น้อยคนนักที่จะสงสัยและหาคำตอบว่า เหรียญที่กระทบกันส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งจากในกระเป๋าเรานั้น มีเรื่องราวการเดินทางมาอย่างไรบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า เหรียญกษาปณ์ทุกเหรียญล้วนแล้วแต่มีที่มา และเรื่องราวมากมายแฝงเร้นอยู่
ย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน ผู้จัดการ 360 องศา เคยนำเสนอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์เหรียญในบริบทที่ว่า “พิพิธภัณฑ์เหรียญ ทุกการเดินทางมีเรื่องราว”
ในเวลานั้นการถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของเหรียญเป็นเพียงแค่ปฐมบทเท่านั้น หาใช่บทสรุปของการเดินทาง จวบจนกระทั่งเวลานี้ที่พิพิธภัณฑ์เหรียญได้เปิดให้บริการแก่นักสะสม และผู้ที่สนใจอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้การบริหารงานของกรมธนารักษ์
บรรยากาศประชาชนเข้าคิวเพื่อจองและแลกซื้อเหรียญที่ระลึกเนื่องในวันสำคัญต่างๆ คงเป็นภาพที่คุ้นตาไม่น้อย ไม่ว่าผู้คนที่ต่อแถวจะมีความจำนงที่จะซื้อเหรียญเพื่อเก็บไว้เอง หรือเพื่อนำไปเก็งกำไรต่อก็ตามที
ทว่า เหรียญที่ระลึกเหล่านั้นไม่ได้มีคุณค่าอยู่ที่ความสามารถในการจับจองจนได้มาเป็นเจ้าของเท่านั้น หากแต่เหรียญที่ระลึกเป็นเสมือนเครื่องบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับบุคคล วันหรือเหตุการณ์สำคัญ
และนั่นทำให้เหรียญเหล่านี้ไม่ได้มีคุณค่าตามมูลค่าที่ปรากฏอยู่บนเหรียญเท่านั้น ทว่า เรื่องราวมากมายที่ถูกถ่ายทอดลงบนเหรียญต่างหาก ที่บ่งบอกและแสดงให้เห็นคุณค่าของเหรียญนั้นๆ อย่างแท้จริง
ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ถือเป็นบททดสอบความมานะอุตสาหะของนักสะสมเหรียญและนักเก็งกำไรได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากที่เหรียญมาอยู่ในครอบครองแล้ว จะมีสักกี่คนที่ยังหมั่นหยิบเหรียญเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อหวนรำลึกถึงและมองคุณค่าของมัน
นี่อาจเป็นโจทย์สำคัญของกรมธนารักษ์ ที่นอกเหนือไปจากหน้าที่หลักในด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์ทั้งสองชนิด คือ เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก โดยเหรียญทั้งสองชนิดทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต้นกำเนิดของเหรียญที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งน้อยคนนักจะได้รู้
และเช่นเคย บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ที่เคยออกแบบนิทรรศรัตนโกสินทร์ พิพิธบางลำพู และศูนย์การเรียนรู้อีกมากมาย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการย่อยสารและตีโจทย์ในครั้งนี้ แม้ว่าพิพิธภัณฑ์เหรียญจะเปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 และเริ่มถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของเหรียญมาตั้งแต่ครั้งนั้น
แต่เหรียญกษาปณ์ถูกประกอบส่วนขึ้นจากเรื่องราวอีกมากมาย และพิพิธภัณฑ์เหรียญยังคงทำหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จนกระทั่งมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
ส่วนเติมเต็มของเรื่องที่ขาดหายไปบนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์
แม้ว่าภารกิจหลักของกรมธนารักษ์ด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง กระนั้น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งบริบทของกรมธนารักษ์ในการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ผ่านการจัดแสดงเงินตราโบราณ เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก เงินตราต่างประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจ นักสะสม เยาวชนและประชาชนทั่วไป
