วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เวิร์กฟอร์มโฮมดันสื่อทีวี ค่ายใหญ่อัดคอนเทนต์สู้

เวิร์กฟอร์มโฮมดันสื่อทีวี ค่ายใหญ่อัดคอนเทนต์สู้

มาตรการ Work from home อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ อย่างเข้มข้น ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยผลักดันสื่อทีวีเติบโตสูงขึ้น โดยมีผลวิจัยชี้ชัดว่า คนไทยใช้เวลาดูทีวีเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งชั่วโมงต่อวัน จากช่วงก่อนหน้าเฉลี่ย 4.03 ชั่วโมง เป็น 4.31 ชั่วโมง เรตติ้งเพิ่มสูงสุด จนทำให้ค่ายทีวียักษ์ใหญ่เร่งแข่งขันอัดคอนเทนต์ขนานใหญ่

ล่าสุด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังตัดสินใจขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 ได้แก่ การควบคุมการเข้าออกราชอาณาจักร ห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และงดการทำกิจกรรมในคนหมู่มาก เช่น ประชุม อบรม สัมมนา ทั้งในที่โล่งแจ้ง หรือจัดพิเศษ รวมทั้งยืนยันต้องคงมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮมต่อไป ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50%

แม้ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อออกมาตรการผ่อนปรน  8 ประเภทสถานที่ แต่มีเงื่อนไขเวลา และข้อกำหนดเข้มข้น หากไม่ปฏิบัติตาม มีอำนาจสั่งปิดได้ทันที ประกอบด้วย

1. ร้านอาหาร นั่งรับประทานที่ร้านได้ แต่ต้องจัดที่นั่งห่างกัน 1.5 เมตร และห้ามมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดตามเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

2. ตลาด และตลาดนัด ให้ขายสินค้าได้ทุกประเภท

3. สถานที่ออกกำลังกาย เป็นประเภทที่มีระยะห่างกัน รวมถึงศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร จะเปิดบริการให้เข้าไปออกกำลังกายได้เฉพาะกีฬาที่ไม่ใกล้ชิดกัน เช่น เดิน วิ่ง สนามแบดมินตัน เทนนิส เทเบิลเทนนิส ไม่อนุญาตกีฬาประเภททีม เช่น ฟุตบอล ซอฟต์บอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล กีฬาที่ต้องใกล้ชิดกัน

4. สวนสาธารณะ ให้เข้าใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนได้ แต่ห้ามจับกลุ่มสังสรรค์

5. ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย อนุญาตเฉพาะ ตัด สระ ไดร์ เท่านั้น และต้องหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชั่วโมง ให้จองคิวเข้ารับบริการ ไม่ให้นั่งรอในร้าน ช่างต้องใส่หน้ากาก และ Face Shield

6. ร้านตัดขนสัตว์ และคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ นำสัตว์เข้าร้านได้ 1 คน/1 ตัว เท่านั้น และหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชั่วโมง

7. โรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาล

8. สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อม

ที่สำคัญ การใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า New- normal ไม่เน้นทำกิจกรรมนอกบ้านเต็มที่ 100% จนกว่าวงการแพทย์คิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์อันตรายตัวนี้จนมีการใช้ในมนุษย์ได้ ทั้งวิถี Stay at home และ Work from home จะยังเป็นการดำเนินชีวิตหลักอีกยาวนาน ซึ่งหมายถึงโอกาสทองของสื่อทีวีและสื่อออนไลน์

