ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อชีวิตผู้คนเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังฉายภาพความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในสังคมให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งในแง่ของคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ รวมไปถึงการศึกษาอันเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคม แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทของการศึกษาของไทยด้วยเช่นกัน
การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้รัฐบาลในหลายประเทศประกาศปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ มีผู้เรียนได้รับผลกระทบกว่า 1.5 พันล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เรียนทั้งหมด สำหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พร้อมปรับการเรียนการสอนจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ในช่วงที่นักเรียนยังไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ เพื่อให้การเรียนรู้ไม่เกิดการชะงักงัน
แต่ภาพการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้น กลับเป็นไปบนความไม่พร้อมของทั้งบุคลากรทางการศึกษา ผู้เรียน เทคโนโลยี ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็น อีกทั้งยังสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรให้เห็นเด่นชัด มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ได้
ข้อมูลที่น่าสนใจจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลค่อนข้างสูง สัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลอยู่ในระดับต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนกว่า 8 หมื่นคน ยังอยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เมื่อผนวกกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส การจัดหาอุปกรณ์สื่อสารเพื่อให้ลูกหลานเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้จึงดูจะเป็นไปได้ยากยิ่ง
มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์สื่อสารที่จำเป็นและอินเทอร์เน็ตที่เพียงพอสำหรับนักเรียน รวมไปถึงการเร่งปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาชนิดที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว แต่อีกนัยหนึ่งยังถือเป็นการเปิดโอกาสในการปรับตัวและพัฒนาระบบการศึกษาของไทยในอนาคตอีกด้วย การเรียนออนไลน์ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นรูปแบบทางการศึกษาที่หลายฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญและพยายามพัฒนานวัตกรรมขึ้นมารองรับ
โดยที่จริงแล้วการเรียนออนไลน์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ที่ผ่านมาประเทศที่มีการศึกษาชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ยุโรป ต่างมีการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา แต่ในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยดูเหมือนยังไม่ได้มีการพัฒนามากนัก เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อการเรียนการสอนแบบเดิม จึงเป็นดังตัวเร่งปฏิกิริยาให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกต้องปรับตัว สรรหาเครื่องมือ ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนทางไกลให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้น และเป็นโอกาสในการต่อยอดการศึกษาในอนาคต จนนักการศึกษาบางท่านมองว่า วิกฤตโควิด-19 อาจไม่ได้โหดร้ายกับการศึกษาจนเกินไปนัก แต่เป็นการเตือนให้เกิดการตั้งรับ ตื่นตัว สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และที่สำคัญทำให้ตระหนักว่าการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
วิเชียร พงศธร ผู้ก่อตั้งโครงการร้อยพลังการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชนที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนทั่วประเทศ ได้ให้ทัศนะไว้ว่า “เนื่องจากรูปแบบทางการศึกษาในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ชัดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่นักเรียนได้รับผลกระทบทั่วประเทศ จึงได้จับมือกับภาคีเพื่อสนับสนุนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีโอกาสได้ใช้นวัตกรรมและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมตามเป้าประสงค์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในภาคการศึกษาผ่านการเชื่อมโยงทรัพยากรทั้งทุนมนุษย์ เงิน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี เพื่อนำไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์”
โครงการร้อยพลังการศึกษาได้ร่วมมือกับบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งถือเป็นอีกหน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษา ได้พัฒนานวัตกรรมในการเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Learn Anywhere ให้โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศสามารถเรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วงปิดเทอมและภาคการศึกษาที่ 1/2563 เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางในการแก้ปัญหาให้เด็กนักเรียนเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน และพร้อมที่จะขยายขอบข่ายและพัฒนาต่อไป
สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แม้ว่าซอฟต์แวร์จะได้รับการพัฒนาแล้ว แต่โอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ ถึงแม้จะมีโครงการรับบริจาคคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วจากหน่วยงานต่างๆ แต่ยังคงไม่เพียงพอกับจำนวนผู้เรียน ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่รัฐต้องหามาตรการช่วยเหลือในระยะยาว
การเรียนออนไลน์อาจเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาและสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกันได้ แต่การที่จะทำเช่นนี้ได้ ต้องมีโครงข่ายการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตที่ดี ราคาถูก ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่สำหรับประเทศที่ยังไม่พร้อม และยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบรับเทคโนโลยีเหล่านี้ การมาถึงของการเรียนออนไลน์ อาจจะยิ่งเป็นการถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ให้กว้างขึ้นไปอีก เด็กฐานะยากจนและผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะถูกเพิกเฉยและมองข้ามไปในที่สุด
และแม้ว่าวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จะสามารถเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ แต่ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษา อันเนื่องมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน
วิเชียร พงศธร ผู้ก่อตั้งโครงการร้อยพลังการศึกษา