นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 โรคใหม่ที่อุบัติทั่วโลกในขณะนี้ สร้างความหวั่นวิตกต่อผู้คนไปทุกหย่อมหญ้าและทุกระดับชนชั้น การมองหาต้นสายปลายเหตุของโรคยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ทว่า ความหวาดกลัวต่อโรคระบาดที่ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 40,000 คน ส่งผลให้ผู้คนมองหาที่พึ่งแม้จะไม่ใช่ปราการปกป้องหรือสกัดกั้นการมองเห็นตัวตนจากเชื้อไวรัส หากแต่เป็นความรู้สึกอุ่นใจทั้งต่อตัวเอง และคนในครอบครัว
ธุรกิจประกันภัยเล็งเห็นช่องทางที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จึงผุดไอเดียที่สร้างความสนใจแก่ผู้คนให้หันมาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ไม่น้อย
สถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจประกันชีวิตในปี 2562 เข้าสู่สภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ เมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งปัจจัยด้านการเงิน การลงทุน รวมไปถึงกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเริ่มใช้ในปีนี้
หากแต่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ธุรกิจประกันภัยใช้วิกฤตนี้กอบกู้สถานการณ์ แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้นก็ตาม
สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา มียอดขายประกันภัยโควิด-19 ทั้งระบบประมาณ 2 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท และมีบริษัทประกันที่ได้รับความเห็นชอบแบบกรมธรรม์จำนวน 25 บริษัท
ขณะสิ่งที่สังคมกังวลคือ หลังจากมีกรมธรรม์โควิด-19 ออกมาคุ้มครองผู้เอาประกัน อาจจะมีผู้ที่จงใจนำตัวเองไปรับเชื้อหรือเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือบุคคลที่น่าจะติดเชื้อ เพื่อหวังจะได้รับเงินประกัน เมื่อซื้อประกันในรูปแบบ “เจอจ่ายจบ”
ซึ่ง คปภ. อธิบายว่า การใช้สิทธิ์ต้องใช้ด้วยความสุจริต หากเกิดกรณีการใช้สิทธิ์ที่ไม่สุจริต คือ ทุจริต ประมาท เลินเล่อ ในกรณีนี้ หากบริษัทประกันตรวจพบจะไม่รับผิด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน และการอนุมัติเห็นชอบกรมธรรม์ใหม่ คปภ. จะพิจารณาอย่างเข้มงวดมากขึ้น
การเติบโตของจำนวนกรมธรรม์ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาระบาดยังเป็นคำถามที่น่าสงสัย เมื่อภาครัฐออกประกาศอย่างชัดเจนว่า หากมีผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ไม่ว่าจะกลับจากประเทศเสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อและได้แจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้รับการดูแลรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กระนั้นเหตุใดประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงซื้อประกันภัยโควิด-19
หลายเหตุผล ทั้งความกังวลต่อสวัสดิภาพชีวิต หากไม่สามารถหายจากเชื้อไวรัสนี้ได้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งทายาท และครอบครัวจะไม่ลำบากเมื่อมีทุนประกันในกรณีเสียชีวิต หรือความกังวลว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น จนโรงพยาบาลรัฐไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เงินประกันจะช่วยเป็นค่ารักษาพยาบาลในกรณีดังกล่าวได้
แม้ในระยะแรกที่เชื้อโควิด-19 เริ่มระบาดหนักในไทย และกรมธรรม์โควิด-19 เพิ่งเกิดขึ้น รูปแบบของกรมธรรม์ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่ “เจอจ่ายจบ” แต่หลังจากหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าจะมีกรณีที่ผู้เอาประกันอาจจะทำประกันเพื่อมุ่งหวังการเคลมเงินประกัน และซื้อกรมธรรม์หลายฉบับ
บริษัทประกันภัยจึงได้ปรับเปลี่ยนแบบแผนกรมธรรม์ไปเป็นรูปแบบของค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน รวมไปถึงกรณีที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสดังกล่าว
