ในบรรดาของฝากของดีจากศรีลังกา เชื่อว่า Ceylon Tea คงเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ที่ทุกคนคงนึกถึง เนื่องเพราะชาซีลอนได้สร้างชื่อและรุกทำตลาดในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพน่าสนใจ และยังสามารถยืนหยัดเป็นผู้ส่งออกชาอันดับหนึ่งของโลก แม้ว่าหากพิจารณาในมิติของปริมาณที่ผลิตได้จะตามหลังทั้งจีนและอินเดียก็ตาม
แต่กว่าที่ศรีลังกาจะกลายเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงและมีตราประทับรับรองคุณภาพชาชั้นดี ในนาม Ceylon Tea เช่นทุกวันนี้ ต้องเรียนว่า ผืนแผ่นดินศรีลังกาถูกพลิกและแผ้วถาง เพื่อนำรากเหง้าแห่งพืชพันธุ์นานามีที่มาถึงก่อน เพื่อเปิดทางให้ชาจากต่างแดนเข้ามางอกเงยในดินแดนแห่งนี้
ประวัติการณ์แห่งความเป็นไปของชา ได้รับการระบุถึงต้นทางแหล่งที่มาว่า ถือกำเนิดในแผ่นดินจีน ในฐานะพืชสมุนไพร ที่มีสรรพคุณทางยามาเนิ่นนานนับย้อนไปได้หลายพันปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว และส่งผ่านรากฐานทางวัฒนธรรมแห่งชาให้ขยายออกไปสู่การรับรู้ของอารยธรรมอื่นๆ ในซีกโลกตะวันออกให้ได้เก็บรับ
แม้ว่าในระยะเริ่มแรกจะจำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ พระสงฆ์ และอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายก็ตาม แต่นั่นก็ทำให้ชามีสถานะทางสังคมที่ผนวกแน่นอยู่กับแบบแผนและรากฐานความคิดความเชื่อแบบตะวันออกอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
ชาเริ่มเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนจากซีกโลกตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผ่านทางนักบวชและพ่อค้าชาวโปรตุเกส ที่มาตั้งสถานีการค้าอยู่ในมาเก๊า เพื่อบุกเบิกการค้ากับตะวันออกไกล แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงการส่งชากลับไปยังยุโรป
กระทั่ง Dutch East India เริ่มนำใบชาเขียวจากจีนขึ้นสู่ฝั่งยุโรปที่อัมสเตอร์ดัม และทำให้ผู้คนในยุโรปได้ลิ้มลองรสชาติแห่งชามากยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนว่าอังกฤษจะกลายเป็นตัวแปรและกลไกสำคัญที่ส่งให้ชามีสถานะเป็นสินค้าและเครื่องดื่มที่แทรกตัวเข้าสู่วัฒนธรรมตะวันตกอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
ความพยายามของอังกฤษที่จะแข่งขันและขจัดการผูกขาดการค้าชาจากจีน ทำให้อังกฤษนำเมล็ดพันธุ์ รวมถึงเทคนิคการปลูกและเก็บเกี่ยวชาจากจีน มาทำการส่งเสริมการปลูกชาบนดินแดนอาณานิคมอินเดีย ในรัฐอัสสัม และ Darjeering ในเบงกอลตะวันตก พร้อมกับให้สิทธิประโยชน์ในที่ดินทำกินให้กับชาวยุโรปรายใดก็ตามที่จะอพยพเข้ามา ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องปลูกชาเพื่อการส่งออกด้วย
ในความเป็นจริง ชนพื้นเมืองในแคว้นอัสสัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาว Singpho ก็ทำการเพาะปลูกชามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 แล้ว แต่การมาถึงของ British East India พร้อมด้วยพันธสัญญาใหม่ ได้พลิกโฉมหน้าของการค้าชาไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อังกฤษสามารถสร้างไร่ชา หรือ tea estate ขนาดใหญ่ทั้งในอัสสัม และ Darjeering เพื่อรองรับกับการค้าชาที่เติบโตขึ้นได้ในระดับน่าพึงพอใจ ควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมใหม่เข้าครอบคลุมไปสู่ดินแดนอาณานิคมแห่งจักรวรรดิอังกฤษทั่วทุกแห่งหน ซึ่งทำให้เกิดผลเชิงบวกทั้งในมิติของการเป็นตลาดและแหล่งผลิตไปในคราวเดียวกัน
เป็นวัฒนธรรมที่ย่อมมีนัยความหมายผิดแปลกไปจากวัฒนธรรมชาแบบเดิม ที่รุ่งเรืองอยู่ในซีกโลกตะวันออกมาก่อนหน้า หากแต่เป็นวิถีแห่งชาที่มีกลิ่นอายของการค้า และวัฒนธรรมชาแบบตะวันตกที่ประกอบส่วนด้วยนิยามศัพท์ว่าด้วย Afternoon Tea ของกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลาง หรือ High Tea ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานขึ้น ซึ่งในวันนี้คำนิยามจำกัดความดังกล่าว อาจคลี่คลายขยายความหมายและเลื่อนไหลออกไปจากบริบทเดิมอย่างไม่สิ้นสุด
ความเป็นไปเกี่ยวกับชาซีลอน หรือ Ceylon Tea ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ว่านี้
