วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > แผน “ฮาบิโตะ” ดัน Sansiri Hub

แผน “ฮาบิโตะ” ดัน Sansiri Hub

 
การแตกไลน์ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ “ฮาบิโตะ” ของ “แสนสิริ” เป้าหมายอาจไม่ใช่แค่การสร้างมูลค่าเพิ่มหรือกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน  แต่งานนี้วางแผนชุดใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างเมือง หลังจากซุ่มเงียบขยายอาณาจักรย่านรามอินทรา พัฒนาโครงการบ้านยึดฐานลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่นและแตกไลน์ธุรกิจการศึกษา เปิด “โรงเรียนสาธิตพัฒนา” เติมเต็มความเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีอาณาเขตครอบคลุมเนื้อที่มากกว่า 700 ไร่
 
ปัจจุบัน โรงเรียนสาธิตพัฒนาถือเป็นโรงเรียนสาธิตเอกชนที่ได้รับการยอมรับในตลาดการศึกษา โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการสร้างโรงเรียนที่ดีที่สุดให้เด็กด้วยระบบการเรียนการสอนแบบเดียวกับโรงเรียนสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัยรัฐ มีทีมอาจารย์จากโรงเรียนสาธิต รวมถึงคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาพัฒนาหลักสูตรตามหลักสากล และที่สำคัญมีแนวคิดต้องการขยายโรงเรียนแห่งใหม่ด้วย  
 
กรณีโรงเรียนสาธิตพัฒนาจึงถือเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวหนึ่งที่สามารถต่อยอดแผนการสร้าง “เมืองแสนสิริ” ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งในความจริงเป็นแนวคิดที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกหลายๆ แห่งต้องการแจ้งเกิด แต่ดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จ 100% 
 
ขณะที่มององค์ประกอบต่างๆ ของ “แสนสิริ” หัวเรือใหญ่ ทั้งอภิชาติ จูตระกูล ในฐานะประธานอำนวยการ และเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สามารถอ่านเกมและจับกระแสไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ กอบโกยรายได้ยอดขาย รวมถึงฉีกแนวสร้างบริการหลังการขายจนกลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ค่ายอื่นๆ ต้องเดินตาม
 
จุดแข็งอย่างโปรแกรมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีสีสัน ดูมีระดับและทันสมัย ภายใต้ชื่อ “Sansiri Family” ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเปิดตัว “Sansiri Lounges” ในศูนย์การค้าสยามพารากอนและเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต มีบริการ “The Library” มุมรวบรวมหนังสือออกแบบศิลปะให้ลูกบ้านเลือกคอลเลกชันการอยู่อาศัยตามไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย
 
หรือการแตกบริษัทลูก “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” เข้ามาเสริมบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกรรมการซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ รองรับกลุ่มลูกค้านักลงทุน รวมทั้งรับเป็นตัวกลางในการจัดการทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งให้คำปรึกษา พาชมห้อง จนถึงการปิดดีล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ เพื่อเพิ่มสายสัมพันธ์มากกว่าบริษัทกับลูกค้า เช่น กิจกรรมส่งเสริมกีฬาขี่จักรยาน “The Good Bike” ซึ่งอยู่ในเทรนด์ของคนรุ่นใหม่
 
สำหรับจิ๊กซอว์ตัวล่าสุด “Habito” ซึ่งชื่อมาจากการผสมคำภาษาอังกฤษ “Habitat” แปลว่าที่อยู่อาศัย กับ “Bito” ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่าผู้คน เพื่อสื่อคอนเซ็ปต์การเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์นั้น แม้อภิชาติยังไม่ระบุถึงแผนขยายสาขาในอนาคต แต่ปักหมุดตัวแรกในทำเลย่านสุขุมวิท 77 และตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นฮับแห่งการอยู่อาศัยภายใต้ชื่อ “ที 77 (T77)” 
 
โดยล่าสุดมีโครงการรวม  6 โครงการ คือ บล๊อก สุขุมวิท 77, เดอะ เบส สุขุมวิท 77, เดอะ เบส พาร์คอีสต์ สุขุมวิท 77, เดอะ เบส พาร์คเวสต์ สุขุมวิท 77, การ์เด้น สแควร์ สุขุมวิท 77 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ระดับบน ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป และเพิ่งเปิดตัวคอนโดมิเนียม Low-rise 7 ชั้น  “ฮาสุ เฮาส์ (hasu HAUS)” 
 
ทั้ง 6 โครงการมูลค่าการลงทุนรวม 8,700 ล้านบาท จะมีผู้อยู่อาศัยอย่างน้อย 5,000 ครอบครัว และยังวางแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อเติมเต็มความเป็นเมืองอย่างต่อเนื่อง 
 
อภิชาตกล่าวถึงแนวคิดข้อสำคัญในวันเปิดตัว “ฮาบิโตะ” ว่า กรุงเทพฯ ในปัจจุบันเริ่มมีลักษณะคล้ายเมืองใหญ่ทั่วโลก คือ แบ่งเป็นโซนที่อยู่อาศัยย่อยๆ ในเมืองใหญ่อีกที เช่น โซนสีลม โซนรามคำแหง โซนลาดพร้าว โซนปิ่นเกล้า และโซนอ่อนนุช  ซึ่งความเจริญไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เพลินจิตหรือปทุมวันเหมือนในอดีต แต่กระจายตัวบริเวณชุมชนรอบกรุงเทพฯ หรือเกาะตามสถานีรถไฟฟ้า เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่มีอารมณ์เมืองของแต่ละเขต เช่น ชิบีย่าไดกันยามะ ชินจูกุ และขยายตามแนวรถไฟฟ้า ดังนั้นการเลือกย่านที่อยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งด้านการใช้ชีวิตและด้านการลงทุน
 
ทั้งนี้ ฮาบิโตะ T77 ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 320 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอยรวม 10,000 ตารางเมตร เนื้อที่รวม 4 ไร่ ประกอบด้วยร้านค้า 32 ร้าน ขนาดร้านค้าตั้งแต่ 35-700 ตร.ม. เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านเสริมความงาม ร้านขายยา และร้านคีออสอีก 12 ร้าน  
 
นอกจากนั้น ยังจัดพื้นที่ co-working space รองรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานในบรรยากาศแตกต่าง เสมือนโมบายออฟฟิศ ซึ่งหลายๆ ประเทศเริ่มนิยมแนวคิด co-working space เพราะเชื่อว่าสามารถสร้างจินตนาการ แรงบันดาลใจและยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนไอเดียในกลุ่มคนทำงานประเภทเดียวกันด้วย 
 
แสนสิริคาดการณ์ว่าฮาบิโตะซึ่งกำหนดเปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 จะสร้างรายได้ค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี แม้คิดเทียบกับรายได้รวมของบริษัทแล้ว มีสัดส่วนไม่ถึง 0.15%  
 
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งฮาบิโตะและจิ๊กซอว์ทุกตัวกำลังเติมเต็มยุทธศาสตร์ระยะยาว แผนสร้างเม็ดเงินรายได้อีกจำนวนมหาศาลตามนโยบาย “Engineer for Growth” ที่ทั้งอภิชาตและเศรษฐาประกาศชูธงให้ “แสนสิริ” เติบโตอย่างยั่งยืนและทำกำไรสูงสุดด้วย