วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > MBK ฮึดอีกรอบ ดึง “โคเรีย มอลล์” ปลุก “พาราไดซ์พาร์ค”

MBK ฮึดอีกรอบ ดึง “โคเรีย มอลล์” ปลุก “พาราไดซ์พาร์ค”

“เอ็มบีเค” ยังคงเดินหน้าปลุกศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค หลังห้างโตคิวประกาศยกธงขาวปิดสาขาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยใช้ช่วงเวลาเกือบปีเขย่าพื้นที่รอบใหญ่ เพิ่มกลยุทธ์ดึงแองเคอร์ใหม่ๆ เพื่อลุยสมรภูมิค้าปลีกที่เจอทั้งพิษไวรัสโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจและสงครามการแข่งขันรอบด้าน

ล่าสุด บริษัทดึงห้าง เคดู โคเรีย มอลล์ (KDOO KOREA MALL) แหล่งรวมสินค้าแบรนด์แฟชั่นจากห้างสรรพสินค้าดังในประเทศเกาหลี สินค้าไลฟ์สไตล์ แต่งบ้าน กระเป๋า รองเท้า และกิฟต์ช้อป เข้ามาเปิดให้บริการบริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ เพลส ซึ่งเป็นอาคารต่อเนื่องกับพาราไดซ์พาร์ค ชูจุดขายราคาสินค้าเริ่มต้นเพียง 9 บาท เหมาะกับเศรษฐกิจยุคโควิดอย่างยิ่ง

เพราะด้านหนึ่งต้องการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา และลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่นิยมสินค้าไลฟ์สไตล์ในราคาถูก อีกด้านหวังสร้างความคึกคักและดึงผู้คนเข้ามาใช้บริการต่อเนื่องในพาราไดซ์พาร์ค ซึ่งยังเน้นจุดยืนความเป็นห้างระดับพรีเมียม

ต้องยอมรับว่า กรณี “โตคิว พาราไดซ์พาร์ค” เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทำให้เอ็มบีเคกลับมาทบทวนกลยุทธ์หลายรอบ เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 กลุ่มโตคิวออกมาเปิดเผยถึงการร่วมทุนกับบริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด ในเครือบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และทุ่มงบลงทุนรวม 400 ล้านบาท เช่าพื้นที่มากถึง 13,000 ตารางเมตร ผุดห้างสรรพสินค้าโตคิว สาขาพาราไดซ์พาร์ค แยกออกจากห้าง โตคิว สาขาเอ็มบีเค โดยหมายมั่นให้ห้างสายพันธุ์ญี่ปุ่นระดับพรีเมียมแบรนด์โตคิวเป็นแม็กเน็ตทรงพลังดึงดูดกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงที่กำลังขยายตัวในเขตพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ถึงขั้นสร้างเดสทิเนชันการช้อปปิ้งสู้คู่แข่ง ทั้งซีคอนสแควร์และเซ็นทรัล

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีนับตั้งแต่กลุ่มเอ็มบีเคและสยามพิวรรธน์เข้ามาบริหารศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ต้องพลิกกลยุทธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามชูความเป็นศูนย์การค้าระดับบนให้แตกต่างจาก “ซีคอนสแควร์” ที่เน้นความใหญ่ด้านขนาดพื้นที่ ความหลากหลาย และจับกลุ่มลูกค้าทั่วไประดับกลาง โดยเร่งสรรหาแม็กเน็ตที่มีจุดขายเฉพาะและจับกลุ่มกำลังซื้อสูง เช่น การริเริ่มสร้างเสรีมาร์เก็ต ตลาดสดเกรดเอ เน้นสินค้าคุณภาพ ร้านอาหารที่ไม่ได้หารับประทานในฟู้ดคอร์ตทั่วไป รวมถึงระดมร้านค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ปรากฏว่ามีหลายร้านหลายแบรนด์ไม่โดนใจกลุ่มเป้าหมายจนต้องยกเลิกพื้นที่เช่า