พิพิธภัณฑ์เหรียญถูกสร้างขึ้นจากแนวความคิด “วิถีแห่งเงินตรา สินล้ำค่าของแผ่นดิน” ซึ่งกรมธนารักษ์ได้มีนโยบายปรับปรุงอาคารสำนักงานบริหารเงินตรา และปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารภูมิทัศน์ภายนอกรวมไปถึงระบบต่างๆ ให้ได้พิพิธภัณฑ์สวยงามที่พรั่งพร้อมไปด้วยความทันสมัย และเหนืออื่นใดคือแนวคิดอารยสถาปัตย์ โดยประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไร้ข้อจำกัด ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และชาวต่างชาติ
แท้จริงแล้ว หากบนโลกนี้มีเหรียญเพียงแค่หนึ่งเหรียญ ก็คงมีเรื่องราวให้เล่าขานกันได้ไม่รู้เบื่อ กระนั้นสิ่งที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นับเป็นเสมือนการไขความลับและเล่าเรื่องต้นกำเนิดของเหรียญได้อย่างสนุก
พิพิธภัณฑ์เหรียญเป็นเสมือนแหล่งรวมวัตถุอันมีค่าอย่างเหรียญกษาปณ์ไว้ ซึ่งคุณค่าของเหรียญหาใช่จะเป็นมูลค่าที่ปรากฏบนเหรียญเท่านั้น เมื่อคุณค่าของเหรียญหนึ่งเหรียญ กลับมีเรื่องราวแอบซ่อนอยู่
และเหรียญคือเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทาง และเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงได้อย่างดี
พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของเงินตรา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะเปลี่ยนไปสู่ยุคที่ใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ผ่านห้องปฐมบทแห่งเงินตรา ห้องเส้นทางวิวัฒนาการเงินตรา ซึ่งเปิดให้เข้าชมในเฟสแรกเมื่อปี 2557
เฟสสองของพิพิธภัณฑ์เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการใช้เงินตราในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน ทวารวดี ลพบุรี ศรีวิชัย และการเริ่มต้นการใช้เงินตราในอาณาจักรไทย เริ่มจากสมัยสุโขทัย อยุธยา โดยเหรียญที่เป็นไฮไลต์ในยุคนี้ เช่น พดด้วงทองคำตราพระมหามงกุฎ-พระแสงจักร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกสำหรับพระราชทานในโอกาสสำคัญ และเหรียญกษาปณ์ทองคำ ทศ พิศ พัดดึงส์ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาทองคำล้นระบบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำทองคำมาผลิตเป็นเหรียญกษาปณ์ทองคำ และนำออกมาใช้หมุนเวียนชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตลอดจนค้าขายกับชาวต่างชาติ ทั้งหมดนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่ห้องเริ่มต้นอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงเงินตราที่ผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9 ที่นำเสนอความเฟื่องฟูทางการค้าและระบบเงินตราที่นำไปสู่ความเป็นอารยะแห่งประเทศสยาม เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเงินพดด้วงสู่เหรียญกษาปณ์ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของนวัตกรรมการผลิตเหรียญของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีไฮไลต์ เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระมหามงกุฎ-กรุงสยาม หรือ เหรียญแต้เม้ง เหรียญเงินตราพระบรมรูป-ตราแผ่นดิน พดด้วงตราพระแสงจักร-จุลมงกุฎ-ช่อรำเพย
ปัจจุบันมีเหรียญที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ทั้งสิ้น 4,382 ชิ้น/เหรียญ แบ่งเป็นเงินตราโบราณ จำนวน 705 ชิ้น เหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกในรัชกาลที่ 9 จำนวน 1,298 เหรียญ และเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกนานาชาติ 2,379 เหรียญ
แม้ว่าเหรียญที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคนตอนนี้จะไม่มีเรื่องราวของการเดินทางมากมายนัก แต่อย่างน้อยสิ่งที่ปรากฏอยู่บนเหรียญทั้งสองด้าน รวมไปถึงด้านข้าง ก็ล้วนมีเหตุผลและมีเรื่องราวให้น่าค้นหาอยู่ไม่น้อย พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์อาจมีคำตอบ