วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ-บรรจุภัณฑ์โต ไวรัสโควิดสยบไม่ลง

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ-บรรจุภัณฑ์โต ไวรัสโควิดสยบไม่ลง

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศ ภาวะชะงักงันที่ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากต้องเผชิญ เนื่องจากต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ภาครัฐประกาศใช้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะขยายวงกว้าง

แม้ว่าเชื้อไวรัสจะมีความร้ายกาจและน่ากลัวขนาดไหน แต่มักจะมีช่องโหว่ที่กลายเป็นจุดอ่อน ที่นักวิจัยและพัฒนาวัคซีนสามารถเอาชนะได้เสมอ ในวงการธุรกิจก็เช่นเดียวกัน

เพราะในวิกฤตแต่ละครั้งมักจะมีธุรกิจบางประเภทที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้ว่าสถานการณ์โดยรอบจะย่ำแย่เพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพราะความแข็งแกร่งของตัวผู้ประกอบการที่มีสายป่านยาว หรือเหตุผลอื่นใดที่ทำให้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ธุรกิจ จากหลายสถาบันออกมาประเมินและพินิจต่อเหตุการณ์นี้ว่า จะมีธุรกิจใดบ้างที่อยู่รอดเงื้อมมือของไวรัสนี้และกลายเป็นดาวเด่นในช่วงที่ไวรัสระบาด

ธุรกิจ E-Commerce และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ กลายเป็นธุรกิจที่ถูกประเมินว่านอกจากจะอยู่รอดในภาวะยากลำบากครั้งนี้แล้ว ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอีกด้วย

Physical Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพ คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิถีชีวิตผู้คนในยามที่โรคไวรัสระบาด และกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องแก้และหาคำตอบ อันนำไปสู่การค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ

แม้ว่าเดิมที การค้าออนไลน์ในประเทศไทยจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้บริโภคมานานแล้ว และผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจทั้ง Offline และ Online ควบคู่กันไป หรือบางเจ้าใช้รูปแบบ Online อย่างเดียวเพื่อเป็นการลดต้นทุนสำหรับพื้นที่หน้าร้าน

ทว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้ประกอบการแทบจะทั้งหมดต้องหันมาลงแข่งขันกันในตลาดออนไลน์มากขึ้น ทั้งการเสนอขายสินค้า การบริการ และทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลให้มูลค่าธุรกิจของตลาด E-Commerce และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” เว็บไซต์ค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา เปิดเผยข้อมูลตัวเลขมูลค่าตลาด E-Commerce ไทยปี 2019 ว่า มีมูลค่า 163,000 ล้านบาท

และผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น Priceza คาดการณ์ว่าตัวเลขตลาด E-Commerce ในปีนี้ อาจจะสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า

โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการขยายตัวสูงขึ้น 29% โดยเฉลี่ย

ช่องทางการขายบนออนไลน์อาจไม่ใช่แค่ทางเลือกในช่วงวิกฤตสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นช่องทางสำคัญและเป็นทางรอดของธุรกิจในอนาคตเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่าการซื้อขายทางออนไลน์ที่มีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์มีโอกาสที่จะเติบโตไปบนเส้นคู่ขนาน เพราะประชาชนที่ต้องหยุดจากงานประจำในช่วงล็อกดาวน์ หรือบางคนอาจถึงขั้นตกงานไปเลย ต่างผันตัวมาทำงานในธุรกิจขนส่งสินค้ามากขึ้น เมื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้

นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถยืนระยะท่ามกลางวิกฤตได้เป็นอย่างดี แม้นักวิเคราะห์บางคนจะมองว่า ธุรกิจนี้อาจจะมีช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นที่จะสามารถกอบโกยรายได้และผลกำไร เพราะหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจนี้จะมีโอกาสชะลอตัวลงเช่นกัน

ข้อมูลจาก เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ระบุว่า “อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อใส่อาหารส่งให้ลูกค้าที่สั่งอาหารทางออนไลน์ สัดส่วนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในปี 2562 คือ สิ่งพิมพ์ 40% บรรจุภัณฑ์ 60% แต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนสัดส่วน 50:50 แต่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ถูกเทคโนโลยีดิสรัปและคุกคามจนยอดขาย ยอดผลิตลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่โควิดระบาดในไทย และรัฐมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ตัวเลขเดือนมีนาคม ยอดผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อบรรจุอาหารเพิ่มขึ้นถึง 200-300%”

ปี 2562 มูลค่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 3.1-3.2 แสนล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2-3.3 แสนล้านบาท โดยสัดส่วน 70% มาจากบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่เจลล้างมือและแอลกอฮอล์เป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มเมื่อเดือนมีนาคม 300% แม้ว่าโรงงานจะผลิต 24 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางส่วนจึงจำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศจีน

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ แม้ว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในปี 2563 จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ฉุดรั้งปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่น่าจะปรับตัวลดลงตามภาคการผลิต ส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ภาครวมปี 2563 อาจชะลอลง แต่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งถึงมือผู้บริโภค (Last-mile Delivery) น่าจะเติบโตได้จากปัจจัยกระตุ้นของมาตรการ Physical Distancing เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเร่งให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนไปซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าจะกลายเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของผู้บริโภคไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คาดว่าจะมียารักษาเฉพาะหรือวัคซีนสำหรับโควิด-19 ออกมาใช้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับ Last-mile Delivery (รายรับของผู้ประกอบการ) ในปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 14,400-15,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 15-18% ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่มีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นกว่าคาดการณ์ในกรณี Normal Care ที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับ Last-mile Delivery ในช่วง 3 เดือนนี้เติบโตจาก Normal Case ที่ 8.8% และพุ่งขึ้น 38.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ดี กำลังซื้อที่อ่อนแรงซึ่งทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย คาดว่าอาจทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ Last-mile Delivery ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปี 2563 เติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับ Normal Case แต่ยังเพิ่มขึ้น 11.2% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน สอดคล้องกับภาพธุรกิจ E-Commerce และ Last-mile Delivery

นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีจำนวนผู้เล่นมากราย ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาของสินค้าเป็นสำคัญ เนื่องจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ Last-mile Delivery ส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตอย่างง่ายและมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก

ดังนั้น เพื่อตอบสนองการแข่งขันในธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเชิงรุกและใช้กลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบรับโอกาสทางการตลาดได้ในหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ 1. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานแบบ Customization ให้บรรจุภัณฑ์มีรูปแบบและคุณสมบัติเหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด 2. การใช้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ฉลากและอุปกรณ์ป้องกันสินค้า รวมถึงการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายย่อยกับธุรกิจขนส่งสินค้า

นับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจ E-Commerce และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ที่ไม่ใช่เพียงแต่รอดพ้นจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงเท่านั้น แต่ยังรอดพ้นจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

กระนั้นยังต้องรอดูกันต่อไปว่า ทั้งสองธุรกิจจะเป็นดาวเด่นต่อไปอีกนานเพียงใด เมื่อไทยเริ่มปลดล็อกและประชาชนจำนวนหนึ่งกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว

ใส่ความเห็น