ในที่สุด “สยามพิวรรธน์-ไซม่อน” ได้ฤกษ์ 19 มิถุนายน 2563 เปิดตัวโครงการสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ อย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับข่าวดี เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศอัดแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวชุดใหญ่ ทั้ง “ไทยเที่ยวไทย” และเร่งทยอยผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศ ภายใต้โปรเจกต์ Travel Bubble เพื่อกระตุ้นรายได้ขนานใหญ่
ขณะเดียวกันยังหมายถึงการเริ่มสมรภูมิกับค่ายเซ็นทรัล ซึ่งเผยโฉมโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ให้บริการตัดหน้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา โดยปักหมุดแนวรบในระยะห่างจากสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต เพียง 20 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น
หากเปรียบเทียบข้อมูลของทั้งสองค่าย
เซ็นทรัลวิลเลจมีเนื้อที่รวม 100 ไร่ พื้นที่โครงการ 40,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ คนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางจากในเมืองประมาณ 45 นาที ส่วนนักท่องเที่ยวแวะช้อปก่อนเข้าเมือง หรือก่อนไปสนามบินได้
จุดที่ตั้งเป็นเกตเวย์สู่ภาคตะวันออก จำนวนรถยนต์ที่วิ่งผ่านบนถนนบางนา-ตราดต่อวัน กว่า 200,000 คัน หรือกว่า 75 ล้านคันต่อปี สามารถเดินทางมาจากพัทยาใน 75-90 นาที
เน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก Domestic 65% และ International Tourists 35%
จำนวนร้านค้าลักชัวรี่แบรนด์จากทั่วโลกกว่า 235 ร้านค้า ส่วนลด 35-70% ทุกวัน
มีบริการหลากหลายครบวงจรเหมือนศูนย์การค้า ร้านอาหาร จุดบริการนักท่องเที่ยว Playground โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต
ด้านสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เป็นโครงการอินเตอร์เนชั่นแนลลักชัวรี่เอาท์เล็ตจากความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์กับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ธุรกิจลักชัวรี่เอาท์เล็ต เจ้าของโครงการระดับโลก มีโครงการอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย สร้างยอดขายเป็นพันๆ ล้านต่อปี โดยถือเป็นครั้งแรกของไซม่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย และไทยเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชีย ตั้งอยู่บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี) กม. 23 ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ
มีเนื้อที่รวม 150 ไร่ พื้นที่เช่า 50,000 ตารางเมตร ร้านค้าประมาณ 200 แบรนด์ ทั้งร้านค้าลักชัวรี่แบรนด์ แบรนด์ของดีไซเนอร์ที่เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงแบรนด์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล และแบรนด์ไทยต่างๆ นำเสนอภายใต้แนวคิดโอเอซิสที่อุดมสมบูรณ์ ผสมผสานพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ร้านอาหาร สนามเด็กเล่น
ทั้งนี้ เซ็นทรัลวิลเลจเปิดฉากทุ่มแคมเปญต้อนรับสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต จัดรายการ “Super Brand Grand Sale” ลดสูงสุด 90% กับ Exclusive Brands ถึง 67 แบรนด์ ที่มีเฉพาะที่เซ็นทรัล วิลเลจ และสินค้า Weekly WOW Price ราคาเริ่มต้น 990 บาท และสินค้าแบรนด์เนมราคาพิเศษ เช่น ALICE+OLIVIA, CHLOÉ, COACH, ERMENEGILDO ZEGNA, ETRO, JIMMY CHOO, KATE SPADE, KENZO, MARIMEKKO, MAX & CO., MCQ, MICHAEL KORS, MOSCHINO, OUTLET BY CLUB21, POLO RALPH LAUREN, SALVATORE FERRAGAMO, VALENTINO, VIVIENNE WESTWODD, BATH & BODY WORKS, COCCINELLE, MELISSA, SUNGLASS HUT, VICTORIA’S SECRET ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 กรกฎาคม 2563
เป็นโปรโมชั่นชนิดสะบั้นหั่นแหลกดึงดูดนักช้อปและนักท่องเที่ยว ในช่วงจังหวะรัฐบาลประกาศชัดเจนจะผ่อนปรนและอัดมาตรการกระตุ้นอย่างเต็มที่ เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวยังคงเป็นเม็ดเงินก้อนสำคัญและส่งแรงกระเพื่อมไปยังธุรกิจอื่นๆ ทั้งธุรกิจค้าปลีก โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ อีกมหาศาล ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 3 แพ็กเกจ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2563 ทุ่มงบประมาณกระตุ้นรวม 22,400 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. แพ็กเกจ “เที่ยวปันสุข” รัฐบาลจะสนับสนุนการเดินทางของประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ผ่านการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่ง สายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า โดยรัฐสนับสนุนในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท และถ้ามีการจองห้องพักในโครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน จะได้รับสิทธิจองบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับในประเทศ ในราคา 2,500 บาทอีก 1 สิทธิ
2. แพ็กเกจ “เราไปเที่ยวกัน” รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายโรงแรมที่พักในอัตรา 40% ต่อคืน ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 5 คืน หรือ 15,000 บาท และสนับสนุนวงเงินอีวอลเล็ทผ่านการลงทะเบียนจากแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จำนวน 600 บาทต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 5 คืน หรือ 3,000 บาท เพื่อใช้จ่ายกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ใช้บริการสปา ซื้อของที่ระลึก ร้านอาหาร
