“ไอคอนสยาม” อภิมหาโครงการของค่ายสยามพิวรรธน์และเครือซีพี กำลังเร่งเสริมกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่บรรดากูรูต่างฟันธงตรงกันว่า ปี 2563 จะหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงแนวรบริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาจะดุเดือดเพิ่มอีกหลายเท่า
เมื่อล่าสุด วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ออกมาประกาศความพร้อมลุยขยายโครงการ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ยกระดับเป็นมิกซ์ยูสโปรเจกต์ “จุดหมายปลายทางระดับโลก” พื้นที่รวม 100 ไร่ เม็ดเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3-5 ปี และแบ่งเป็น 4 เฟส คือ 1. พื้นที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์เดิม จะต่อเติมหลังคาและปรับช่องลม-แดด เพื่อให้เปิดบริการได้ตลอดทั้งวันจากปัจจุบันที่เปิดให้บริการเฉพาะช่วงเย็นและกลางคืน
2. พื้นที่บริเวณโกดังเก่า 100,000 ตารางเมตร จะปรับพื้นที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับร้านค้า สวนสนุก (fun park) และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ โดยย้ายชิงช้าสวรรค์ “เอเชียทีค สกาย” มาไว้ในบริเวณนี้ด้วย
3. พื้นที่ลานจอดรถปัจจุบันจะเปิดพื้นที่และผุดอาคารสูง 100 ชั้น ภายในตึกจะประกอบด้วยโรงแรม 5 ดาว 1 แห่ง โรงแรม 6 ดาว 1 แห่ง พื้นที่รีเทลและพื้นที่พาณิชย์ขนาดใหญ่ จุดชมวิวระดับไอคอนิกริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวัลลภาจับมือกับกลุ่ม Adrin Smith+Gordon Gill Architecture (AS+GG) สตูดิโอผู้เชี่ยวชาญการออกแบบตึกสูงระดับโลก เคยออกแบบผลงานที่เป็นไอคอนิกของเมืองต่าง ๆ เช่น อาคารเซ็นทรัล พาร์ค ในนครนิวยอร์ก เจดดาห์ ทาวเวอร์ในประเทศ ซาอุดีอาระเบีย โครงการอัล วาสล์ พลาซ่า และเบิร์จ คาลิฟา ในประเทศดูไบ อาคารจินเหมา ทาวเวอร์ เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทุกแห่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ครองแชมป์ตึกที่สูงที่สุดในโลก
สุดท้าย ส่วนที่ 4 ฝั่งตรงข้ามถนนของโครงการเอเชียทีคฯ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวางแผนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่ รวมถึงจะวางระบบการคมนาคมขนส่งรอบข้างทั้งทางน้ำและทางบกใหม่ทั้งหมด
ขณะที่บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ของ “คีรี กาญจนพาสน์” เพิ่งคิกออฟโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ย่านเจริญกรุง เพื่อบูรณะอาคารโบราณสถาน ก่อสร้างอาคารใหม่และพัฒนาอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปี พร้อมพื้นที่โดยรอบประมาณ 5 ไร่ ในรูปแบบมิกซ์ยูส เพื่อสร้าง New Destination ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ภายในปี 2568
แน่นอนว่า ไอคอนสยามซึ่งประกาศจะลุยแผนลงทุนเฟส 2 ฝั่งตรงข้าม ย่อมต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ รอบคอบมากขึ้นตามสไตล์การทำงานของคุณแป๋ม ชฎาทิพ จูตระกูล เพื่อให้บิ๊กโปรเจกต์มีความพิเศษที่สุดและดีที่สุด เนื่องจากประสบการณ์ตลอด 1 ปี บนสมรภูมิค้าปลีกริมฝั่งน้ำมีโจทย์ยากมาก ทั้งการดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กลยุทธ์การแข่งขันและการสร้างรายได้ให้คู่ค้า ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขยากที่สุดสำหรับอภิมหาโครงการที่มีพื้นที่เช่าขนาดใหญ่
ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้เกิดประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ กรณีห้างสรรพสินค้าระดับลักชัวรีจากญี่ปุ่นที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มไอคอนสยามเปิดห้างสรรพสินค้า “สยาม ทาคาชิมายะ” (Siam Takashimaya) ออกมาเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน (Operating revenue) เพียง 800 ล้านเยน หรือประมาณ 222 ล้านบาท ขาดทุนถึง 400 ล้านเยน หรือประมาณ 111 ล้านบาท ตรงกันข้ามกับทาคาชิมายะ สิงคโปร์ ที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 8,200 ล้านเยน หรือประมาณ 2,277 ล้านบาท ทะลุเป้า
ขณะเดียวกัน หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ได้พุ่งกระฉูดตามเป้าหมาย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ภาคท่องเที่ยวไทย ปี 2562 ล่าสุด รายได้รวมจะปิดที่ 3.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 4% เมื่อเทียบกับปี 2561 แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.96 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน 4% ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 167 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 1%
สำหรับปี 2563 ททท. คาดการณ์จะมีรายได้รวม 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 4% ไม่ต่างจากปีนี้ แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.5% ฟากตลาดในประเทศ คาดมีรายได้ 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากจำนวน นักท่องเที่ยวไทย 172 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 3%
