วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ออร์แกนิกมาร์เก็ต ดาวรุ่งพุ่งแรง สวนการเมืองพิษพาราควอต

ออร์แกนิกมาร์เก็ต ดาวรุ่งพุ่งแรง สวนการเมืองพิษพาราควอต

แม้การเมืองพิษพาราควอตยังคุกรุ่น หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีมติยืดการแบนสารเคมีพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้สารไกลโฟเสต สวนทางกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนหลัก ผลักดันห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัว แต่ข้อมูลเรื่องอันตรายของสารเคมีในพืชผักผลไม้ที่หลั่งไหลออกสู่สาธารณะส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือ “ออร์แกนิก” คึกคักและมีแนวโน้มติดธุรกิจดาวรุ่งในปี 2563

ขณะเดียวกัน ตลาดสินค้าออร์แกนิกในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับตลาดทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราขยายตัวปีละ 20% โดยกลุ่มยุโรปและอเมริกาเหนือถือเป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 90% แบ่งเป็นตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 45,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยตลาดเยอรมนี มูลค่า 10,040 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีมูลค่าเม็ดเงินราว 3,000 ล้านบาท และเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2,100 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์หลังจากนี้ความต้องการจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากย้อนรอยตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย เริ่มชัดเจนระหว่างปี 2533-2534 จากกระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทรนด์การบริโภค “อาหารเพื่อสุขภาพ” จนทำให้ธุรกิจอาหารสุขภาพเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เริ่มเปิดตัว โดยร้านค้ายุคแรกที่รู้จักกัน เช่น ร้านกรีนการ์เด้น

หลังจากนั้น ช่วงปี 2535-40 ถือเป็นยุคทองของร้านสุขภาพ ประมาณว่ามีร้านค้าขนาดเล็กที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 100 ร้าน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการในขณะนั้นมีนโยบายส่งเสริม “อาหารปลอดภัย” ทำให้ผู้บริโภคสับสนระหว่างผลผลิตอาหารปลอดภัยกับเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศชะลอตัว ผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจยุค “ต้มยำกุ้ง” ส่งผลให้ตลาดหยุดชะงักไป

กระทั่งปี 2546 มีการจัดประชุมนานาชาติเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization-FAO) โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินและกรีนเนทเป็นเจ้าภาพหลัก กระตุ้นให้เกิดความสนใจทั้งการผลิต การบริโภค และการผลักดันนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้มีการฟื้นตัวของตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

นอกจากนี้ มีการริเริ่มใช้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์กับผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย มีผู้ประกอบการค้าปลีกที่เน้นเจาะตลาดเกษตรอินทรีย์ เช่น ร้านเลมอนฟาร์ม รวมถึงกลุ่มโมเดิร์นเทรดเห็นแนวโน้มทิศทางของตลาดเกษตรอินทรีย์ เริ่มจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่่มขึ้น เช่น ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ กูร์เมต์มาร์เก็ต โฮมเฟรชมาร์ท

เรียกได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ต่างหันมารุกขยายตลาดออร์แกนิกเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีกำลังซื้อสูงและไลฟ์สไตล์ต้องการเลือกสรรผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ

กลยุทธ์หลักๆ ทั้งการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศและนำเข้าผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมจากต่างประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดสารเคมี จนถือเป็นจุดแข่งขันใหม่ในสมรภูมิธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต

สุภาวดี นิมมานะเกียรติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายจัดซื้อสินค้าผักและผลไม้ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กรุ๊ป กล่าวว่า เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล พยายามนำเสนอสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องจนถือเป็นเอกลักษณ์หลัก ซึ่งล่าสุดร่วมกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) และคณะกรรมการวอชิงตันแอปเปิล (WAC) จัดงาน Global Washington Apple Week เปิดฤดูกาลวอชิงตันแอปเปิล 2019 เพื่อให้ผู้บริโภคคนไทยได้เลือกซื้อแอปเปิลที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี แค่ล้างน้ำก็สามารถรับประทานได้ทันที และมีหลากหลายพันธุ์ เช่น เรดดิลิเชียส กาล่า ฟูจิ แกรนนี่ สมิธ ฮั่นนี่ คริสป์

แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าความอร่อย คือ วอชิงตันแอปเปิลเปิดเกมรุกตลาดไทย เนื่องจากประเทศไทยมียอดสั่งซื้อวอชิงตันแอปเปิลเติบโตเร็วมาก ขยับจากอันดับ 10 เมื่อ 2-3 ปีก่อน เป็นอันดับ 7 เมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 850,000 กล่อง (ขนาด 18 กก.) และคาดว่าปีนี้จะแตะ 1 ล้านกล่อง จนสมาพันธ์ส่งเสริมการส่งออกแอปเปิลจากรัฐวอชิงตันจัดให้ประเทศไทยติด 1 ใน 14 ประเทศตามโครงการทูตนักปลูกแอปเปิล เพื่อขยายตลาดส่งออกจากตลาดส่งออกที่มีกว่า 60 แห่งทั่วโลก

ทอด์ด ฟรายโฮเวอร์ ประธานสมาพันธ์ส่งเสริมการส่งออกแอปเปิลจากรัฐวอชิงตัน กล่าวว่า วอชิงตันแอปเปิล ต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเตรียมจัดทำภาพยนตร์โฆษณานำเสนอเรื่องราว 9 ความโดดเด่นวอชิงตันแอปเปิล และรัฐวอชิงตันถือเป็นแหล่งเพาะปลูกแอปเปิลที่ดีที่สุด

มี “ดิน” จากภูเขาไฟที่อุดมด้วยแร่ธาตุ มี “น้ำ” จากแม่น้ำโคลัมเบียที่ไหลผ่านภูเขา อุดมด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ สภาพอากาศที่ร้อนช่วงกลางวันและหนาวช่วงกลางคืน ทำให้แอปเปิลมีสีสันสวยงาม หวาน กรอบ หอมและฉ่ำ

ด้านซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่อย่างกูร์เมต์ เอเชีย ล่าสุดจับมือกับบริษัท สยามพิวรรธน์ เปิดตัว เดียร์ ทัมมี่ ไลฟ์สไตล์ซูเปอร์มาร์เก็ตและสเปเชียลตี้สโตร์ คอนเซ็ปต์ใหม่ สาขาแรกในไอคอนสยาม โดยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเดสทิเนชั่นแห่งใหม่สำหรับคนรักอาหารและรักสุขภาพ

ภายในเดียร์ ทัมมี่ แบ่งเป็นโซนโกรเซอรี่ จำหน่ายสินค้าอาหารทั่วไป และโซนโกรเซอรองต์ ประกอบด้วยร้านอาหาร 7 แบรนด์ ได้แก่ Green Grocer ร้านผักผลไม้สุขภาพจากฟาร์มฟ้าประทานจากวังน้ำเขียว, โครงการหลวงและฟาร์มจากเกษตรชุมชน, ร้านอาหารทะเล Fiskerbar ร้านไส้กรอกหมู Flying Pig Sausage Haus ร้านเนื้อ Marble Marvellous ร้าน Shrimp Shack ร้านไก่ย่าง Klong San Poultry Market และร้านอาหารยุโรปสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน Taberna ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีลูกค้า 5,000 คนต่อวัน รายได้ปีแรกประมาณ 300 ล้านบาท และมีแผนขยายสาขา ทั้งรูปแบบสแตนด์อโลนและในศูนย์การค้า

แต่ทั้งหมดทั้งมวลเมื่อเทรนด์รักสุขภาพและต่อต้านสารเคมีในพืช ผัก ผลไม้ กำลังเป็นปัจจัยกระตุ้นตลาดออร์แกนิกมาร์เก็ตเติบโตแบบดับเบิ้ลจากช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย เม็ดเงินไม่ใช่แค่ 3,000 ล้านบาท

ประเด็นอยู่ที่กลุ่มเกษตรกรไทยจะสามารถช่วงชิงไปได้มากน้อยเพียงใด หรือเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นจะหายกลายเป็นแหล่งรายได้ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่และทุนต่างชาติ ซ้ำรอยธุรกิจค้าปลีกอย่างที่ผ่านมาอีก

ใส่ความเห็น