เพราะความรุ่งเรืองในการค้าชาของอังกฤษเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความถดถอยของการผูกขาด cinnamon และการแข่งขันกับสินค้าใหม่ๆ ทั้ง กาแฟ และช็อกโกแลต ซึ่งเมื่ออังกฤษได้เข้าครอบครองดินแดนศรีลังกา และพบว่า cinnamon อาจไม่ใช่สินค้าทำเงินอีกต่อไปแล้ว แผ่นดินศรีลังกาก็ถูกปรับให้รองรับกับพืชชนิดอื่น ที่คาดว่าจะมีอนาคตและทำเงินต่อไป
ดินแดน Ceylon ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะปลูก cinnamon คุณภาพดีและมีระบบแหล่งใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันออก จึงต้องทยอยหลีกทางให้กับกาแฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปและมีราคาสูงน่าลงทุนแทน
ความตื่นตัวในการปลูกกาแฟในเชิงพาณิชยกรรมบนแผ่นดินศรีลังกาในครั้งนั้น (1840) คุกคามทำลายผืนป่าของศรีลังกาเสียยิ่งกว่าประกายเพลิงที่กำลังลามทุ่ง และหอมหวนจนชาวยุโรปจำนวนมากอพยพเข้าด้วยหวังจะสร้างชีวิตใหม่จากไร่กาแฟที่นี่ ซึ่งถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า Coffee Rush
แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะกำหนดลิขิตไว้ให้กับการเกิดขึ้นของ Ceylon Tea เมื่อไร่กาแฟที่เจ้าอาณานิคมและนักลงทุนทั้งหลายหวังจะเก็บเกี่ยวดอกผลอย่างเป็นกอบเป็นกำ กลับถูกโรคระบาดจากเชื้อราเข้าทำลายพืชผลอย่างหนักและทำให้เกษตรกรไร่กาแฟจำนวนไม่น้อยถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว และถอนสมอกลับบ้านเกิดไปเลย
ความล่มสลายของไร่กาแฟจากศัตรูพืช ได้เปิดโอกาสให้ชาเข้ามามีบทบาทในศรีลังกาแทน และภายในช่วงปลายของทศวรรษ 1880 ไร่กาแฟทั่วทั้งศรีลังกาก็แปลงสภาพกลายเป็นไร่ชา ควบคู่กับเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตสมัยใหม่ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพชาซีลอน
ความสำเร็จจากการเปิดตัว Ceylon Tea งาน Chicago World’s Fair ในปี 1893 ซึ่งสามารถสร้างยอดจำหน่ายได้มากถึง 1 ล้านซองภายในงาน รวมถึงราคาชาที่ปรากฏในตลาดการประมูลในกรุงลอนดอนปีเดียวกันนั้นซึ่งทะยานสูงขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 36.15 ปอนด์ ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ (lb) เป็นแรงหนุนนำอย่างดีสำหรับผู้ประกอบการไร่ชาและผู้ผลิตชาในศรีลังกา
ขณะที่พัฒนาการด้านพาณิชยกรรมของชาซีลอน ก็ดำเนินไปอย่างน่าสนใจติดตาม เพราะแม้ศรีลังกาจะเข้าสู่อุตสาหกรรมชา ภายหลังผู้นำตลาดอย่างจีนและอินเดีย รวมถึงไม่ได้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในมิติของปริมาณ หากแต่ Ceylon Tea กลับมีสถานภาพและที่อยู่ที่ยืนในตลาดนานาชาติเหนือคู่แข่งขันได้อย่างโดดเด่น
ประเด็นที่น่าสนใจในมิติของการพัฒนา Ceylon Tea ในด้านหนึ่งอยู่ที่การควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของชา โดยในปี 1934 รัฐบาลศรีลังกาได้ออกกฎหมายห้ามการส่งออกชาด้อยคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐานออกนอกประเทศ ควบคู่กับการจัดตั้งสถาบันวิจัยชาในปี 1938
ยังไม่นับรวมถึงการเกิดขึ้นของคณะกรรมการชาแห่งชาติ (Sri Lankan Tea Board) ในปี 1976 เพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้เครื่องหมายรับประกันคุณภาพการเป็นชาซีลอน ควบคู่กับการระบุถ้อยคำว่า “Pure Ceylon Tea-Packed in Sri Lanka”
แม้ชาจะไม่ใช่พืชท้องถิ่นศรีลังกา และเพิ่งเริ่มเพาะปลูกผลิตกันเมื่อประมาณ 135 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ก็สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากถึงกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ยังไม่นับรวมถึงความเกี่ยวเนื่องที่มีไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีโปรแกรมการเยี่ยมชมไร่ชาเป็นส่วนประกอบ
ขณะที่ผู้ผลิตชาแต่ละรายกำลังเร่งพัฒนาให้ก้าวพ้นการส่งออกชา ในฐานะวัตถุดิบไปสู่การสร้างสินค้าที่มูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตในรูปแบบต่างๆ และดูเหมือนว่าชื่อ Ceylon Tea จะเป็นยิ่งกว่าเครื่องหมายการค้า หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชาระดับคุณภาพชั้นนำของโลกอีกด้วย
ว่าแต่ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายอื่นๆ ที่เชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิตอย่างมากบางประเทศ คิดหาวิธียกระดับมาตรฐานสินค้าอย่างไรบ้างไหมคะ หรือจะคิดได้เพียงเร่งให้เกษตรกรเลิกอาชีพแต่เพียงอย่างเดียว เรื่องนี้น่าเก็บมาพิจารณากันนะคะ