ทรู คอฟฟี่ เดอะ พิซซ่า สเวนเซ่นส์ ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่ปรากฏขึ้นในลาวไม่กี่ปีมานี้ วีเพ็ด สีหาจักร คือผู้อยู่เบื้องหลังการเข้ามาของแฟรนไชส์เหล่านี้แต่ก็มิใช่แค่ร้านเหล่านี้เท่านั้นที่เขานำเข้ามา ความภาคภูมิใจในความสำเร็จของนักฟุตบอลทีมชาติจนทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนลาวในทุกวันนี้ เป็นวิถีใหม่ที่เขามีส่วนสำคัญผลักดันให้เกิดขึ้น
บรรยากาศแห่งความยินดี งานเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ หลังจากทีมฟุตบอลชาติลาวสามารถเข้ารอบลึกถึงรอบตัดเชือกกับทีมชาติมาเลเซียในการแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ เมื่อปลายปี 2552 ที่ สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการฟุตบอลลาว รวมถึงกระตุ้นความนิยมในกีฬาฟุตบอลของคนลาวให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ตอนนี้กีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของคนลาว ก็คือฟุตบอล การแสดงถึงความรักองค์กร หรือกระชับมิตรกันระหว่างองค์กร ส่วนใหญ่คือชวนกันเตะบอล เพราะฉะนั้นสนาม ฟุตบอลที่เปิดให้เช่ามีคิวจองเต็มเกือบทุกวัน” ชาวเวียงจันทน์หลายคนยืนยันในทิศทางเดียวกันกับคำพูดข้างต้น
ในความเป็นจริงคนลาวมิใช่เพิ่งจะมานิยมกีฬาฟุตบอล หลังจากที่ สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้วเท่านั้น
ความนิยมในกีฬาฟุตบอลของคนลาวมีอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว และค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นมา เป็นลำดับ
ลำเนา สิงโต ถือเป็นตัวอย่างของนักฟุตบอลชาวลาว ที่ยืนยันถึงพัฒนาการของวงการฟุตบอลลาวได้เป็นอย่างดี
“ลำเนา สิงโต เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2531 เป็นชาวเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว เริ่มเล่นฟุตบอลในระดับสโมสรกับทีมกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ซึ่งเป็นทีมสโมสรของรัฐบาลลาว ย้ายมาเล่นฟุตบอลในประเทศไทยในดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2550 กับทีมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ผลงานของทีมไม่ดีนักเมื่อได้อันดับ สุดท้ายของตารางและตกชั้นเมื่อจบฤดูกาล
หลังจบฤดูกาล 2550 ลำเนาได้เล่น ให้กับทีมชาติลาวชุดซีเกมส์ที่นครราชสีมา และโชว์ฟอร์มได้ค่อนข้างโดดเด่น จึงทำให้ สโมสรราชประชาดึงตัวมาร่วมทีมในดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2551 และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของทีมที่ช่วยให้สโมสรรอดพ้นจากการตกชั้นได้สำเร็จ และได้เล่นให้กับทีมชาติ ลาวชุดใหญ่ในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2008
ฤดูกาล 2552 ลำเนา สิงโตย้ายจาก สโมสรราชประชามาร่วมทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในศึกไทยพรีเมียร์ลีก โดยลงเล่นในไทยพรีเมียร์ลีกให้ต้นสังกัดใหม่นัดแรกในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2552 ในเกมส์ที่เปิดบ้านแพ้โอสถสภา เอ็ม-150 ไป 0-1 และมายิงประตูแรกในสีเสื้อการไฟฟ้าได้ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2552 ในเกมส์เอเอฟซีคัพ ที่การไฟฟ้าบุกไปชนะทีมคลับ วาเลนเซีย แชมป์ลีกของมัลดีฟส์ไป 1-3 ซึ่งลำเนาเป็น คนยิงประตูให้ทีมขึ้นนำ 2-0”
ข้อมูลในวิกิพีเดีย (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555) ระบุว่าไปแล้วพัฒนาการของวงการฟุตบอลลาวน่าจะเริ่มอย่างจริงจังมาตั้งแต่ก่อนปี 2549 เพราะในปีนั้นทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปีของลาวได้ผ่านเข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันฟุตบอล เยาวชน AFC ที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation: AFC)
ลำเนาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลเยาวชน ทีมชาติชุดนี้เป็นทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปี ซึ่ง มีวีเพ็ด สีหาจักร เป็นผู้จัดการทีม
