วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > วิกฤตภัยแล้ง 2563 บททดสอบการบริหารภาครัฐ

วิกฤตภัยแล้ง 2563 บททดสอบการบริหารภาครัฐ

ท่ามกลางสถานการณ์และปัจจัยลบหลากหลายที่แวดล้อมและรุมเร้ารัฐนาวาประยุทธ์ 2 ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีบทสรุปว่าจะหยุดที่ห้วงเหวลึกระดับใด ประกอบกับสถานการณ์ระดับนานาชาติที่เพิ่มน้ำหนักเป็นปัจจัยลบคุกคามหนักหน่วงขึ้นไปอีก หรือแม้กระทั่งกรณีว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมืองที่กำลังสั่นคลอนจากเหตุของการพิจารณาและลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เนิ่นช้ายาวนานกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว

ภาวะภัยแล้งที่ดูจะมาถึงเร็วกว่าทุกปีและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบหนักหน่วงไปทั่วทุกภูมิภาคกำลังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยลบที่คุกคามเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างกว้างขวาง เพราะวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบจำกัดเฉพาะต่อเกษตรกรผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรรมที่เป็นฐานรากของสังคมไทยและมีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเช่นในอดีตที่ผ่านมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้น หากแต่วิกฤตภัยแล้งที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 นี้ ยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชุมชนเมืองหรือแม้กระทั่งในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศด้วย

การขาดแคลนน้ำดิบเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) จนเป็นเหตุให้ต้องร้องขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำบาดาลไปใช้ผลิตน้ำประปาใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่ บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง และสมุทรปราการ โดยเป็นบ่อขนาด 10 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ ความลึกของบ่อตั้งแต่ 350-600 เมตร ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้อนุญาตในเบื้องต้นแล้วจำนวน 3 บ่อ คือที่บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง ส่วนสมุทรปราการยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวก็คือ แม้การเจาะน้ำบาดาลแต่ละบ่อจะสามารถนำน้ำบาดาลไปผลิตเป็นน้ำประปาได้เดือนละ 53,760 ลบ.ม. มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 5 พันครัวเรือน แต่การที่การประปานครหลวงขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการขอใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลไปใช้ผลิตเป็นน้ำประปา ซึ่งสะท้อนภาพการขาดแคลนทรัพยากรน้ำบนดินได้ชัดเจนที่สุด

ก่อนหน้านี้ คุณภาพของน้ำประปาที่การประปานครหลวงผลิตและแจกจ่ายไปยังครัวเรือนในเขตพื้นที่บริการ ได้รับการตั้งคำถามอย่างหนักเมื่อพบว่าน้ำประปามีค่าความเค็มเกินมาตรฐานจากผลของการขาดแคลนน้ำจากภาวะภัยแล้งและเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง โดยนํ้าประปาของ กปน. มีความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัม/ลิตร หรือมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งเป็นค่าความเค็มที่สูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด

เหตุดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องออกมาแนะนำให้ลดการเติมเครื่องปรุงเมื่อใช้น้ำประปาในการปรุงอาหารในระยะนี้ ขณะที่ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา นั่นหมายความว่าคุณภาพนํ้าประปาไทยอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคแล้ว

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การประปานครหลวงพยายามยกระดับภาพลักษณ์องค์กรและมาตรฐานน้ำประปาด้วยการรณรงค์โครงการ “น้ำประปาดื่มได้” ควบคู่กับการสื่อสารข้อความสาธารณะว่า “การประปานครหลวง สะอาดใส ห่วงใยคุณ” ภายใต้ความเชื่อที่ว่า กปน. เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานน้ำดื่มองค์การอนามัยโลก และโรงงานผลิตน้ำยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO จึงเป็นที่น่าเชื่อถือได้

