นักวิจัยม.ธรรมศาสตร์ลงพื้นที่สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เก็บภาพถ่ายโบราณสถานทางอากาศเพื่อตรวจสอบความเสียหาย พร้อมตรวจวัดหาค่าความถี่ธรรมชาติของตัวโครงสร้างโบราณสถานและริเริ่มกระบวนการสร้างเครือข่ายวิจัยภูมิภาคแก่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่การวิจัยเชิงวิศวกรรมโบราณสถาน
คณะวิจัยชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม (ระยะที่ 2 ) นำโดย รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม พร้อมด้วยทีมงานจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเชิงวิศวกรรมของโบราณสถาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อเข้าสำรวจโบราณที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษาข้อมูลและบูรณะซ่อมแซมในอนาคต อันเป็นผลสืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับกรมศิลปากร เพื่อวางแผนอนุรักษ์ บำรุงรักษาโบราณสถานในเขตอุทยานที่มีผลกระทบสำคัญเร่งด่วน อาทิ เจดีย์เอียง ฐานรากทรุด ทดสอบวัสดุเดิม และวัสดุทดแทนใหม่สำหรับการบูรณะ โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการศึกษาวิจัยให้เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิศวกรรมต่อไป
รศ. ดร.นครระบุว่าการลงพื้นที่วิจัยที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีการดำเนินงานหลัก 2 ส่วน คือ การสำรวจเก็บภาพถ่ายโบราณสถานโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และนำภาพถ่ายมาขึ้นแบบจำลองสามมิติ เพื่อตรวจสอบ รายงานผลความเสียหาย และวิเคราะห์โครงสร้าง โดยแปลงเป็นแบบจำลองทางเรขาคณิตหรือเรียกอีกอย่างคือการการสร้างแบบจำลองทางวิศวกรรมด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ทำนายพฤติกรรมของโครงสร้างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การนำโดรนมาใช้กับการตรวจสอบนั้นนอกจากสะดวกต่อการเข้าถึงพื้นที่ที่จำกัดแล้ว ยังช่วยในด้านการรักษาโบราณสถานที่อาจได้รับความเสียหายระหว่างทำการสำรวจโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ยังทำให้ได้ข้อมูลพื้นผิวโครงสร้างที่ครบถ้วน มีองค์ประกอบของสีที่หลากหลาย แก้ไขความผิดพลาดได้อย่างรวดเร็วระหว่างการสำรวจ ช่วยลดต้นทุน และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการถ่ายโอนความรู้แก่หน่วยงานผู้ดูแลรักษาโบราณสถานอย่างสำนักศิลปากรในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตรวจสอบสภาพโครงสร้างโบราณสถานประจำปีหรือนำข้อมูลจากการสำรวจมาใช้ประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในอนาคตต่อไป
ส่วนที่สองเป็นการตรวจวัดหาค่าความถี่ธรรมชาติของตัวโครงสร้างโบราณสถานตามหลักพื้นฐานพลศาสตร์โครงสร้าง หาค่าโมดูลัสยืดหยุ่นของอิฐและศิลาแลงอันเป็นค่าบอกระดับความแข็งเกร็งของวัสดุ โดยการวิเคราะห์หาค่าความถี่ธรรมชาติด้วยวิธีนี้ถือเป็นหนึ่งในการหาค่าโมดูลัสของวัสดุที่ช่วยรักษาสภาพเดิมของโครงสร้างโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มจากวิธีการเดิม ๆ ที่จำเป็นต้องนำตัวอย่างวัสดุไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินความแข็งแรงมั่นคงของโครงสร้างโบราณสถานในเบื้องต้นได้อีกทาง ซึ่งหากเก็บเป็นฐานข้อมูลสม่ำเสมอจะสามารถเปรียบเทียบ ประเมิน และทำนายความมั่นคงของโครงสร้างในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้คณะนักวิจัยยังได้ริเริ่มกระบวนการสร้างเครือข่ายวิจัยภูมิภาค เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อการวิจัยเชิงวิศวกรรมสำหรับโบราณสถาน โดยมีอาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาภูมิภาค ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ตาก เข้าร่วมเรียนรู้ทางทฤษฎีและฝึกปฏิบัติภาคสนาม รวมถึงสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับปัญหาวิจัยในท้องถิ่นต่อไปในอนาคต
เก็บภาพถ่ายทางอากาศ
ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของเสาวิหาร
ตรวจวัดพิกัดจากกล้องสำรวจ
ติดตั้งอุปกรณ์ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ถ่ายทอดความรู้แก่เครือข่ายวิจัยภูมิภาค
นักวิจัยและเครือข่ายภูมิภาค
สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย