เจ้าตลาดคอนวีเนียนสโตร์ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” กำลังเปิดสงครามยุค New Normal ชนิดเกาะติดกลุ่มเป้าหมายแบบบุกถึงบ้าน ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ บางสาขาจัดเต็มให้พนักงานส่งสินค้าตามตลาดและชุมชน เพื่อเร่งผลักดันยอดขาย หลังเจอพิษ “โควิด-19” ช่วงล็อกดาวน์ฉุดรายได้ติดลบ
ที่สำคัญ ในช่วงจังหวะเดียวกันนั้นคู่แข่งเบอร์ใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ประกาศซื้อหุ้นในบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด (CFM) ที่บริษัท Japan FamilyMart Co., Ltd. (JFM) ถือหุ้นที่เหลืออยู่ 49% กลายเป็นเจ้าของกิจการร้านแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทยเบ็ดเสร็จ 100% ซึ่งคาดว่า กลุ่มเซ็นทรัลพร้อมลุยศึก โดยอาศัยความแข็งแกร่งของบริษัทลูกในเครือทั้งหมด เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งให้ได้มากที่สุด
นายเกรียงชัย บุญโพธิอภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร กล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในสาขาของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นลดลง แม้ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 145,856 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.2% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อจากสาขาใหม่ที่เปิดในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งรายได้ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
แต่มาตรการคุมเข้มต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการประกาศเคอร์ฟิวและมาตรการกระตุ้นให้ผู้คนหยุดอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบทางลบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้กำไรสุทธิรวม 5,645 ล้านบาท ลดลง 2.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเติบโตในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย โดยธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 82,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพียง 2,112 ล้านบาท หรือ 2.6%
ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมติดลบ 4% มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 78,872 บาท ยอดซื้อต่อบิล 70 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,122 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,187 คน
ซีพี ออลล์ จึงเดินหน้าทุ่มงบปรับกลยุทธ์และเดินหน้าขยายสาขาเพื่อสกัดคู่แข่ง โดยเตรียมเม็ดเงิน 11,500-12,000 ล้านบาท เพื่อขยายร้าน 700 สาขา ตามเป้าหมายภายในปี 2564 จะมีสาขาทั้งหมด 13,000 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 11,983 สาขา แบ่งเป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ 44% ต่างจังหวัด 56% และส่วนใหญ่เป็นร้านสแตนด์อะโลน 85% ที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
เพราะหากประเมินทิศทางผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ยอดขายมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก เนื่องจากตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ภาครัฐลดการขายแอลกอฮอล์และยกเลิกเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมยอดขาย
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เซเว่น-อีเลฟเว่นต้องงัดไม้เด็ดทุกรูปแบบ
ด้านหนึ่งดึงลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น อีกด้านเพิ่มยอดการสั่งซื้อสินค้าผ่านบริการเดลิเวอรี่
มีการระดมแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งแคมเปญแลกซื้อสินค้าราคาพิเศษ ซื้อ 2 ชิ้นราคาถูกกว่า ซื้อ 2 แถม 1
อัดกลยุทธ์แจกคูปองลดราคาสินค้าผ่านไลน์แอปพลิเคชันทุกวัน จัดสินค้ายกลังราคาพิเศษ มีแคมเปญสะสมคะแนนแลกส่วนลดเงินสด หรือแลกสินค้าพรีเมียม โดยเพิ่มสิทธิพิเศษเมื่อชำระผ่าน TrueMoney Wallet เพื่อลดการสัมผัส และลดยอดเงินขั้นต่ำในการชำระผ่านบัตรเครดิตจากเดิม 300 บาท เหลือ 100 บาท
ที่ผ่านมา เซเว่นฯ ยังเสริมรายการ ‘ช่วยคนไทยลดค่าครองชีพ’ ภายใต้โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน จัดข้าวกล่องพร้อมรับประทานราคาพิเศษ กล่องละ 20 บาท จำนวน 6 เมนู ได้แก่ ข้าวผัดไก่ ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ ข้าวลาบไก่ ข้าวผัดเผ็ดหน่อไม้ไก่ ข้าวไก่กระเทียม และข้าวกะเพรามังสวิรัติ ถ้าซื้อเหมา 5 กล่อง ชำระด้วย TrueMoney Wallet ผ่าน 7App (เซเว่นแอป) จะได้รับส่วนลดอีก 5 บาท เหลือ 95 บาท และได้รับแต้ม ALL Member จำนวน 50 แต้มทุกกล่อง
ที่สำคัญ ชูบริการเดลิเวอรี่ส่งฟรีทุกออเดอร์ เมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน 7-ELEVEN Delivery ขั้นต่ำ 100 บาท โดยอาศัยเครือข่ายสาขาที่มีทั่วทุกจุดชุมชน ลูกค้าสามารถเลือกจ่ายผ่าน TrueMoney Wallet หรือชำระปลายทาง และใช้เวลาส่งไม่เกิน 30 นาที รวมถึงการส่งพนักงานเชิญชวนซื้อสินค้าโปรโมชั่นต่างๆ ชนิดลุยประชาสัมพันธ์ในตลาดและชุมชนใกล้เคียงกับร้านในแต่ละสาขา
ด้าน “แฟมิลี่มาร์ท” ซึ่งก้าวเข้ามาอยู่ในอาณาจักรกลุ่มเซ็นทรัล 100% มีความเคลื่อนไหวเข้มข้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี เพื่อปูแผนรุกตลาดเต็มรูปแบบ