วีเพ็ดถือเป็นคนรุ่นใหม่มีแนวคิดสมัยใหม่ และมองเห็นแนวโน้มของกีฬาฟุตบอลลาว ว่ามีโอกาสจะพัฒนาได้มากขึ้น ไปอีก
เขาเคยเป็นนักฟุตบอลสมัยเมื่อเรียนอยู่ระดับมัธยม โดยเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ และเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม วีเพ็ด เดินทางไปเรียนต่อด้านวิศวกรรม ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสหภาพโซเวียต ทำให้ร้างจากวงการฟุตบอลไประยะหนึ่ง
เขาเรียนจบกลับมาลาวอีกครั้ง ในปี 2535 และกลับเข้าสู่วงการฟุตบอลของลาวในปี 2547
“พวกที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาก็ไม่ได้เล่นฟุตบอล แล้ว ขณะที่พรรคพวกที่เคยเล่นฟุตบอลด้วยกันแต่ไม่ได้ไปเรียนต่อ พอเรากลับมาเขาก็ยังเล่นฟุตบอลอยู่ บางคนก็เป็นโค้ชบ้าง ก็ชวนกันไปดูฟุตบอล แล้วก็ชักชวนให้มา ดูทีม U 16” วีเพ็ดบอกกับผู้จัดการ 360 ํ
วีเพ็ดเข้าไปเป็นผู้จัดการทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปีของลาวเมื่อปี 2547 และพัฒนาทีมจน สามารถทะลุเข้าไปเล่นในรอบ 16 ทีมสุดท้ายของ AFC ในปี 2549
จากผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้ขึ้นเป็นผู้จัดการทีมชาติลาวในปีถัดมา
ทีมชาติลาวชุดแรกที่เขาดูแลได้เข้า ร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่จังหวัดนคร ราชสีมาในปี 2550 แต่ตกรอบแรก โดยไม่ สามารถยิงประตูได้เลย โดยในครั้งนั้นทีมชาติไทยได้ครองถ้วยชนะเลิศ
แต่วีเพ็ดยังคงเป็นผู้จัดการทีมชาติลาวต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงการแข่งขันซีเกมส์ ในปี 2552 ซึ่ง สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ และ จัดการแข่งขันขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์
ผลงานของทีมชาติลาวในซีเกมส์ครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ทีมชาติลาวได้ทะลุเข้าไปถึงรอบตัดเชือกกับทีมชาติมาเลเซีย ก่อนที่มาเลเซียจะขึ้นไปครองถ้วยชนะเลิศ
ขณะที่ทีมชาติไทยในฐานะแชมป์เก่าเคยครองถ้วยชนะเลิศต่อเนื่องกันมาถึง 8 สมัยก่อนหน้านั้นต้องตกรอบแรกและเป็นการตกรอบแรกในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ของทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี โดยแพ้ทีมชาติมาเลเซียเช่นกัน
จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟุตบอล ลาวก่อนการแข่งขันซีเกมส์ที่เวียงจันทน์ ซึ่งวีเพ็ดเป็นผู้จุดประกายให้เกิดขึ้นคือการจ้างโค้ชชาวต่างชาติเข้ามาร่วมพัฒนาทีม และวางแผนการเล่น
อัลเฟรด รีเดิ้ล อดีตกุนซือทีมชาติเวียดนาม ชาวออสเตรียเข้ารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติลาว ชุดทำศึกซีเกมส์ในเดือนธันวาคมนี้ที่ประเทศลาวจะเป็นเจ้าภาพ โดยมีสโมสรแห่งหนึ่งในศึกวี-ลีก เป็นผู้จ่าย เงินเดือนให้ ตามรายงานข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา
กุนซือวัย 59 ปี ซึ่งเคยพาเวียดนาม ผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลเอเชียน คัพ เมื่อปี 2007 กล่าวว่า “พวกเขา (ลาว) ไม่สามารถทำประตูได้แม้แต่ลูกเดียวในซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมา ที่ประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราต้องการได้ผลการ แข่งขันที่ดีกว่าเดิม”
เนื้อหาข่าวจากเว็บไซต์สยามสปอร์ต ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ระบุ (ดูรายละเอียดได้จาก www.siamsport. co.th/Sport_Football/090710_090.html)
ผลงานการทำทีมชาติลาวที่เข้าถึงรอบตัดเชือกในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ทำให้วีเพ็ดได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธาน สหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติลาว ในปีถัดมา (2553)