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท นีลเส็น มีเดีย ประเทศไทย รายงานข้อมูลการจับจ่ายงบโฆษณาของประเทศพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงการบริโภคสื่อและเม็ดเงินโฆษณา หลังจากหลายธุรกิจออกมาตรการคุมค่าใช้จ่าย โดยภาพรวมตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีมูลค่า 10,136 ล้านบาท จาก 10,681 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ตัวเลขในเดือนเมษายนจะลดลงเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนไทยเกินกว่าครึ่งมองสถานการณ์โรคระบาดรอบนี้จะกินเวลานานกว่า 6 เดือน และการที่ผู้บริโภคมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้คนไทยใช้เวลาดูทีวีเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งชั่วโมงต่อวัน จากช่วงก่อนหน้าเฉลี่ย 4.03 ชม. เป็น 4.31 ชม. โดยกลุ่มคนที่มีอายุ 4-14 ปี มีอัตราผู้ชมทีวี เรตติ้งโตขึ้นสูงสุด 32% และใช้เวลาดูทีวีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50 นาทีต่อวัน และกลุ่มอายุ 50 ขึ้นไป ยังคงเป็นกลุ่มผู้ชมหลักของสื่อทีวี ใช้เวลาในการดูทีวีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 นาทีต่อวัน

เมื่อจำแนกตามอาชีพแล้ว นักเรียนและพนักงานออฟฟิศ มีอัตราผู้ชมทีวีเพิ่มขึ้นสูงสุด เรตติ้งโตขึ้น 28% และ 23% ใช้เวลาในการดูเพิ่มขึ้น 40 นาที และ 46 นาทีตามลำดับ

คอนเทนต์การรับชมพบว่า คนหันมาสนใจรายการข่าวเพิ่มขึ้น 11% ขณะที่รายการประเภทกีฬาลดลง 33%

นอกจากนี้ ค่าย Kantar (คันทาร์) บริษัทด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาด ระบุด้วยว่า สถานีข่าว เช่น ไทยรัฐทีวี, Nation TV และ MCOT HD มีเรตติ้งคนดูเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงช่องบันเทิงอย่างช่อง ONE31, MONO29 และ GMM25 โดยช่องทีวีที่มีผู้ดูอันดับแรกแยกตามเขตพื้นที่ เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ Nation TV พื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ ไทยรัฐทีวี และเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมดูช่อง MONO29

เวลานี้จึงเปรียบเสมือนช่วงจังหวะการแข่งขันแย่งชิงกลุ่มคนดูและสงครามประชันคอนเทนต์ ซึ่งทุกช่องต่างงัดจุดขายหลากหลายรูปแบบ

เริ่มจาก “ช่องวัน 31” ประกาศปรับกลยุทธ์ส่งผังเฉพาะกิจช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อัดทั้งสาระข่าวสารและความบันเทิงทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะละครที่ถือเป็นคอนเทนต์แม่เหล็ก เปิดตัวละครใหม่แนวโรแมนติกคอมมาดี้ “อุ้มรักเกมลวง” ที่มีนักแสดงตัวท็อปอย่าง กบ-สุวนันท์ พลิกคาแรกเตอร์มารับบทสาวแสบขี้วีน ประชันบทบาทกับพระเอก ป้อง-ณวัฒน์ ร่วมด้วย โดนัท-มนัสนันท์ ดอม เหตระกูล ออกอากาศทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 20.15 น. เริ่มวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ และรีรันละครดัง “พรหมไม่ได้ลิขิต” เพราะเป็นละครโรแมนติกดราม่าที่ได้รับความนิยมสูง

รายการข่าวมีการจัดสรรเวลาตั้งแต่เช้าถึงค่ำสลับกับละคร เริ่มต้นกับข่าวเช้าตรู่ช่องวัน และข่าวเช้าช่องวัน ตั้งแต่เวลา 05.30-7.50 น. ข่าวเที่ยงช่องวัน เวลา 11.00-12.30 น. ข่าวเย็นช่องวัน เวลา 16.30-18.00 น. และข่าวค่ำช่องวัน นอกจากนี้ มีข่าวช่องวันเสาร์-อาทิตย์ และ one update แทรกทุกช่วงเวลา รวมทั้งส่งรายการใหม่ “อยู่อย่างไรปลอดภัยโควิด-19” เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยถึงข้อมูลควรรู้ และการรับมือโควิด-19 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-10.20 น.

