ส่งออกของไทยไม่อาจฟื้นตัวได้ไว แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ดี ที่แสดงให้เห็นถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดได้ เมื่ออีกหลายประเทศยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูง และยังมีมาตรการคุมเข้มกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งออก
เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ อยู่ในภาวะชะลอตัว เมื่อกำลังซื้อของประชากรโลกยังจับกลุ่มอยู่ในหมวดสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การส่งออกของไทยที่หดตัวลงในกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ
โดยเฉพาะตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 23.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14,833.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 18.05% การค้าเกินดุล 1,610.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 114,342.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.09% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 103,642.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 12.62% และการค้าเกินดุล 10,700.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การหดตัวของการส่งออกไทยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงและการบังคับใช้มาตรการปิดเมืองในหลายระดับในต่างประเทศ ส่งผลให้อุปสงค์โลกอ่อนกำลังลงและสายโซ่อุปทานบางส่วนในต่างประเทศชะงักงัน รวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้น
สินค้าส่งออกศักยภาพของไทยที่หดตัวสูงในเดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-43.1%) ข้าว (-25.6%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (-15.2%) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกอาหารไทย ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 6.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมือง ที่ทำให้การผลิตในต่างประเทศต้องหยุดชะงัก ช่วยหนุนความต้องการสินค้าอาหารจากไทย ทั้งทางตรงจากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และทางอ้อมจากการเป็นตลาดส่งออกทดแทนประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ หากพิจารณารายประเทศพบว่า จีนและสหรัฐฯ เป็นเพียง 2 ตลาดหลักที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนนี้ที่ 12.0% และร้อยละ 14.5% ตามลำดับ
และสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป
กระทรวงพาณิชย์ยังกังวลว่า ไทยอาจยังต้องเผชิญกับปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อทิศทางการส่งออกในอนาคต ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย ที่อาจจะสร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา
ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวในระดับ 2 หลัก ซึ่งจะเป็นการหดตัวลึกกว่าที่ประเมินไว้ที่ -6.1% จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า แม้จะเริ่มมีความดีจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกกับจีน ที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สูงขึ้นดังกล่าวจะส่งผลกดดันทิศทางการค้าของโลกและการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563
จากการวิเคราะห์และประเมินของกระทรวงพาณิชย์และศูนย์วิจัยกสิกรไทย ต่อสถานการณ์การส่งออกที่อาจจะได้รับอิทธิพลจากสงครามการค้า ที่ไม่เคยสงบลงอย่างแท้จริง แม้จะเคยนิ่งสงบอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งหลังจากมีการเจรจาทำข้อตกลงระหว่างสองประเทศก่อนที่เชื้อไวรัสโควิดจะแพร่ระบาด
ดูเหมือนว่าการต่อกรระหว่างมนุษย์กับเชื้อไวรัสจะไม่ท้าทายผู้นำสหรัฐอเมริกาเพียงพอ เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงยึดโยงกับนโยบายของตัวเองที่เคยประกาศความตั้งใจเอาไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง หรือความพยายามที่เกิดขึ้นในห้วงยามนี้ เป็นเพราะต้องการที่จะสร้างผลงานเพื่อคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้
ขณะที่หอการค้าไทยวิเคราะห์การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสมมุติฐานหากสถานการณ์โลกมีการผลิตวัคซีนโควิดได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ การส่งออกไทยในปี 2563 จะหดตัวลงที่ 5.5% และถ้าสามารถผลิตวัคซีนได้ในช่วงไตรมาส 4 จะหดตัวประมาณ 9.6% แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีนจะส่งผลให้การส่งออกไทยทั้งปีอาจติดลบสูงถึง 13.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่หายไปประมาณ 7 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขติดลบหนักสุดในรอบ 10 ปี
“ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินการส่งออกของประเทศในช่วงครึ่งปีหลังจะทรุดตัวลงมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก และมีโอกาสติดลบมากสุดถึง 20% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโอกาสของการมีวัคซีนเร็วที่สุดอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุดเพราะมีโอกาสที่จะต่ำลงได้อีก” อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าว
ทั้งนี้ อัทธ์ยังแนะนำผู้ประกอบการควรปรับตัวด้วยการสร้างธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ รวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อลดภาระต้นทุน และปรับปรุงเครื่องจักรที่ล้าสมัย ส่วนภาครัฐและทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลควรเร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและประชาชนผ่านมาตรการการยกเว้นภาษี เช่น ภาษีรายได้ และกระตุ้นการบริโภคให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวล่าสุดของรัฐบาล สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้แค่บางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนยังคงระมัดระวังด้านการใช้จ่าย
ขณะที่แนวทางส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs (SMEs PRO-ACTIVE PROGRAM) เพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