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ไอคอนสยามยังถือเป็นศูนย์การค้าที่มีแฟลกชิปสโตร์จากแบรนด์ลักชัวรีจำนวนมาก และชฎาทิพพยายามปลุกปั้นแม็กเน็ตที่เรียกว่า “สิ่งมหัศจรรย์” อย่างเข้มข้น ตั้งแต่เปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ให้บริการ ดูจากสถิติหลังการเปิด 1 ปี ไอคอนสยามมีผู้เข้ามาใช้บริการในวันปกติ เฉลี่ย 80,000-120,000 คนต่อวัน ในวันเทศกาล เช่น วันปีใหม่ วันลอยกระทง วันสงกรานต์ มีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการ เฉลี่ย 200,000-350,000 รายต่อวัน มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 35 จากกลุ่มหลักคือ จีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV มียอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวราว 10,000-15,000 บาท ซึ่งยังสูงกว่าศูนย์การค้าทั่วไป
ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ยืนยันว่า ไอคอนสยามยังถือเป็น Game Changer Destination ที่สามารถสร้างศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวกลางเมืองของกรุงเทพฯ อยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งธนบุรีได้สำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีในศูนย์การค้าใดๆ ในโลก
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโซน “สุขสยาม” รวบรวม Local Heroes ศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้ทำการค้าขายในกรุงเทพฯ ให้เข้ามาทำการค้าขายบนเวทีที่มีศักยภาพ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา สุขสยามดึงดูดผู้คนไม่ต่ำกว่า 50,000-70,000 คนต่อวัน ผู้ค้าขายมีรายได้ดีมากและมีเงินทุนทำธุรกิจพัฒนาสินค้า
การจัดแสดงระบำสายน้ำ แสง สี เสียง มัลติมีเดีย ที่ยาวและยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น New Global Destination มี World Class Attraction
การจับมือกับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดตัว ทรู ไอคอน ฮอลล์ ศูนย์การประชุมระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย ความจุขนาด 2,700 ที่นั่ง รองรับการจัดงานประชุมและรับโชว์ต่างๆ รวมทั้งการสร้าง ริเวอร์ มิวเซียม แบงค็อก พื้นที่ศิลปะและพิพิธภัณฑ์ระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย โดยเปิดเฟสแรก ‘ไอคอนสยาม อาร์ท สเปซ’ จัดนิทรรศการศิลปกรรมของศิลปินทั่วประเทศ มีผู้ชมงานมากถึง 100,000 คน และเปิดเฟสสอง ‘ริเวอร์ มิวเซียม ฮอลล์’ จัดแสดงงานสำคัญจากทั่วโลก ส่วน ‘ริเวอร์ มิวเซียม แบงค็อก’ พิพิธภัณฑ์ระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย จะเปิดให้บริการปลายปี 2563
นอกจากนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 ยังลุยเพิ่มแม็กเน็ตใหม่อีก 4 แบรนด์ใหญ่ ได้แก่ สวนสนุกในร่ม “ซุปเปอร์พาร์ค” ของกลุ่มธุรกิจสวนสนุกยักษ์ใหญ่จากประเทศฟินแลนด์ พื้นที่มากกว่า 4,000 ตารางเมตร เน้นการสร้างฐานเครื่องเล่นและกิจกรรมกีฬาเจาะกลุ่มครอบครัวที่ทุกคนสามารถร่วมกิจกรรมได้ทุกวัย ไม่ใช่แค่เด็กเหมือนสวนสนุกในร่มแบรนด์อื่น
การเปิดตัวภัตตาคารฝรั่งเศสไฟล์ไดนิ่ง Blue by Alain Ducasse โดยเชฟ Alain Ducasse หนึ่งในสองพ่อครัวระดับโลกที่ครอบครองมิชลินสตาร์กว่า 21 ดวง และการันตีความอร่อยด้วยร้านอาหาร 30 แห่ง ใน 7 ประเทศ ซึ่ง Alain Ducasse ตัดสินใจสร้างแบรนด์ใหม่ให้ประเทศไทยเป็นที่แรกและที่เดียว
การดึง %ARABICA ร้านกาแฟชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสาขาใน 12 ประเทศทั่วโลก โดยเข้ามาเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก และล่าสุดเผยโฉม เดียร์ทัมมี่ (Dear Tummy) Foods Market คอนเซ็ปต์ใหม่ ทั้งวัตถุดิบที่คัดจากทั่วโลก และจุดขายพิเศษ คือ Food Artisans ผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการเสนอเมนูต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ
ดังนั้น จึงน่าจับตาไอคอนสยามเฟส 2 จะตื่นตาตื่นใจเพียงใด และเหนือสิ่งอื่นใดจะเกิดสงครามชิงเดสทิเนชั่นระลอกใหม่อีกครั้ง ซึ่งทุกค่ายล้วนเป็นทุนยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น
1 ปี กับ 11 ปรากฏการณ์
1. ไอคอนสยามเป็นโครงการภาคเอกชนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 55,000 ล้านบาท
2. ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ 5,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 300,000 อัตรา
3. สร้างศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวใหม่ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี
4. มูลค่าที่ดินย่านคลองสานสูงขึ้นเท่าตัว จากตารางวาละ 2 แสนบาท เป็น 4-5 แสนบาท
5. ในปี 2561-2562 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งธนบุรีมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ 20 โครงการ 12,000 ยูนิต
6. ธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยาเติบโตขึ้นกว่า 20% ทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โรงแรม โครงการมิกซ์ยูส แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจเรือ ร้านอาหาร
7. ระบบการเดินทางโดยแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น 10-15% ผู้สัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้นวันละ 10,000 คน หรือปีละ 3,650,000 คน
8. อัตราการเข้าพักของโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเติบโต 10% อัตราการเข้าพักของโรงแรมระดับ 5 ดาวในพื้นที่เพิ่มขึ้น 85-90%
9. พื้นที่ “สุขสยาม” ขนาดกว่า 10 ไร่ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน 77 จังหวัด
10. ไอคอนคราฟต์ เพิ่มคุณค่าผลงานช่างฝีมือไทยกว่า 500 ราย เพิ่มโอกาสบนเวทีโลก
11. การจุดประกายโครงการต้นแบบค้าปลีก แนวคิดใหม่ระดับโลก