มหกรรมยานยนต์ช่วงต้นปี “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2015 ครั้งที่ 36” ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปในสังคมไทยไม่น้อย ไม่เฉพาะในมิติที่เกี่ยวเนื่องกับการอวดโฉมยนตรกรรมภายใต้แนวคิด “Art of Auto” และการแข่งขันในการช่วงชิงกำลังซื้อของบรรดาค่ายรถยนต์แต่ละค่ายเท่านั้น
หากแต่กิจกรรมระดับชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีครั้งนี้ กำลังเป็นอีกส่วนหนึ่งของดัชนี และมาตรวัดที่จะช่วยสะท้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยว่ากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ตามคำประกาศของภาครัฐหรือกำลังถอยหลังทยอยฟุบอย่างที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกกัน
การคาดหมายยอดจองรถยนต์ภายในงาน ที่ทางฝ่ายผู้จัดงานประเมินไว้เบื้องต้นที่ 40,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ถือเป็นการประเมินที่พยายามยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดูจะซบเซา แม้ว่าค่ายรถยนต์พยายามจะแข่งขันและกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดก็ตาม
ข้อสังเกตที่พบเห็นได้ในช่วงก่อนการแสดงงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ อยู่ที่การระดมประชาสัมพันธ์และโหมโฆษณาจากค่ายรถยนต์หลากหลาย ในลักษณะที่ระบุว่า ซื้อรถเงื่อนไขเดียวกับมอเตอร์โชว์ แต่ดูเหมือนการกระตุ้นให้ตัดสินใจซื้อก่อนงานแสดงมอเตอร์โชว์จะไม่ค่อยได้ผลนัก แม้จะมีส่วนลดสูงถึงระดับ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาทก็ตาม ซึ่งสะท้อนความไม่มั่นใจของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง
แต่หากประเมินในแง่ดี ในมิติที่เป็นเพียงการประวิงเวลาและพิจารณาเงื่อนไขภายในงานก่อนการตัดสินใจ กำลังซื้อที่รอคอยจังหวะอยู่นี้ ก็อาจช่วยให้ตัวเลขการจองรถยนต์ภายในงานสามารถบรรลุเป้าหมายที่คาดการณ์ได้ไม่ยาก
“ทุกค่ายรถยนต์ ก็ต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรนไม่มีใครยอมแพ้ แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีไม่ดีอย่างไร ก็คงไม่มีใครถอนตัวหรือหยุดความเคลื่อนไหวจากการแข่งขันนี้ได้” ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานกรรมการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 36 ระบุ
กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้รับการประเมินว่าน่าจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงค่าเงินยูโรและเงินเยนที่ปรับตัวอ่อนค่าลง เมื่อประกอบส่วนเข้ากับการจัดแคมเปญและโปรโมชั่นจากแต่ละค่ายรถยนต์แล้ว อาจจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งถือเป็นสัญญาณในการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ซบเซาอยู่ขณะนี้ได้ระดับหนึ่ง
กระนั้นก็ดี ในส่วนของผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ ส่วนใหญ่ยอมรับว่า ตลาดยานยนต์ไทยยังคงแข่งขันรุนแรง และยังไม่สามารถประเมินยอดการจองที่แท้จริงได้ เพราะสภาพตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนแคมเปญ หรือการส่งเสริมการขายที่ค่ายรถแข่งขันดุเดือดตลอด 2-3 ปีที่มา ยังไม่ลดดีกรีความร้อนแรงลง เพราะปัจจัยลบทำให้ตลาดชะลอตัว ผู้ผลิตจึงต้องการเพิ่มยอดขายในงาน และทำให้รูปแบบการแข่งขันไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2557 พบว่าสินเชื่อรถยนต์ ณ สิ้นปี 2557 ปรับตัวลดลง 3.4% หลังจากเร่งตัวสูงมากเมื่อ 2 ปีก่อน คือ ระดับ 39% และ 8.4% ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อรถยนต์ที่ติดลบ 3.4% เมื่อสิ้นปี 2557 เกิดจากการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ทันกับการจ่ายคืนหนี้ หลังจากที่ได้เร่งตัวขึ้นสูงมากเมื่อปี 2555 จากโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลขณะนั้น
ในรายงานของ ธปท.ระบุด้วยว่า คุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2557) ยอดคงค้างสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน (NPLs) เพิ่มขึ้นเป็น 21,800 ล้านบาทในปี 2557 จากระดับ 12,000 ล้านบาทในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 82% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน (SM) ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 71,200 ล้านบาทในสิ้นปี 2557 จากระดับ 50,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555