กรอบโครงความคิดและความเชื่อมั่นจากโครงการ “น้ำประปาดื่มได้” ของ กปน. ในฐานะหน่วยงานที่ได้ให้บริการน้ำประปาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดำเนินไปควบคู่กับการระบุว่ามาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ดังกล่าวนี้ ผู้ใช้น้ำแต่ละรายจะต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลระบบท่อภายใน เครื่องกรองน้ำและถังพักน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐานคงที่ โดย กปน. จะยึดหลักในการผลิต จัดหา และบริการน้ำให้แก่ลูกค้าด้วยมาตรฐานที่ยาวนานตลอดไป

หากแต่จากปรากฏการณ์น้ำประปาเค็มในครั้งนี้ดูเหมือนว่าความพยายามของการประปานครหลวงในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้บริโภคน้ำประปา จะพังครืนลงอย่างไม่เป็นท่า แม้ว่าในเวลาต่อมา กปน. จะนำน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มไปให้บริการประชาชนที่สำนักงานประปา 18 สาขา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม

ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอยู่ที่ นํ้าทะเลได้รุกเข้ามาในแม่นํ้าเจ้าพระยา ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และทำให้น้ำประปาบางแห่งมีค่าความเค็มขึ้นสูงถึง 0.92 กรัม/ลิตร (920 มิลลิกรัม/ลิตร) เกินมาตรฐานในการผลิตนํ้าประปาที่ 0.50 กรัม/ลิตร (500 มิลลิกรัม/ลิตร) โดยมีการระบุว่าในวันที่ 29 ธันวาคม 2562 น้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้ค่าความเค็มขึ้นไปสูงถึง 2.03 กรัม/ลิตร (2,030 มิลลิกรัม/ลิตร) ซึ่งนับเป็นสถิติความเค็มสูงสุดหลังจากที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 มีค่าความเค็มสูงสุดที่ 1.92 กรัม/ลิตร (1,920 มิลลิกรัม/ลิตร)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานได้เร่งผลักดันค่าความเค็มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหกจาก 5 ลบ.ม./วินาที เป็น 15 ลบ.ม./วินาที และลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่าน 3 คลองหลักมาช่วยผลักดันค่าความเค็มใน แม่น้ำท่าจีน และ แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในห้วงเวลาปัจจุบันก็คือ ภัยแล้งและค่าความเค็มของน้ำจะทุเลาลงได้อาจต้องรอไปอีกนานกว่า 6 เดือนจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน โดยในช่วงระยะเวลานับจากนี้จนถึงเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงมากอีกด้วย

วิกฤตภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ยังส่งผลถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ความท้าทายของปัญหาดังกล่าวอยู่ที่กลไกรัฐให้ความสำคัญและมีการเตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับสถานการณ์ที่จะเผชิญอย่างเป็นระบบและมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ความน่าผิดหวังจากการต้องประสบกับสภาพภัยแล้งในครั้งนี้ก็คือ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลและบริหารจัดการน้ำถึง 4 หน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และยังมีแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ

แต่สังคมไทยกลับต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมซ้ำซากไปมา ควบคู่กับการตั้งศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถและความล้มเหลวในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยกลไกภาครัฐได้เป็นอย่างดี

ภายใต้เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่ระบุว่า “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ดูเหมือนว่าการเตรียมใช้งบประมาณฉุกเฉินจำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเฉพาะหน้า ซึ่งมีจุดใหญ่ใจความอยู่ที่การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศกว่า 500 บ่อ ในขณะที่น้ำบนดินและในแม่น้ำลำคลองสายหลักหลายสายมีปริมาณลดต่ำลง โดยแม่น้ำหลายสายแห้งขอดตื้นเขินเป็นระยะทางยาวนับสิบถึงร้อยกิโลเมตร ให้ภาพที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

บางทีการเป็นผู้นำรัฐบาลบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและในฐานะที่เป็นประธานในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ นี่อาจถึงเวลาของการตอบคำถามข้อสงสัยในการบริหารจัดการและแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบที่พึงมีได้แล้ว

ใส่ความเห็น