วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ผลกระทบ COVID-19 เมื่อเศรษฐกิจโลกติดเชื้อไวรัส

ผลกระทบ COVID-19 เมื่อเศรษฐกิจโลกติดเชื้อไวรัส

การขยายตัวลุกลามของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการขนานนามในชื่อ COVID-19 (Coronavirus Disease 2019) นอกจากจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนขยายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกแล้ว ยังสร้างแรงกดดันเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว การบินและอุตสาหกรรมภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลไปก่อนหน้านี้เท่านั้น

ความเป็นไปของการแพร่ระบาด COVID-19 นอกจากจะทำให้บรรดาศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากผลของการปิดเมือง การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้เข้าเมือง ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญปัญหา และจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานหรืองดรับพนักงานใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะนักท่องเที่ยวน้อยลง

ความร้ายกาจของโคโรนาไวรัสยังคุกคามไปสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคการผลิตของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของหลายประเทศในเอเชียที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน เนื่องจากบริษัทในจีนยังปิดต่อเนื่อง ทำให้การส่งมอบชิ้นส่วนสำคัญไปยังภาคอุตสาหกรรมนอกจีนสะดุด เป็นพิษร้ายที่ทำให้สุขภาวะทางเศรษฐกิจของโลกที่ซบเซาไม่แข็งแรงอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว มีแนวโน้มจะทรุดหนักมากกว่าที่จะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น

การปิดโรงงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศจีนทำให้โรงงานที่เลือกใช้ชิ้นส่วนจากประเทศจีน หรือมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนเผชิญปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้า ในขณะที่การย้ายฐานการผลิตหรือเลือกใช้ชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตอื่นในห้วงเวลาปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่ยากจะทำได้และหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในจีน ต่างพยายามหาแนวทางเพื่อการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการจัดซื้อชิ้นส่วนสำคัญจากแหล่งผลิตอื่นๆ ทดแทนการขาดหายไปของชิ้นส่วนจากจีน

ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีโรงงานอยู่ในเขตแพร่ระบาดของเชื้อโรค จำเป็นต้องปิดโรงงานและระงับการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปอย่างไม่อาจเลี่ยง ยังไม่นับรวมถึงการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งขาเข้าและขาออกจากจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อเรือสินค้าจำนวนไม่น้อยที่เข้าเทียบท่าที่จีนแล้วไม่สามารถขนถ่ายสินค้าขึ้นลงเรือได้เนื่องจากไม่มีแรงงาน

ผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ส่งให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เพราะโรงงานส่วนใหญ่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์จากจีนเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มของการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้คาดว่าจะหนักหน่วงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และอาจยืดเยื้อยาวนานไปสู่ไตรมาส 3 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่กระเตื้องขึ้น เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากซัปพลายเออร์รายหลักจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 หนักหน่วงรุนแรงขึ้นทุกขณะ

อย่างไรก็ดี วิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในอีกด้านหนึ่งอาจสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ให้กับอีกหลายประเทศ เพราะปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมนี้ อาจทำให้โรงงานหลายแห่งที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศรอบข้างโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งยังมีค่าแรงถูกและมีความได้เปรียบจากกำแพงภาษีที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอีกโสตหนึ่ง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากกรณีเช่นว่านี้ ดูจะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการไทยได้รับอานิสงส์ทางบวกแล้ว โดยผู้ส่งออกไทยบางกลุ่มสามารถส่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าทดแทนเข้าไปจำหน่ายในตลาดจีน รวมไปถึงการผลิตสินค้าส่งออกเพื่อทดแทนกำลังผลิตจากจีนที่หายไปด้วย

ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกสินค้ามันเส้นไทยได้รับการติดต่อจากผู้นำเข้าจีน ขอให้ส่ง “มันเส้น” ให้กับโรงงานผลิตแอลกอฮอล์จำนวน 5 แห่งบริเวณชานตง-เจ้อเจียง ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลจีน ให้ผลิตแอลกอฮอล์ 75% ที่ใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 โดย 2 ใน 5 โรงงานดังกล่าวจะใช้มันเส้นผลิตแอลกอฮอล์ ส่วนอีก 3 โรงที่เหลือจะใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิต

แม้ว่าจีนจะต้องการมันเส้นเพื่อใช้ผลิตแอลกอฮอล์ 75% เป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการในการใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ แต่ปัญหาก็คือ ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถหามันเส้นให้เพียงพอต่อความต้องการของจีนได้ เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยประมาณการผลผลิตมันน่าจะลดลงร้อยละ 20-30 จากปริมาณ 28.7 ล้านตันหัวมันสด ส่งผลให้ราคาหัวมันสด-มันเส้นในประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยราคามันเส้นที่จีนประกาศรับซื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ขยับสูงขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 5,500-5,600 บาท/ตัน เป็น 6,300-6,350 บาท/ตัน อีกด้วย

นอกเหนือจากมันเส้น เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ 75% สำหรับการฆ่าเชื้อไวรัสแล้ว “เม็ดพลาสติก”ก็เป็นวัตถุดิบอีกชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับผลิตสปันบอนด์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย ก็มียอดความต้องการสูงมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการของไทยได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาในปริมาณมากจนต้องเพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่ เพื่อรองรับความต้องการของโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในขณะนี้

ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากการไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันของโรงงานจีน ทำให้กลุ่มผู้นำเข้าเสื้อผ้าจากญี่ปุ่นหลากหลายแบรนด์ที่เคยให้จีนผลิต ได้ส่งคำสั่งซื้อและผลิตทดแทนการนำเข้าสินค้าจากโรงงานในจีนบ้างแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจีนมีปริมาณมากกว่าไทยถึง 3 เท่า โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกได้ประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับจีนที่ส่งออกได้เป็นหลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากมีคำสั่งซื้อมาที่ไทยเพียง 1% ก็จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น บวกกับก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจีนจากสงครามการค้า ทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมาซื้อจากไทย โดยภาพรวมปีนี้เครื่องนุ่งห่มไทยน่าจะส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 6-10 หรือประมาณ 3,400-3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.05-1.10 แสนล้านบาท

ปัญหาที่น่ากังวลใจของผู้ผลิตเสื้อผ้าของไทยอยู่ที่การบริหารจัดการวัตถุดิบนำเข้า โดยเฉพาะผ้าใยสังเคราะห์ที่ต้องนำเข้าจากจีน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการพิจารณาหาแหล่งผลิตสำรอง เช่น อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน หรือในไทยแล้ว เพื่อให้เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการผลิตจากจีนที่หายไป เพราะหากการแพร่ระบาดต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน จะกระทบต่อซัปพลายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอย่างรุนแรง ซึ่งแม้ว่า “ผ้าใยสังเคราะห์” ที่ต้องนำเข้าจากจีนจะไม่ใช่สัดส่วนหลักในการผลิตสิ่งทอ แต่เป็นองค์ประกอบจำเป็นที่ขาดไม่ได้

หากแต่นักเศรษฐศาสตร์การเงินจำนวนหนึ่ง ประเมินว่าตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบเต็มรูปแบบจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายของไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่ง สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกผันผวนและตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่เว้นแม้แต่ดัชนีหลักทรัพย์ไทย ที่ลดต่ำลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้การประเมินว่าบริษัทผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีรายได้และกำไรลดลงเนื่องจากกิจกรรมทางการค้าชะงักงัน โดยมีความหวังอยู่ที่การพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐของแต่ละประเทศเท่านั้น

ผลกระทบจาก COVID-19 ดูจะไม่ได้กระทบต่อสุขอนามัยในมิติของการสาธารณสุขเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของระบบเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ที่อาจส่งผลเป็นวิกฤตซ้ำซ้อนที่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์อย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น