วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > คืนวันพระจันทร์เต็มดวง

คืนวันพระจันทร์เต็มดวง

 
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สังคมไทยคงได้รำลึกถึงพระพุทธคุณเนื่องในวันมาฆบูชา ซึ่งถือเป็นวันพระใหญ่ โอกาสแรกของปี 2558 นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวความเป็นไปในแวดวงพระศาสนา และวงการสงฆ์ ที่อาจทำให้ศาสนิกชนอย่างพวกเรารู้สึกกระอักกระอ่วนในใจไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ
 
ลองหันไปพิจารณาสังคมที่ถือศีลถือธรรมตามหลักพุทธศาสนาแห่งอื่นๆ บ้างดีไหมคะว่าพวกเขามีวัตรปฏิบัติในการทำนุบำรุงศาสนาที่พวกเขาเชื่อถือ ศรัทธากันอย่างไร โดยเฉพาะความเป็นไปของพุทธศาสนิกชนในศรีลังกา ซึ่งได้ชื่อว่ามีความเคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้
 
วันสำคัญทางศาสนาของชาวพุทธศรีลังกา นอกจากจะกำหนดขึ้นคล้ายคลึงกับบ้านเรา ทั้งวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ตามแบบประเพณีนิยมแล้ว ยังมีวันพระ วันธรรมสวนะ หรือวันอุโบสถ ไม่แตกต่างกัน
 
แต่ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คงเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือน ซึ่งชาวพุทธที่นี่เรียกว่า Poya และนับเป็นวันหยุดราชการทั่วทั้งประเทศศรีลังกาด้วย
 
ความเป็นมาของ Poya ในด้านหนึ่งมีรากฐานต้นทางมาจากคำในบาลี-สันสกฤตที่เกี่ยวเนื่องด้วยคำว่า อุโบสถ (Uposatha) ซึ่งมีความหมายตามคำได้ว่า การเข้าถึง (อุปะ) ยาแก้โรค (โอสถ) ที่ขยายความไปสู่การเข้าถึงธรรมซึ่งเป็นยาแก้โรคจากกิเลสนั่นเอง
 
ด้วยเหตุดังนี้ Poya จึงเป็นวันที่ดำเนินไปสู่การลด การละ ซึ่งนอกจากหน่วยราชการและห้างร้านจำนวนมากจะหยุด ไม่ทำการแล้ว ร้านค้าเนื้อสัตว์และเครื่องมึนเมาทั้งหลายก็จะหยุดทำการค้าเป็นการชั่วคราวในวันสำคัญนี้เช่นกัน
 
กิจกรรมของชาวพุทธศรีลังกาในวัน Poya นับเป็นสีสันและเรื่องราวให้ชวนศึกษาติดตามไม่น้อย เพราะในศรีลังกาไม่มีธรรมเนียมให้สงฆ์มาเดินบิณฑบาตโปรดสัตว์ ตามท้องถนนเหมือนกับที่พบเห็นเจนตาในบ้านเรานะคะ แต่ชาวพุทธที่นี่จะเข้าวัดไปฟังเทศน์ ฟังธรรม ด้วยเครื่องแต่งกายสีขาวกันตั้งแต่เช้า
 
และด้วยเหตุที่ Poya มีความหมายเกี่ยวเนื่องว่าด้วยการละ การลด ศาสนิกชนบางส่วนจึงถือเป็นวันแห่งการงดอาหารทั้งหมด บางส่วนงดเนื้อสัตว์ ทานมังสวิรัติ บางส่วนงดประดับเครื่องประดับ และเครื่องหอม รวมถึงบางส่วนยังปฏิบัติบูชาด้วยการละเว้นการนอนบนฟูกที่อ่อนนุ่ม เพื่อสื่อแสดงถึงความพยายามในการระงับสิ่งที่สนองต่อกิเลสเหล่านั้นด้วย
 
แม้ว่าการนับ Poya จะเป็นไปตามระบบจันทรคติ (Lunar Calendar) ซึ่งอาจแตกต่างคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับวันเพ็ญในแบบที่ยึดถือตามปฏิทินสากลแบบ เกรกอเรียน (Gregorian Calendar) แต่ในแต่ละเดือนก็มีชื่อเรียก Poya เป็นการเฉพาะและประกอบส่วนด้วยเรื่องราวความเชื่อศรัทธาให้แต่ละ Poya มีความสำคัญขึ้นมา
 
วิถีของ Poya ในศรีลังกา เชื่อว่ามีมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Arahant Mahinda Thero หรือ อรหันต์มหินทะเถระ นำพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ และถือว่าเดือนแรกของ Poya เริ่มขึ้นในเดือนเพ็ญแห่งวิสาขะ (Vesak Poya) เพื่อรำลึกถึงพุทธคุณ 3 ประการ คือประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งโดยปกติ Vesak Poya จะตกอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี และจะมีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ทั่วประเทศศรีลังกาด้วย
 