“ช่วงระยะแรกคนมาซื้อกรมธรรม์กันมากพอสมควร แต่เริ่มซาลงไปบ้างแล้ว” เจ้าหน้าที่ธนาคารกล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โรคโควิด-19 จะสร้างสถิติใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัย ด้วยยอดขายกรมธรรม์ที่มีแนวโน้มแตะระดับ 2.3 ล้านฉบับภายในเดือนมีนาคม และจะทำลายสถิติประกันภัย 10 บาท ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 ที่ทำไว้ 1.3 ล้านฉบับ ซึ่งทำให้โควิด-19 เป็นตัวช่วยจุดกระแสความตื่นตัว การยอมรับ และความคุ้นเคยต่อการซื้อประกันรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัลและสาขา
อย่างไรก็ดี อัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐานเฉลี่ยที่ 0.5-1.0% ของทุนประกัน หรือประมาณ 500-1,000 บาท/ความคุ้มครอง 1 แสนบาท ทำให้แม้จะมีผู้สนใจซื้อประกันรวมสูงถึง 2.3 ล้านราย แต่เบี้ยประกันรับรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.20-0.35% ของเบี้ยรับรวม 8.55 แสนล้านบาท (รวมทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต) จากอุตสาหกรรมประกันชีวิตและวินาศภัยในปี 2562 ดังนั้น ประกันโควิด-19 จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดประกันได้ในระยะนี้ ขณะที่คงต้องยอมรับว่าภาพรวมธุรกิจประกันทั้งปี ยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่สูงขึ้นในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเหตุใดบริษัทประกันภัยถึงอาจหาญออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทประกันภัยเผชิญกับความเสี่ยงได้ในอนาคต แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Chutima Pukbanyang ได้โพสต์แนวคิดที่น่าสนใจว่า “บริษัทประกันจะมีการทำดัชนีในกรณีที่เลวร้ายที่สุดขึ้นมา (Worst Case) โดยอิงจากสถิติที่เกิดขึ้นจริง โดยหาค่าเฉลี่ยและคำนวณตามอัตราก้าวหน้าต่างๆ เช่น จีน มีผู้ติดเชื้อประมาณ 8 หมื่นราย ถอดดัชนีในจีน คือ เมืองอู่ฮั่นมีประชากรประมาณ 12 ล้านคน ประชากรติดเชื้อไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ หากถอดสมการจะได้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จีนประมาณ 0.67 เปอร์เซ็นต์
“บริษัทประกันออกผลิตภัณฑ์โควิด-19 ขึ้นมา โดยเอาตัวเลขดัชนีเหล่านี้มาคำนวณ เช่น ในไทย ตัวเลขผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อจากดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 แสนคน ในขณะที่ผู้ที่มีกำลังซื้อและเข้าถึงประกันได้อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคน หากคำนวณจำนวนคนที่น่าจะซื้อประกันจากจำนวนผู้ที่เข้าถึงประกันได้คือ 1 เปอร์เซ็นต์ จะพบว่า อาจมีจำนวนคนซื้อตั้งแต่ 3-6 แสนคน
“ขณะที่ค่าประกันเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาท คูณด้วยจำนวนประชาชนที่จะซื้อประกัน 300,000 คน น่าจะทำให้มีเงินสะพัดในระบบประกันภัย 150 ล้านบาท”
เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนของตัวเลขเงินค่าเบี้ยประกันแล้ว จำนวนเงินค่าเบี้ยประกันเพียงหลักร้อย และระดับการคุ้มครองหลักแสน บริษัทประกันภัยย่อมคำนวณแล้วว่า จำนวนนี้น่าจะสร้างความคุ้มค่าให้แก่บริษัทไม่น้อย หรือหากกรณีเลวร้ายที่สุดคือมีการขาดทุนในระดับที่น่าจะพอแบกรับได้
เพราะหลังจากภาครัฐมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และประชาชนรู้หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตัวเพื่อตัวดูแลตัวเองและผู้คนรอบข้างมากขึ้น อัตราการติดเชื้อย่อมเริ่มลดลง
ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย คือ 1,771 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 12 ราย (ข้อมูลวันที่ 1 เมษายน 2563) เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกับประเทศอื่นๆ แล้วแม้จะมีความกังวลแต่ยังไม่สาหัส
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกระแสข่าวออกมาว่า บริษัทประกันภัยจะหยุดขายกรมธรรม์คุ้มครองโควิด-19 น่าจะเป็นผลให้ประชาชนรีบซื้อกรมธรรม์กันเพิ่มมากขึ้น นับเป็นจังหวะที่ดีสำหรับธุรกิจประกันภัย ในขณะที่ประชาชนก็ซื้อความอุ่นใจไว้ในครอบครอง