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวถึงการบริหารธุรกิจร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท เน้นนโยบายสำคัญ คือการพัฒนาโมเดลและตอกย้ำการเป็น Lifestyle & Food Destination เพิ่มเมนูอาหารพร้อมรับประทาน นำสินค้าประเภทอาหารสดจากร้านค้าที่บริหารโดยเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ปเข้ามาขาย เช่น ข้าวกล่องจากร้านเดอะเทอเรซ มิสเตอร์โดนัท เครื่องดื่มและกาแฟสด Arigato มีพื้นที่ Open Space สำหรับพบปะสังสรรค์หรือทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ แฟมิลี่มาร์ทพยายามพัฒนาโมเดลสาขา เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างตามทำเลต่างๆ เช่น การเปิดสาขาในศูนย์การค้า ในย่านธุรกิจและแหล่งรวมพนักงานออฟฟิศ เพิ่มสินค้ากลุ่มอาหารมากถึง 90% โดยร่วมกับไทยยามาซากิและเบทาโกรผลิตเมนูแซนด์วิชหลากหลายชนิด เพิ่มอาหารกลุ่มโอเด้งภายใต้แบรนด์ “ฮานะจัง”
หรือการเปิดสาขาป่าตองบีชภายใต้คอนเซ็ปต์ Convenience Store On The Beach เพิ่มสินค้าของที่ระลึก ชุดว่ายน้ำ อุปกรณ์ชายหาด และเพิ่มจุดแฮงก์เอาต์เป็นจุดถ่ายรูปให้ลูกค้าชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา แฟมิลี่มาร์ทงัดบริการสะดวกซัก 24 ชั่วโมงด้วยเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตามด้วยการเปิดตัว 2 โมเดลใหม่ ได้แก่ แฟมิลี่มาร์ทคอนเทนเนอร์ (Food Drink Container Mart) และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) นอกจากนี้ จับมือกับ Grab Thailand ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าที่แฟมิลี่มาร์ทให้ส่งตรงถึงบ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน GrabMart เพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตร The 1 ในเครือเซ็นทรัล และจัดโปรโมชั่นราคาสินค้าร่วมกับท็อปส์ซูเปอร์ในรูปแบบต่างๆ
ปัจจุบันแฟมิลี่มาร์ทมีสาขารวม 1,000 สาขา ซึ่งตามแผนระยะยาววางเป้าหมายขยายให้ได้ 3,000 สาขาทั่วประเทศ
ทว่า ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่และกลุ่มเซ็นทรัลไม่ได้มองแค่ตลาดคอนวีเนียนสโตร์ แต่เป็นความพยายามจัดทัพเพื่อสู้ศึกรอบใหม่ โดยเฉพาะเมื่อค่ายซีพีฮุบกิจการเทสโก้โลตัส สงครามค้าปลีกย่อมก่อตัวดุเดือดขึ้นอีกหลายเท่าแน่
28 ปี Family Mart เซ็นทรัลฮุบเบ็ดเสร็จ
“แฟมิลี่มาร์ท” มีกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นในเครือเซซันกรุ๊ป ซึ่งเป็นเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทในเครือ คือห้างสรรพสินค้าเซบุ เป็นผู้นำห้างสรรพสินค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ร้านซูเปอร์สโตร์เซยู ผู้นำในวงการซูเปอร์สโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ต
แฟมิลี่มาร์ทมีจุดเริ่มต้นเมื่อเซยูซูเปอร์มาร์เก็ตมีแนวคิดลดขนาดพื้นที่ขายให้เหลือ 100 ตารางเมตร โดยเผยโฉมร้านสาขาแรกในปี 2518
ปี 2524 เซยูเปลี่ยนการดำเนินการร้านแฟมิลี่มาร์ท 86 สาขาให้อยู่ภายใต้การดูแลของ FamilyMart Co.,Ltd. และขยายสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น พร้อมๆ กับรุกสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ ทั้งการร่วมทุนและขายสิทธิ์การทำธุรกิจแฟมิลี่ ปัจจุบันมีสาขาในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย จีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และอินโดนีเซีย จำนวนมากกว่า 15,000 สาขา
สำหรับประเทศไทยนั้น แฟมิลี่มาร์ทเข้ามารุกตลาดร้านสะดวกซื้อเมื่อปี 2535 โดยการร่วมลงทุนของ 4 พันธมิตร ภายใต้ชื่อบริษัท Siam FamilyMart Co., Ltd ประกอบด้วย บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ในเครือเซซัน กรุ๊ป บริษัท อิโตชู ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน)
ปี 2536 ปักหมุดสาขาแรกในกรุงเทพฯ ย่านพระโขนง และขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่ง วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในกลุ่มเซ็นทรัล ลงนามสัญญาเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด จำนวน 50.29% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทย โดยเปลี่ยนชื่อบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด เป็น บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ซึ่งในขณะนั้นนายทศ จิราธิวัฒน์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ประกาศเตรียมงบลงทุนเปิดสาขาใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเปิดร้านสาขาให้ครบ 1,500 สาขา ภายใน 5 ปี และ 3,000 สาขา ภายใน 10 ปี
และล่าสุด วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำนวน 49% จากแฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นเจ้าของแบบเบ็ดเสร็จ โดยแฟมิลี่มาร์ทในไทยมีสถานะเป็นเพียงแฟรนไชส์ของบริษัทแม่ญี่ปุ่น ไม่ใช่บริษัทร่วมทุน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท เอสเอฟเอ็ม โฮลดิ้ง (SFMH) ในเครือเซ็นทรัล สัดส่วน 50.65% เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล 49% และบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) 0.35%