ช่วงปลายปี 2557 เอ็มบีเคและสยามพิวรรธน์ตัดสินใจลงทุนกว่า 1,100 ล้านบาท เปิดโครงการ “HaHa” เนื้อที่กว่า 8 ไร่ เชื่อมต่อกับพาราไดซ์พาร์ค เพื่อเป็นศูนย์รวมสีสันของชีวิต ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สยามสแควร์แห่งกรุงเทพฯ ตะวันออก” โลกแห่งแฟชั่นทันสมัยจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่และสร้างแหล่งสถาบันกวดวิชาชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในย่านกรุงเทพฯ ตะวันออก เจาะฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา และเน้นกลุ่มวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อสูง

ทว่า HaHa ดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง บริษัทประกาศปรับเปลี่ยนเป็น Paradise Place เพื่อสร้างความต่อเนื่องกับพาราไดซ์พาร์ค ภายใต้แนวคิดการสร้างพื้นที่ความสุขแห่งใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบกิน ช้อป และพร้อมเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน ตัวอาคารถูกดีไซน์และตกแต่งสไตล์ Modernist เพิ่มความทันสมัยมากขึ้น

ปัจจุบันพื้นที่ภายในพาราไดซ์ เพลส แบ่งเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซน Shop & Dine Zone ร้านค้า ไลฟ์สไตล์ เกม ของเล่น เสื้อผ้า ร้านอาหาร ศูนย์บริการเซอร์วิสแบบครบวงจร โดยมี เคดู โคเรีย มอลล์ เป็นแม็กเน็ตชิ้นล่าสุด เปิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนโซนที่ 2 Education Zone ยังคงคอนเซ็ปต์การเป็นศูนย์รวมสถาบันการศึกษา และโซนที่ 3 เป็น Office Zone พื้นที่ Working Space

ด้านศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ซึ่งโตคิวคืนพื้นที่มากถึง 13,000 ตร.ม.นั้น บริษัทดึงกลุ่มรีโนวา กรุ๊ป ผู้บริหารโครงการแนวใหม่ เข้ามาเปิดศูนย์สุขภาพและไลฟ์สไตล์ โอทู (O2) ตามเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง ชูจุดขายแหล่งรวมอาหารเพื่อสุขภาพ ผัก ผลไม้ออร์แกนิก สำหรับคนรักสุขภาพ ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซน FARM ประกอบด้วย Organic Village, Amazing Thai Food และ Healthy 4 ภาค เน้นจุดขายหลัก “ไร้ผงชูรส”

โซน FUN ประกอบด้วย Yong @ Heart, Variety Zone และ 3. โซน Event ประกอบด้วยกิจกรรมอีเวนต์เกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ตลอดทั้งปี รวมมากกว่า 300 ร้าน

ขณะเดียวกันดึงร้านค้าต่างๆ เน้นความหลากหลายไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่ม Food & Beverage, Sport & Travel, Service & Support, Living & Lifestyle, Edutainment & Training, Kids Zone, Jewelry & Gold, Beauty & Health, Fashion & Accessories, Pet & Garden และ Money Park โดยมีแบรนด์แม็กเน็ตหลัก เช่น ตลาดเสรีมาร์เก็ต วิลล่ามาร์เก็ต โฮมโปร สปอร์ตเวิลด์ H&M ร้าน Loft สถาบันภาษา AUA Language Center โรงเรียนดนตรียามาฮ่า โรงเรียนดนตรีเปียโนฟอร์เต้ สถาบัน Bangkok Dance ศูนย์ Baby Genius ศูนย์วิทยาศาสตร์ I-SCI สถาบัน King Math

นอกจากนี้ เสริมกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ดัง เช่น Gyu-ya Yakiniku, Amazon café, Bennabe Suki, Coco Mom, F café & FTV Cosmetic

หากพิจารณาคอนเซ็ปต์ของพาราไดซ์พาร์คและพาราไดซ์เพลสแล้ว เอ็มบีเคยังต้องการคงเอกลักษณ์ความเป็นเอ็กซ์คลูซีฟของทั้งสองศูนย์ เพื่อเจาะตลาดนิชมาร์เก็ตและกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะการเกาะเทรนด์สุขภาพและสินค้าสำหรับผู้สูงวัย สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นซีคอนสแควร์ เมกาบางนา รวมถึงแบงค็อกมอลล์ (Bangkok Mall) ของกลุ่มเดอะมอลล์ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในช่วงปลายปี 2563 และจะกลายเป็นเดสทิเนชันแห่งใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ แบงค็อก มอลล์ ถือเป็นโครงการศูนย์การค้าแบบรีจีนัลมอลล์ มีพื้นที่โครงการทั้งหมด 100 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวมราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งเดอะมอลล์กรุ๊ป

ภายในโครงการประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม อาคารที่อยู่อาศัยให้เช่าหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงานให้เช่า จะเป็นโครงการแบบ City within the City หรือเมืองในเมืองที่สมบูรณ์แบบ พื้นที่รวมทั้งโครงการมากกว่า 8 แสน ตร.ม. หากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ไล่ดูเฉพาะพื้นที่ในส่วนศูนย์การค้ามีห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ 80,000 ตารางเมตร โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ 15 โรง แบงค็อก อารีนา ฮอลล์ แสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิง ความจุ 16,000 ที่นั่ง สวนสนุก พื้นที่ 30,000 ตารางเมตร และสวนน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร

ดังนั้น ทั้งซีคอนสแควร์ เมกาบางนา เซ็นทรัล และพาราไดซ์พาร์ค ต่างเร่งเตรียมความพร้อมเต็มที่ เพราะทันทีที่แบงค็อกมอลล์เปิด ตัวสงครามค้าปลีกย่านกรุงเทพฯ ตะวันออกจะร้อนเดือดขึ้นอีกหลายเท่า และชื่อชั้นระดับยักษ์ค้าปลีก ไม่มีใครยอมใครแน่

กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า-ศูนย์อาหารเครือ MBK

๐ MBK Center ศูนย์การค้าครบวงจร Concept “One Stop Shopping” เนื้อที่กว่า 23 ไร่ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 20 ชั้น โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส 29 ชั้น และอาคารศูนย์การค้า 8 ชั้น โดยธุรกิจค้าปลีกมีพื้นที่กว่า 140,000 ตร.ม. บริหารงานโดย บริษัทเอ็มบีเค จำกัด (มหาชน)

๐ พาราไดซ์พาร์ค เนื้อที่ 23 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร สถานศึกษา สำนักงาน โรงภาพยนตร์ บริหารงานโดย บริษัท พาราไดซ์พาร์ค จำกัด พื้นที่รวม 280,884 ตร.ม.

๐ พาราไดซ์เพลส เนื้อที่ราว 8 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร สถานศึกษา สำนักงาน บริหารงานโดย บริษัท พาราไดซ์เพลส สวนหลวง จำกัด พื้นที่ทั้งหมด 43,920 ตร.ม.

๐ เดอะไนน์เซ็นเตอร์ คอมมูนิตี้มอลล์แห่งแรกบนถนนพระราม 9 ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงาน 9,306 ตร.ม. และพื้นที่ค้าปลีก 15,231 ตร.ม. ดำเนินกิจการโดย บริษัท เดอะ ไนน์เซ็นเตอร์ จำกัด

๐ Food Legends ศูนย์อาหารบริหารงานของ บริษัท เอ็ม บีเค ฟู้ด ไอแลนด์ จำกัด มี 2 สาขา สาขาแรก MBK Center และสาขา 2 อยู่ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ แนวคิด “Capital Street Food of Bangkok” ศูนย์รวมอาหารระดับ ตำนานสามย่าน เยาวราช และสะพานเหลือง มีพันธมิตรร้านค้าระดับตำนาน เช่น ไฮเช็งลูกชิ้นปลา เพ้ง ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ครัวอัปสร เช็งซิมอี้ ราดหน้า 40 ปี ทูเดย์สเต็กสามย่าน

๐ ศูนย์การค้ากลุ่มสยามพิวรรธน์ บมจ. เอ็มบีเคถือหุ้นในบริษัทสยามพิวรรธน์ สัดส่วน 48.66% ล่าสุด ลงทุนศูนย์การค้ารวม 5 แห่ง ได้แก่ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี สยามพารากอน ไอคอนสยาม และ สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต กรุงเทพ

 

 

ใส่ความเห็น