หลังได้รับเลือกให้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติลาว วีเพ็ดได้วางระบบใหม่ๆ หลายอย่างให้กับวงการฟุตบอลลาว มีการเฟ้นหาทีมงานโดยเฉพาะจากต่างชาติให้เข้ามาร่วมเป็นโค้ชให้กับทีมชาติชุดต่างๆ รวมถึงการจัดโปรแกรมการแข่งขันแบบกระชับมิตรระหว่างทีมฟุตบอลของลาวและทีมสโมสรจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักฟุตบอล
แมทช์กระชับมิตรที่มีการถ่ายทอดกลับมายังประเทศไทยผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม True Vision เมื่อวันที่ 11 กุมภา พันธ์ที่ผ่านมา คือการแข่งขันระหว่างทีมลาวออลสตาร์กับทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หลังจากทีมบุรีรัมย์สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คว้าได้ถึง 4 ถ้วย เมื่อฤดูกาลก่อน
ผลการแข่งขัน ทีมบุรีรัมย์เอาชนะทีมลาวออลสตาร์ไปได้ด้วยสกอร์ 0 : 2
แต่ผลงานที่เด่นชัดซึ่งเกิดขึ้นล่าสุดก็คือการที่ทีมเยาวชนชุดอายุไม่เกิน 22 ปี ของลาวสามารถเอาชนะทีมไทยไปได้ 1 ประตู ต่อ 0 ในการแข่งขัน AFC รอบคัดเลือก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นครหลวงเวียงจันทน์
วีเพ็ดถือว่าการพัฒนาวงการฟุตบอล ของลาว เป็นภารกิจหลักของเขา เพราะถือเป็นการพัฒนาสังคมไปด้วยในทางหนึ่ง
แต่ 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา แม้ว่าเขาได้ปรับปรุงในหลายๆ ด้านของวงการฟุตบอลลาวไปแล้ว แต่ก็มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังต้องทำ โดยเฉพาะการพัฒนาทีมฟุตบอลในต่างแขวง
วีเพ็ดตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อยกระดับวงการฟุตบอลลาวเอาไว้ 2 ประการ
เป้าหมายประการแรกคือการขยับ อันดับทีมชาติลาวในตารางอันดับของโลกให้สูงขึ้น และขยับอันดับของทีมชาติลาวในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 12 ประเทศ (รวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ให้ขึ้นไปอยู่ไม่ต่ำกว่าอันดับ 6
“เราไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าบอลโลกอยู่แล้ว แต่อันดับในอาเซียนถือเป็นหน้าตา ของประเทศ เราก็อยากจะได้ 1 ใน 6 ไม่ให้ต่ำกว่านี้”
เป้าหมายประการที่ 2 คือต้องผลักดันลีกฟุตบอลอาชีพให้เกิดขึ้นใน สปป.ลาวให้ได้
ปัจจุบันใน สปป.ลาวยังไม่มีการแข่ง ขันฟุตบอลในลักษณะของลีกอาชีพ การแข่งขันที่มีขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ที่เรียกว่าเป็นการแข่งขันถ้วย ก. เป็นลีกกึ่งอาชีพ มีทีมฟุตบอลเข้าร่วมอยู่ในลีกนี้เพียง 10 ทีม และทุกทีมอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์
ฤดูกาลแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ มีการแข่งขันกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ตอน 5 โมงเย็น โดยมีการถ่ายทอด สดทางสถานีแห่งชาติลาว ช่อง 3 (ทซล.3)
สิ่งที่วีเพ็ดต้องพยายามให้เกิดขึ้นคือการผลักดันให้ทีมฟุตบอลที่อยู่ต่างแขวง สามารถยกระดับทีมของตนขึ้นมา จนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นลีกอาชีพระดับประเทศได้
“ลีกอาชีพต้องมีแน่นอน แต่ยังติดปัญหาตรงที่แต่ละแขวงยังไม่พร้อม แล้วก็ยังมีประเด็นเรื่องสปอนเซอร์ เพราะภาคธุรกิจในลาวเองก็ยังไม่พร้อมด้วย การทำทีมฟุตบอลมันแพงก็คงต้องค่อยๆ ผลักดันต่อไป” เขาอธิบาย
หากจะกล่าวว่าวีเพ็ด สีหาจักร คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอล สปป.ลาว จนทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมของคนลาวจำนวนมาก คงไม่ผิดนัก
แต่มิใช่แค่เรื่องของกีฬาฟุตบอลที่เขามีส่วนในการสร้างขึ้นมาเท่านั้น
วิถีชีวิตใหม่ๆ ของคนลาวที่ปรากฏ ขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์ ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ วีเพ็ดมีส่วนในการสร้างให้เกิดขึ้น
หลังจบวิศวะจากสหภาพโซเวียตในปี 2535 วีเพ็ดเดินทางกลับมายังลาว และประกอบธุรกิจการค้าอยู่ประมาณ 3 ปี
จนถึงปี 2538 เขาได้ร่วมทุนกับบริษัทล็อกซเล่ย์จากประเทศไทยจัดตั้งบริษัทการค้าลาวขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนการค้าของล็อกซเล่ย์ใน สปป.ลาว
