วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > โควิด-19 พิษร้ายซึมลึก เศรษฐกิจไทยอ่วมถึงฐานราก

โควิด-19 พิษร้ายซึมลึก เศรษฐกิจไทยอ่วมถึงฐานราก

นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ได้อุบัติขึ้นในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา มนุษยชาติได้ตระหนักแล้วว่า พิษสงของเชื้อร้ายชนิดนี้ไม่ใช่แค่มีความสามารถในการทำลายอวัยวะภายในที่เป็นส่วนสำคัญในการทำงานของร่างกายมนุษย์เท่านั้น

แต่ทว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้กลับแทรกซึมเข้าไปทำลายได้ถึงฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส

แม้ว่าประเทศไทยและคนไทยจะเคยผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจมานักต่อนัก ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกของไทย ที่เกิดจากการเปิดตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2518 จากนั้นตลาดหุ้นเริ่มพังทลายในปี 2521 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหายด้วย ทำให้เงินไหลออกจากระบบ ทำให้สภาพคล่องเสียหาย ต้องลดค่าเงินบาท ทางการต้องเข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์ และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 4 เมษายน 2527 เอกชนล้มลง เกิดหนี้เสียจำนวนมาก คนตกงานมาก เงินเฟ้อสูงและต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งแรก

และวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ของประเทศไทย เกิดจากการนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้นในเดือนตุลาคม 2536 ทำให้ Hedge Fund ลากตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทิ้งในต้นปี 2537 ที่ 1,750 จุด ตลาดหุ้นพังทลายต่อมารุนแรง มีการบังคับขายหุ้นของนักลงทุนท้องถิ่นอย่างทารุณ ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ทำให้เงินไหลออกจากระบบ สภาพคล่องเสียหายต้องปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท ภาครัฐต้องสั่งยุติการดำเนินงานถาวรของ 54 สถาบันการเงิน ที่รู้จักกันในชื่อโครงการ 14 สิงหาคม 2541 เอกชนล้มลงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก คนตกงานมากขึ้น ภาวะเงินเฟ้อสูง ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2

วิกฤตครั้งที่ 3 ที่หลายคนรู้จักกันดีในช่วงปี 2540 คือ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือที่คนไทยเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เกิดจากภาครัฐเปิดเสรีด้านการเงินให้ต่างประเทศเข้ามามากเกินไป ทั้งการลงทุนที่แท้จริงและการเก็งกำไรเพื่อความฝันที่จะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงจนเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาการอนุมัติสินเชื่อหละหลวมในภาคสถาบันการเงิน ประกอบกับปัญหาการต่อสู้ค่าเงินจนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทบไม่เหลือ

10 ปีต่อมา เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ที่สหรัฐอเมริกา สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก คนไทยเรียกวิกฤตครั้งนี้ว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ซึ่งวิกฤตนี้เกิดจากสถาบันการเงินขาดการรัดกุมในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มลูกค้าด้อยคุณภาพและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้ซื้อขายสินเชื่อประเภทนี้ได้สะดวก ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นฟองสบู่ขนาดมหึมา

แม้ว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เกิดในสหรัฐฯ ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่วิกฤตเศรษฐกิจทั้งสามครั้งก่อนหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน ซึ่งสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนระดับบนถึงระดับกลาง และใช้เวลาในการฟื้นฟูไม่นานนัก

แต่ความแตกต่างของวิกฤตครั้งนี้คือ ความเลวร้ายของเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้ส่งผลเพียงเฉพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่กลับสร้างหายนะให้ขยายวงกว้างไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ไล่เรียงตั้งแต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การส่งออก การค้าการลงทุน ธุรกิจขนาดใหญ่ถึงขนาดเล็ก

พิษร้ายของโควิด-19 แทรกซึมเข้าทำลายระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับบนจนถึงฐานราก ประชาชนทุกชนชั้นไม่อาจหลีกหนีเชื้อไวรัสนี้ได้ และนี่เองเป็นผลที่ทำให้ผลของวิกฤตครั้งนี้ยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมในเร็ววัน

ภาวะเศรษฐกิจของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีปัจจัยลบอยู่รอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า หรือปัจจัยภายในอย่างปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รวมไปถึงภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่พุ่งสูงขึ้น

หากพิจารณาจากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้แถลงตัวเลขหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3/2562 ว่ามีมูลค่าสูงถึง 13.24 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 ขณะที่การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาพรวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับปี 2561 ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.2

ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์โดยพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมเดิม เช่น ปัญหาภัยแล้ง ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะมีการขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5

การคาดการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเงื่อนไข ณ ปัจจุบันขณะ ซึ่งในเวลานั้น คงยังไม่มีใครนึกภาพการขยายวงการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสได้ออก ทว่าเวลานี้ภาพความทุกข์ยากของประชาชนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่หยุดดำเนินกิจการ เช่น โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจนำเข้าส่งออก ธุรกิจขนาดเล็ก ร้านรวงปิดประตูหยุดให้บริการ และบางกิจการถึงขั้นประกาศขาย เลิกดำเนินธุรกิจ กลายเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่ได้อยู่ในภาวะชะลอตัวอีกต่อไป

เมื่อสภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีไทยติดลบ 1.8% เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งไทยและทั่วโลก กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐในไตรมาสแรกน้อยลง การบริโภคภาคเอกชนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562

โดยสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบหนักสุดในไตรมาส 2 และคาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3 และในไตรมาส 4 สามารถพลิกกลับมาได้ และหวังว่าในปี 2564 จะมีวัคซีนออกมา ซึ่งจะช่วยให้โลกกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

จุดอ่อนของไวรัสโควิด-19 คือ ไม่สามารถทำลายผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือผู้ที่มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นทุนเดิมได้ เช่นเดียวกันกับธุรกิจที่ต้องประสบกับวิกฤตเชื้อไวรัสในครั้งนี้ หากมีสายป่านยาว หรือมีทุนสำรอง สามารถฟื้นกลับมาได้ในอนาคตหากการแพร่ระบาดได้สิ้นสุดลง

แต่หากเป็นผู้ที่ไม่มีภูมิสภาพการเงิน สภาพคล่องทางธุรกิจไม่มี เป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้งประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ เช่น การเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน

แม้แบงก์ชาติจะออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สินจากภาวะโควิด-19 โดยให้สถาบันการเงินผ่อนปรนการชำระหนี้ในระยะเวลา 3-6 เดือน ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินก็มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแตกต่างกันไป

ทว่า หากเป็นสถาบันการเงินเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์กลับไม่ได้เอื้ออำนวยความสะดวก หรือมีมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แม้แบงก์ชาติจะออกซอฟต์โลน เพื่อให้สถาบันการเงินเอกชนมากู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้าของสถาบันการเงินอีกทอดหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดแล้วกลุ่มลูกหนี้ของสถาบันการเงินเอกชนเหล่านี้กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือมาตรการพักชำระหนี้อย่างที่ควรจะเป็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในไทยปัจจุบัน และดัชนีภาวะเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากจากเครื่องชี้ด้านรายได้และการออมที่ยังคงปรับตัวแย่ลง อย่างไรก็ตาม ค่างวด (ภาระหนี้สิน) ของครัวเรือนปรับตัวลดลงจากอานิสงส์ของมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาส 3/2563 ยังเผชิญความเสี่ยงสูง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจะลดลงมาอยู่ที่หลักหน่วย และมีการทยอยคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไปบ้างแล้ว

แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวทางธุรกิจภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคมอาจจะใช้ระยะเวลาเป็นปี ขึ้นอยู่กับการคิดค้นวัคซีนและการผลิตที่เข้าถึงประชากรหมู่มาก ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ

เศรษฐกิจตกต่ำถึงขั้นติดลบ ภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น การจ้างงานลดลง ปัญหาภัยแล้ง อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ปัญหามากมายที่เป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คงต้องรอดูกันต่อไปว่า คนไทยจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างไร และเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวโดยใช้เวลาอีกนานแค่ไหน รวมไปถึงความเสียหายในเชิงระบบที่จะตามมา หนักหน่วงเพียงใด คำตอบนั้นคงอีกไม่นานเกินรอ

ใส่ความเห็น