Poya ถัดมาหรือ Poson Poya ในเดือนมิถุนายน เป็นไปเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้ง Arahant Maha Mahinda ซึ่งเป็นโอรสแห่งพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย นำพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในศรีลังกา ที่เมือง Mahintale ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาในศรีลังกาด้วย
 
สำหรับเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็น Esala Poya หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ก็ถือเป็นการรำลึกถึงปฐมบรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยอริยสัจ 4 ประการ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และหนทางนำไปสู่การดับทุกข์ 8 ประการ (มรรค มีองค์ 8) 
 
ส่วนในเดือนกันยายน หรือ Binara Poya เป็นไปเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเยี่ยมพระมารดา และการเกิดขึ้นของภิกษุณี ขณะที่ในเดือนตุลาคม Vap Poya ก็ถือเป็นการรำลึกถึงการเสร็จสิ้นการแสดงพระอภิธรรมของพระพุทธเจ้าให้แก่พระมารดาในเทวโลก
 
เมื่อล่วงเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน หรือ  Il Poya ก็เป็นไปเพื่อระลึกถึงพุทธคุณแห่งการพยากรณ์ถึงการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย ในกาลอนาคต ส่วนเดือนธันวาคม หรือ Unduvap Poya เป็นการรำลึกถึงการมาถึงของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียสู่ดินแดนศรีลังกา
 
เดือนมกราคม หรือ Duruthu Poya ซึ่งหากนับตามปฏิทินสากลถือเป็นเดือนแรกแห่งปี มีเรื่องราวให้รำลึกว่าด้วยการเสด็จเยือนศรีลังกาเป็นครั้งแรกโดยพระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นการเสด็จเยือนศรีลังกาในช่วงปีแรกของการตรัสรู้ด้วย 
 
ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ หรือ Navam Poya เป็นไปเพื่อรำลึกถึงการแต่งตั้งพระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ) รวมถึงการประกาศหลักปฏิบัติพื้นฐานว่าด้วยศีลของพระภิกษุ 
 
แม้ Navam Poya จะเป็นวันเพ็ญเดือนกุมภาพันธ์ แต่มีข้อความบางประการที่สื่อแสดงความคล้ายคลึงกับวันมาฆบูชาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วย โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐาน (code of fundamental ethic precepts for the monks) และเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
 
ด้วยเหตุที่การกำหนดวันในลักษณะเช่นนี้อาจคลาดเคลื่อนในแต่ละถิ่น และศรีลังกาไม่ได้เน้นการรำลึกถึงพุทธศาสนาในแบบที่ถือปฏิบัติอย่างที่ปรากฏในสังคมไทย จึงไม่อาจสรุปเป็นฉันทามติในที่นี้ได้
 
แต่เมื่อพิจารณาวันเพ็ญเดือนมีนาคม หรือ Medin Poya ซึ่งถือเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระบิดาและพระญาติทั้งหลายก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน หรือในเดือนเมษายน ที่เรียกว่า Bak Poya ที่ระบุถึงการเสด็จเยือนศรีลังกาเป็นคำรบที่สองขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ดูเหมือนเรื่องราวแห่งมาฆบูชาจะสอดคล้องกับ Navam Poya ในเดือนกุมภาพันธ์ยิ่งขึ้นไปอีก
 
วันเพ็ญที่พระจันทร์สุกสว่างเต็มดวงได้ผ่านไปแล้ว และกำลังรอคอยการกลับมาเต็มดวงครั้งใหม่ในแต่ละช่วงเดือน หากพิจารณาในมิติที่ว่านี้ ก็คงเป็นไปอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ว่าสรรพสิ่งย่อมเป็นอนิจจัง คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ต่างจากกิเลสที่คงหมุนเวียนมาให้เราต้องแสวงหาหนทางแห่งธรรมมาเพื่อลดละกิเลสสู่ทางรอดในความเป็นมนุษย์
 
แต่ดูเหมือนความเป็นไปของ Uposatha หรือการเกิดขึ้นของอุโบสถในสังคมพุทธแบบไทย ที่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จนทำให้อุโบสถของแต่ละที่มีขนาดใหญ่โต สื่อแสดงในฐานะที่เป็นเครื่องสำแดงศรัทธา ทำให้ต้องยิ่งตั้งสติและโยนิโสมนสิการกันให้มากกว่าเดิมขึ้นไปอีกนะคะว่า หนทางรอดของศาสนิกชนคนพุทธในเมืองไทยจะเป็นอย่างไร 
 
ธรรมรักษาค่ะ