญ่นำทองแท่งมาขาย เพื่อกินส่วนต่างราคาที่เพิ่มสูงขึ้นและเริ่มนำทองรูปพรรณมาขายในช่วงเดือนสิงหาคม ขณะที่ด้านการส่งออกไปต่างประเทศมีปัญหา ปริมาณและมูลค่าเริ่มน้อยลง เนื่องจากประเทศแถบยุโรปยังเจอปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของผู้ประกอบการร้านทองยังมีทุนหมุนเวียนอยู่ ร้านรายใหญ่สามารถสั่งจ่ายเช็คให้ลูกค้า ส่วนร้านรายย่อยจ่ายเงินสด
“ร้านทองยังอยู่ได้ แต่เป็นห่วงกลุ่มช่างทอง เพราะทองรูปพรรณขายไม่ได้เลย โดยขายไม่ดีตั้งแต่เกิดโควิด-19 เรื่อยมาจนเกิดสถานการณ์ตลาดทองคำผันผวน ยิ่งไม่มีลูกค้าซื้อ มีแต่นำมาขาย ช่างทองมีปัญหา โรงงานเล็กๆ ปิดไปเยอะ ต่างประเทศไม่สั่งก็เดือดร้อนหมด ผมคาดช่างทำทองในระบบรวมกับกลุ่มจิวเวลรี่ ประมาณ 2 แสนคน จะตกงาน 60-70% เป็นห่วงมาก ไม่มีคนซื้อ แห่ขายทองกันหมด ไม่มีการผลิต ไม่มีรายได้ ระยะยาวเหนื่อยมาก หลายคนอาจเปลี่ยนอาชีพไปเลย”
“ช่วงก่อนอย่างห้างทองจินฮั้วเฮง มีโรงงาน มีช่างร้อยกว่าคน ตอนนี้ต้องหยุดผลิตชั่วคราว เพราะผลิตแล้วไม่มีคนสั่ง ไม่คนซื้อแล้ว”
สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือ ศูนย์วิจัยทองคำ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสมาคมค้าทองคำ สมาคมเพชรพลอยเงินทอง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และบริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด ได้ประกาศดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนสิงหาคม 2563 แม้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 จากระดับ 62.51 จุด มาอยู่ที่ระดับ 75.54 จุด เพิ่มขึ้น 20.84% เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้เกิดความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
แต่มีปัจจัยลบ คือ นักลงทุนกังวลการขายทำกำไรของธนาคารกลางและกองทุนต่างๆ โดยคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในเดือนสิงหาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 319 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 42.63 ยังไม่ซื้อทองคำ ร้อยละ 34.48 ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ มีเพียงร้อยละ 22.89 ที่อาจจะซื้อทองคำ
ชวภณ พิพิธพล ช่างทองย่านปทุมธานี กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นต่อเนื่อง ตอนราคาทองคำขึ้นประมาณบาทละ 24,000-25,000 บาท ยังมีงานทำ แต่พอพุ่งมาถึง 27,000 บาท คำสั่งซื้อเริ่มลดน้อยอย่างชัดเจน
“เมื่อสิบกว่าปีก่อน ราคาทองคำเคยขึ้นมาถึง 27,000 บาท ถือว่าสูงมากแล้วของบ้านเรา พอปีนี้พุ่งมาแตะ 27,000 และทำลายสถิติ ผู้คนเริ่มแตกตื่น เพราะราคาไม่เคยขึ้นสูงขนาดนี้ ทำให้ร้านปลีกจากที่เคยสั่งซื้อทองรูปพรรณไปโชว์หน้าร้าน กลับกลายต้องรับซื้อจากลูกค้าเพื่อนำมาขายส่ง ร้านขายส่งจึงมีแต่ทองเก่า ทองใหม่ที่จะขายออกต้องชะงักไว้ก่อน ยกเว้นบางลาย บางงาน ที่สั่งมาเฉพาะเท่านั้น”
ที่สำคัญ โรงงานทำทองขนาดกลางขนาดเล็กส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากช่วงแพร่ระบาดโควิดมาก่อนแล้ว เนื่องจากร้านทองในศูนย์การค้าต้องปิดชั่วคราว ช่างต้องหยุดงานบางส่วน และคาดว่าจะกลับมาทำงานได้เพิ่มขึ้น หลังภาครัฐผ่อนคลายให้เปิดกิจการต่างๆ