ด้านสถานีโทรทัศน์ช่อง MONO29 ยังเน้นจุดขายฟรีทีวีที่มีหนังดีซีรีส์ดังมากที่สุด และถือฤกษ์ดีวันครบรอบช่องฉลอง 7 ปี วันที่ 29 เมษายน ส่งซีรีส์จีนเรื่อง “ตงกง ตำนานรักตำหนักบูรพา (Goodbye My Princess)” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.20 น. รวมทั้งมีรายการข่าวสอดแทรกเช้าและเย็น โดยแบ่งสัดส่วนซีรีส์ต่างประเทศ 65-70% รายการข่าว 20-25% รายการละครไทยและสารคดี 10%

ช่อง 8 มีการปรับผังรายการ จัดทีมผู้ประกาศข่าว และเพิ่มรายการข่าวประเภทคอลัมน์ เช่น ทันคนทันข่าว, รู้ฟ้าทันฝน เพิ่มเนื้อหาสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ถึง 65% ในรูปแบบการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและมีการถามตอบในช่วงข่าว เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชม จัดออนแอร์ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ โดยเพิ่มความบันเทิงด้วยซีรีส์อินเดียแนวดราม่าแฟนตาซี เรื่องใหม่ “นาคิน แค้นรักนางอสรพิษ”

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านวาไรตี้ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ยังดำเนินรายการโทรทัศน์ตามแผนงานปกติ ซึ่งปกติแล้ว หากเป็นรายการใหม่ บริษัทมีสต๊อกเผื่อ 2 เดือน คือ ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม แต่ต้องเลื่อนกลุ่มรายการสดเพื่อจัดผังใหม่ หรืออาจเพิ่มรายการข่าวมากขึ้นและรีรันบางรายการ เช่น รีรันละครเรื่องใหญ่ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ซึ่งร่วมมือกับบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ที่เคยออกอากาศเมื่อปี 2558 มาออกอากาศซ้ำในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18:20 น.

สำหรับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการประชุมปรับเปลี่ยนโครงสร้างผังรายการใหม่ แต่เบื้องต้น หากเป็นรายการสด อาจสามารถรายงานจากข้างนอกสตูดิโอได้ หรือบางรายการอาจใช้วิธีรีรัน โดยยึดหลักเน้นความบันเทิงและข่าวสาร

อย่างไรก็ตาม สื่อทีวีต้องปรับตัวรองรับกรณีกลุ่มลูกค้าสปอนเซอร์ซื้อโฆษณาน้อยลง เพราะพิษผลกระทบ “โควิด-19” ซึ่งเห็นได้ชัดจากเม็ดเงินโฆษณาช่วงไตรมาสแรกรวมทุกสื่อ 22,748 ล้านบาท เติบโตติดลบ 2.8%

แม้สื่อทีวีได้เม็ดเงินโฆษณาในสัดส่วนมากสุด 71% รวม 16,201 ล้านบาท แต่มีอัตราเติบโตเพียง 1.9% จากปีก่อน และเมื่อแยกประเภทสื่อทีวี ได้แก่ ทีวีระบบอนาล็อก เนื่องจากมีกลุ่มผู้ดูขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ไตรมาสแรกยังกวาดเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในกลุ่มรวม 9,092 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% เติบโต 5.8% ดิจิทัลทีวี 6,718 ล้านบาท สัดส่วน 29% เติบโตติดลบ 1.8% และทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวี 390 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 1.7% เติบโตติดลบถึง 16%

แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่แค่การแข่งขันคอนเทนต์กับสื่อต่างค่ายเท่านั้น เนื่องจากต้องแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายจากสื่อออนไลน์ แต่ทั้งหมดถือเป็นโอกาสในช่วงวิกฤตที่ทุกวินาทีล้วนมีมูลค่าเม็ดเงินทั้งสิ้น

ใส่ความเห็น