ประเด็นที่ว่านี้ แม้จะไม่ใช่หนี้เสียแต่สถาบันการเงินจะต้องจับตาเป็นพิเศษ และสะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรถยนต์ยังมีแนวโน้มด้อยคุณภาพในระดับที่สูงอยู่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการซื้อรถยนต์ของประชาชนได้ไม่ยาก
สมรภูมิในงานมอเตอร์โชว์ จึงไม่ใช่เวทีสำหรับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นสังเวียนประลองกำลังของสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเลี่ยงแข่งขันในเรื่องราคา เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ส่วนการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระก็อาจกระทบต่อคุณภาพลูกหนี้ได้
กลยุทธ์ของสถาบันการเงินในการดึงดูดลูกค้า ในช่วงตลาดเปิดจึงมีความสำคัญที่น่าจับตามองไม่น้อย
แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อหรือสินเชื่อรถยนต์โดยรวมอยู่ในระดับที่ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 2.5% ของสินเชื่อทั้งระบบ มียอดคงค้างราว 1 ล้านล้านบาท และถือว่าลดลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากสถาบันการเงินเข้าไปให้ความช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ได้ประมาณ 7-8% ของลูกหนี้ทั้งหมดก็ตาม
ความกังวลใจอันเนื่องจากสินเชื่อรถคันแรกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้การขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์โดยรวมเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าสินเชื่อรถคันแรกไม่ได้มีสัดส่วนในสินเชื่อรถยนต์มากนัก และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่รายงานจากกรมสรรพสามิตระบุว่า ตั้งแต่ดำเนินโครงการรถยนต์คันแรกมีผู้ขอใช้สิทธิ์ 1,259,102 ราย และมีผู้ที่ได้รับรถหรือส่งมอบรถแล้ว 1,124,011 ราย คงเหลือผู้ไม่ได้รับอีก 112,290 ราย ซึ่งผู้เข้าโครงการใช้สินเชื่อซื้อรถ 84.79%
สำหรับในปีนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง ประเมินว่าในปี 2558 ยอดขายรถยนต์จะเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5% หรือเพิ่มเป็น 9 แสนคัน และมองว่าจะมีการเติบโตในส่วนของรถปิกอัพมากกว่ารถเก๋ง เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนนัก คนทั่วไปจึงมองหารถเพื่อประกอบอาชีพมากกว่า ส่วนรถยนต์เก๋งขนาดกลางถึงเล็กยังต้องเผชิญกับภาวะอิ่มตัวจากโครงการรถคันแรก จึงทำให้ปีนี้จะมียอดรถใหม่เป็นรถปิกอัพ 60% รถเก๋ง 40% จากเดิมมีสัดส่วนร้อยละ 55 ต่อ 45
ความเป็นไปของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 จึงน่าจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้สถาบันการเงินยังต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ จนกว่าจะเห็นสัญญาณ NPLs ทรงตัว และอาจจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2558
ความพยายามที่จะคาดการณ์แนวโน้มจากปัจจัยบวกรอบด้านที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่งอยู่ที่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเริ่มกลับมาขยายตัวในปี 2558 โดยมีปริมาณการผลิตจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคัน และการจำหน่ายรถยนต์ในระดับ 7.8 แสนคัน
โดยปัจจัยที่ว่านี้น่าจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากการปรับตัวของตลาดรถยนต์ได้สิ้นสุดลงแล้วในปี 2557 หลังจากสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรก และทำให้ปริมาณจำหน่ายและผลิตรถยนต์ของทั้งปี 2557 ลดลง -39.6% และ -23.5% ตามลำดับ
แนวโน้มธุรกิจที่รอคอยปริมาณเม็ดเงินจากภาครัฐให้เข้ามากระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยในระดับต่ำ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ได้รับการประเมินว่าอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของยอดการจำหน่ายรถยนต์ให้กระเตื้องกลับคืนมาได้บ้าง แต่นั่นก็มิได้การันตีว่ายอดจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์จะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์หรือไม่
ยอดจองรถยนต์ ในงานมอเตอร์โชว์ 2015 อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขยายภาพข้อเท็จจริงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วงนับจากนี้