แต่ปรากฏว่าช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ราคาทองคำพุ่งแตะ 27,000 บาท และพุ่งอย่างเร็วแตะ 28,000 บาท 29,000 บาทและ 30,000 บาท เกิดกระแสแห่ขายทองคำ แรงซื้อหายเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะทองรูปพรรณ โรงงานบางส่วนต้องให้ช่างกลับต่างจังหวัด
โชคดีที่โรงงานผลิตทองของชวภณยังมีออร์เดอร์การผลิตและมีจำนวนคนงานไม่มาก จึงยังประคองยอดขายดำเนินธุรกิจต่อไปได้
“ผมว่า โรงงานขนาดใหญ่มีช่าง 70-80 คน พองานหยุด ช่างจะได้รับผลกระทบหนัก ช่างเก่าแก่ ลูกน้องต้องกลับบ้าน เพราะช่างทองส่วนใหญ่ใช้วิธีจ้างงานแบบกินส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ บางคนทำมานาน มีเงินเก็บ ช่วงแรกอาจไม่กระทบมาก กินเปอร์เซ็นต์กับหัวหน้าหรือเถ้าแก่งานของเขา ซึ่งคิดต่อเดือนเฉลี่ยต่อคนอย่างน้อยได้ประมาณ 20,000 บาท ถ้ารายได้ตรงนี้หายไปกระทบหนักเลย”
ถามว่า ลูกค้าจะกลับมาซื้อขายทองรูปพรรณแบบปกติเมื่อไหร่นั้น
ในฐานะช่างทองที่ผ่านมาทั้งร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งทองนานเกือบ 20 ปี ชวภณกล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ถ้าราคาทองคำพุ่งขึ้น ผันผวน ไม่นิ่ง จะไม่มีคนซื้อ จนกว่าราคานิ่ง ไม่ขยับ ไม่ขึ้นแรงและร่วงลงแรง แม้ทองแพงขึ้นถึง 30,000 บาท แต่ผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาซื้อทองคำ เงินหมุนเวียนจากการซื้อขายจะกลับมาเป็นปกติ อาจมีการปรับตัวด้วยการลดปริมาณทอง
เช่น เคยใส่สร้อยทองหนัก 1 บาท อาจลดลงมา 2 สลึง เพราะมีเงินในมือแค่ 20,000 บาท จะมาจับทอง 1 บาท ราคาเกือบ 30,000 บาท ไม่ไหว แต่ยังสวมใส่ ซึ่งช่างทำทองสามารถคิดลวดลายตอบสนองความต้องการได้ ลวดลายสวยในน้ำหนักทองลดลง ออร์เดอร์ก็จะเริ่มเข้ามาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ถ้าเทียบกิจการร้านค้าทอง โรงงานผลิต และช่างทอง ต้องถือว่าช่างทองเสี่ยงได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากโรงงานทำทองไม่ต่างจากผู้ประกอบการร้านทอง ส่วนใหญ่มีเงินทุน มีสินทรัพย์ มีการลงทุนเครื่องจักร สามารถกินส่วนต่างจากราคาขึ้นลงและดำเนินกิจการต่อไป แค่รอจังหวะตลาดเท่านั้น
ขณะที่ช่างทำทองมีรายได้จากส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์กับหัวหน้างาน จะมีรายได้ต่อเมื่อมีคำสั่งผลิต โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เคยสำรวจค่าจ้างของช่างทองส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลวดลาย น้ำหนัก ความยากง่าย เช่น สร้อยข้อมือ สร้อยคอน้ำหนัก 1 บาท งานไม่ยาก ค่าจ้างมากกว่า 100 บาทต่อเส้น ถ้างานยาก มีความประณีต ค่าจ้าง 200-300 บาทขึ้นไป หากมีออร์เดอร์จำนวนมากจะมีรายได้มาก
สิ่งที่น่าวิตกจึงหนีไม่พ้นสถานการณ์อันตราย หากเกิดภาวะราคาทองพุ่งขึ้นแรง ขึ้นไม่หยุด หรือราคาร่วงลงไม่หยุดจะมีผลกระทบมากขึ้น เพราะลูกค้าจะรอให้ราคาลงมากๆ หรือรอขึ้นมากๆ เพื่อขายเก็งกำไร และนั่นคงต้องจับตาผลกระทบลูกโซ่จากตลาดทองคำจะยิ่งทับถมวิกฤตเศรษฐกิจให้รุนแรงมากขึ้นหรือไม่!!