3. แพ็กเกจ “กำลังใจ” ตอบแทนบุคลากรแนวหน้าในการรับมือโควิด-19 กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้านคน โดยให้สิทธิพิเศษเดินทางท่องเที่ยวฟรีผ่านบริษัทนำเที่ยว 2 วัน 1 คืน รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย 2,000 บาทต่อคน
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินทั้ง 3 แพ็กเกจ จะสร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจทางตรง ประมาณ 45,000 ล้านบาท และทางอ้อม 25,000 ล้านบาท รวม 70,000 ล้านบาท ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ รายได้ในภาคการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านบาท
ขณะที่มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแผน Travel Bubble หรือการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศที่สามารถจัดการเรื่องโรค COVID-19 ได้ดีเท่าๆ กันนั้น ถือเป็นมาตรการระยะยาวและต้องประเมินสถานการณ์การระบาดในประเทศนั้นๆ มีการผ่อนคลายการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ มีการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอยู่หรือไม่ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อกัน
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ระยะแรกของการเปิดทราเวลบับเบิ้ล น่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 1,000 คนต่อวัน เน้นเจาะ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มรักษาพยาบาล ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดว่าจะต้องมีเอกสารเชิญจากบริษัทคู่ค้าหรือโรงพยาบาลปลายทางในไทย มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับจากออกเอกสาร ก่อนขยายผลไปสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (Free Individual Traveler- FIT)
นอกจากนั้น อาจกำหนดพื้นที่ปิด (Sealed Area) เป็น Safe Zone for Tourism โดยพิจารณาจากแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองที่ประชาชนยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาพำนักและท่องเที่ยว รวมถึงมีมาตรฐาน Safety & Health Administration (SHA) ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ที่ผ่านมา นิวซีแลนด์และออสเตรเลียเป็นประเทศคู่แรกของโมเดลทราเวลบับเบิ้ล ใช้ชื่อว่า “Tran-Tasman Travel Bubble” โดยคู่ประเทศทั้งสองตกลงยินยอมให้มีการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องให้มีการกักตัว แต่ยังคงมีมาตรการตรวจเข้มข้นที่สนามบินของแต่ละประเทศ อาจเริ่มอนุญาตให้มีการเดินทางไปมาในบางเมืองก่อน ช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลเล่นสกีในนิวซีแลนด์ และเดือน ก.ย. เป็นช่วงปิดเทอมของโรงเรียนในสองประเทศนี้
สำหรับประเทศเป้าหมายของไทยในระยะแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง
ดังนั้น หากรวมทั้งมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศย่อมหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นความหวังของหลายธุรกิจ หลังจากช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวติดลบทุกเดือน โดยเฉพาะเดือนเมษายน-พฤษภาคม ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยแม้แต่คนเดียว จนส่งผลให้ยอดรวม 5 เดือน มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.69 ล้านคน ลดลง 59.97% หรือลดลง 10.02 ล้านคน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 59.57% หรือลดลง 4.89 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เช่นเดียวกัน ตลาดท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ไม่มีการเดินทางระหว่างกัน เมื่อรวม 5 เดือนแรก มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 40.15 ล้านคน ลดลง 58.19% หรือลดลง 55.88 ล้านคน รายได้ของตลาดไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ 1.91 แสนล้านบาท ลดลง 57.86% หรือลดลง 2.63 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ประมาณการทั้งปี 2563 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดการณ์รายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 60% หรือลดลง 1.78 ล้านล้านบาทจากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 3.01 ล้านล้านบาท
ส่วนสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดการณ์การฟื้นตัวธุรกิจค้าปลีก ทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด จะยังไม่เติบโตเหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้มีการเปิดกิจการมากขึ้น โดยไตรมาส 3 คาดว่าจะติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และต้องใช้เวลา 8-24 เดือนกว่าจะกลับมาเติบโต หลังจากสถานการณ์ โควิด-19 ดีขึ้น และขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากหรือน้อย
ที่สำคัญ ลักชัวรี่เอาท์เล็ต ชนิดทุ่มส่วนลดถึง 90% จะกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีโอกาสช่วงชิงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ทั้งเซ็นทรัลวิลเลจและสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต
แต่ฝ่ายไหนจะดึงดูดได้มากกว่าต้องวัดชั้นเชิงอีกหลายยก