บริษัทการค้าลาว มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 162.7 ล้านกีบ (ประมาณ 6 แสนบาท) ล็อกซเล่ย์ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 67%
นอกจากเป็นตัวแทนการค้าให้กับล็อกซเล่ย์แล้ว บริษัทการค้าลาวยังเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเป็นเจ้าของโรงแรม 2 แห่ง อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง
ปัจจุบันวีเพ็ดดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทการค้าลาว
ปี 2548 วีเพ็ดร่วมทุนกับบริษัท RMA Laos จัดตั้งบริษัทลาวฟอร์ด ซิตี้ขึ้น เพื่อนำรถยี่ห้อฟอร์ดเข้าไปเปิดตลาดในลาว
ถัดจากนั้นอีก 2 ปี ในปี 2550 เมื่อ ตลาดรถยนต์ของลาวเริ่มปรากฏสัญญาณความคึกคักขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เขาได้ร่วมทุนกับกลุ่มตระกูลสีสมบัด ซึ่งนอกจาก จะเป็นเจ้าของกาแฟยี่ห้อสีหนุกแล้ว ยังเป็น เจ้าของใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์อย่างเป็นทางการในลาว
เขานำใบอนุญาตตัวแทนจำหน่ายรถเมอร์ซิเดส เบนซ์ในลาวขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ โดยเริ่มนำเข้ารถเบนซ์เข้ามาเปิดตลาดในลาวอีกครั้งหนึ่ง ในนามบริษัทออโต ลาว
(อ่านเรื่อง “เมอร์ซิเดสเบนซ์ รถยนต์แบรนด์แรกที่เข้ามาในลาว” และเรื่อง “RMA Laos สำหรับฟอร์ด ขอแค่ที่ 2” ประกอบเรื่องจากปก นิตยสารผู้จัดการ 360ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554 หรือใน www. gotomanager.com ประกอบ)
ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่มองเห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ นอกจากธุรกิจรถยนต์แล้ว วีเพ็ดได้นำแฟรนไชส์ร้านกาแฟทรู คอฟฟี่ เข้าไปเปิดสาขาแรกในนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อปี 2552
“ตอนนั้นคิดว่าลาวจะต้องพัฒนาไป เหมือนประเทศอื่นๆ ในอนาคต แต่ยังไม่มี ใครปูทาง ก็เลยเข้าไปคุยกับทางทรู เขาก็แนะนำทรู คอฟฟี่ เราสนใจก็เลยนำเข้ามา เป็นแฟรนไชส์อันแรกที่เข้ามาในลาว” เขาเล่า
ถัดจากนั้นมาอีก 1 ปี ปี 2553 เขาได้ร่วมทุนกับบริษัท RMA Laos นำแฟรนไชส์ เดอะ พิซซา คอมปานี และไอศกรีมสเวนเซ่นส์เข้ามาเปิดในลาวเพิ่มอีก
(อ่านเรื่อง “วิถีชีวิตใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวียงจันทน์” นิตยสาร ผู้จัดการ 360ํ ฉบับเดือนสิงหาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ปัจจุบันทั้งทรู คอฟฟี่ เดอะ พิซซา และไอศกรีมสเวนเซ่นส์มีสาขาอยู่ 2 แห่ง เฉพาะในนครหลวงเวียงจันทน์ และกำลังศึกษาอยู่ว่าจะเปิดสาขาเพิ่มที่ใดได้อีก
โดยในการดูแลร้านแฟรนไชส์ทั้ง 3 แบรนด์นี้ วีเพ็ดได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะ ในชื่อว่า Express Food Group (EFG) โดยมีวิไลคำ ภรรยาของเขาเป็นผู้ดูแล
“คือเราแยกกันขาดเลยนะ ทางนั้นภรรยาผมเป็นคนดูแล ผมไม่ได้ดูแลเลย ผมมีแต่ไปกินอย่างเดียว ไม่ได้ดูแล ไม่ได้ดูตัวเลขเลย” เขากล่าวแบบติดตลก
คนที่เคยไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อ 5 ปีก่อน หากมีโอกาสย้อนกลับไปอีกครั้งในวันนี้ ย่อมมองเห็นถึง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงแห่ง สปป.ลาว แห่งนี้อย่างเห็นได้ชัด
ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบคนในเมืองใหญ่มากขึ้น คนหนุ่มสาวแต่งกายแบบพนักงานบริษัท เดินกันขวักไขว่ตามย่านธุรกิจ ตอนกลางวันคนเหล่านี้พากันเดินไปกินอาหารเป็นกลุ่มๆ ตามร้านอาหารแบรนด์ดัง ตกเย็นพนักงานหนุ่มๆ ต่างชักชวน กันไปเล่นกีฬา ซึ่งแน่นอน 80% ของกีฬาที่พวกเขาเหล่านั้นเล่นก็คือ ฟุตบอลจำนวนรถราเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นรถติดในชั่วโมงเร่งด่วน
ความเปลี่ยนแปลงที่ยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของวีเพ็ด สีหาจักร Lifestyle Settrer ของ สปป.ลาว