เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ของมหาเศรษฐี “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เดินหน้าขยายฐานต่อเนื่อง หลังจากเปิดให้บริการ Movenpick BDMS Wellness Resort เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา จับกลุ่มต่างชาติและเจาะตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ล่าสุด เผยโฉมโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (Bangkok International Hospital หรือ BIH) ปลุกปั้นจุดขายใหม่ ‘Smart Hospital’ ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย
แน่นอนว่า การผลักดัน “Smart Hospital” มาจากการเร่งไล่ให้ทันกับความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีบวกกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความสะดวกรวดเร็ว แต่ต้องแม่นยำถูกต้อง เนื่องจากธุรกิจโรงพยาบาลมี “ชีวิต” เป็นเดิมพัน
ไมเคิล เดวิด มิตเชลล์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 47 ปี ของ BDMS โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพการบริการและการรักษา โดยเปิดให้บริการการรักษาด้านโรคสมองและระบบประสาท โรคกระดูกและข้อ และโรคกระดูกสันหลัง มีทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูงและมีความชำนาญ เทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Smart Hospital”
ไม่ว่าจะเป็นระบบการสั่งยาทางคอมพิวเตอร์ ใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Records) ระบบ Smart ICU ดูแลผู้ป่วยวิกฤต ระบบการควบคุมภายในห้องพักอัตโนมัติ (In-room Automation System) รวมถึงแอปพลิเคชัน My B+ บนมือถือเพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลการรักษาและบริการต่างๆ
มีหุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล ARTIS Pheno เป็นการผ่าตัดด้วยระบบหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ที่ให้ภาพ 3 มิติที่ละเอียดคมชัดสูง ในการผ่าตัดแผลเล็ก โรคกระดูกและข้อ
มีห้องผ่าตัดอัจฉริยะไฮบริด (Hybrid OR) เป็นนวัตกรรมห้องผ่าตัดที่ผสมผสาน imaging system เช่น เครื่องซีทีสแกน (CT) และเครื่องสแกนสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เข้ากับระบบนำวิถี (Navigation system) และเครื่องมือผ่าตัดอื่นๆ ไว้ในห้องผ่าตัดห้องเดียว
มี Biplane Interventional Suite ห้องผ่าตัดสำหรับโรคสมองและหลอดเลือด ที่ติดตั้ง angiogram ช่วยให้เห็นภาพของระบบประสาทและหลอดเลือดแบบ 3 มิติ
นอกจากนี้ มีเครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด เครื่องสแกนสนามแม่เหล็กไฟฟ้า 3 เทสลา (3-Tesla MRI scan) เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้าของเครื่องสแกนสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มของสนามแม่เหล็กระดับ 3 เทสลา สามารถให้ภาพที่มีคุณภาพสูง ช่วยเพิ่มการมองเห็นของอวัยวะต่างๆ รวมถึงเนื้อเยื่อ กระดูกและโครงสร้างภายในร่างกายอย่างละเอียด กายภาพบำบัดด้วยเครื่องหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robot-assisted gait training: RAGT) เน้นการฝึกเคลื่อนไหวและควบคุมกล้ามเนื้อ สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือระบบความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ
ที่สำคัญ การสร้างประสบการณ์ด้านบริการเทียบโรงแรมระดับ 5 ดาว ทั้งการออกแบบตกแต่ง มีการจัดแสดงงานศิลปะบนผนังในทุกมุมของโรงพยาบาล และเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างบรรยากาศการรักษาพยาบาลในรูปแบบใหม่ โดยห้องพักผู้ป่วยทุกห้องมีหน้าต่างบานใหญ่เปิดรับแสงธรรมชาติ มีบริการ Butler หรือผู้ดูแลส่วนตัวจากห้องพักและบริเวณต่างๆ ทั่วทั้งโรงพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลเป็นการขยายพื้นที่ต่อยอดจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย 7 ย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 172 เตียง 5 ห้องผ่าตัด และ 1 ห้อง Intervention Suite เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในเฟสแรก ประกอบด้วยห้องผู้ป่วย 15 ห้อง จากโครงการทั้งหมด 140 ห้อง และห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) อีก 19 ห้อง จากทั้งหมด 32 ห้อง ก่อนจะเปิดครบทุกส่วนภายในปี 2564
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักพุ่งเป้าทั้งลูกค้าในและต่างประเทศ กลุ่มกำลังซื้อสูง เนื่องจากการวาง Positioning เป็น Smart Hospital ระดับ 5 ดาว อัตราค่าบริการ ค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ และค่าห้องอยู่ในระดับซูเปอร์ไฮเอนด์
หากเปรียบเทียบเฉพาะอัตราค่าบริการและห้องพักจัดว่าสูงกว่าเรตปัจจุบันของโรงพยาบาลกรุงเทพกว่าเท่าตัว โดยโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลเฟสแรก มีห้องพัก 2 ประเภท คือ Premium Deluxe ขนาดพื้นที่ 32 ตารางเมตร (ตร.ม.) อยู่ที่ 23,000 บาทต่อคืน แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร 13,500 บาท ค่าบริการพยาบาลทางวิชาชีพและสหสาขา 6,000 บาท และค่าบริการโรงพยาบาล 3,500 บาท
ห้องพักประเภท Premium Superior ขนาดพื้นที่ 40 ตร.ม. อยู่ที่ 30,000 บาทต่อคืน แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร 20,000 บาท ค่าบริการพยาบาลทางวิชาชีพและสหสาขา 6,000 บาท และค่าบริการโรงพยาบาล 4,000 บาท
ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ห้องพักประเภท Standard เฉลี่ยคืนละ 10,000 บาท แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร 4,300 บาท ค่าบริการพยาบาล 3,900 บาท ค่าบริการ 1,800 บาท
ห้องพักประเภท Deluxe คืนละ 16,800 บาท แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร 10,900 บาท ค่าบริการพยาบาล 3,900 บาท ค่าบริการ 2,000 บาท และห้องประเภท Superior เฉลี่ยคืนละ 22,300 บาท แยกเป็นค่าห้องและค่าอาหาร 15,900 บาท ค่าบริการพยาบาล 3,900 บาท และค่าบริการ 2,500 บาท
นพ. อัศวิน ภูวธนสาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยอาจดูยังไม่ดี แต่ธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสังคมสูงอายุที่ขยายตัวขึ้น และความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเท่าที่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลูกค้ายังเป็นคนไทยราว 70% ส่วนกลุ่มต่างชาติ 30% หลักๆ มาจากเมียนมา เวียดนาม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีบริษัทประกันเข้ามาติดต่อเพื่อวางแผนกรมธรรม์ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลถือเป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งตามแผนขยายอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลแบบรอบด้าน เพราะช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เครือ BDMS พยายามอัปเกรดแบรนด์โรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับบนและหนีพิษเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าระดับกลาง
ปัจจุบัน BDMS ถือเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียแปซิฟิก มีโรงพยาบาลในเครือข่ายครอบคลุมทุกภูมิภาค จำนวน 48 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ รวม 8,299 เตียง ภายใต้ 6 แบรนด์หลัก
ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพมีเครือข่าย 23 แห่ง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลสมิติเวช 6 แห่ง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท 5 แห่ง กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล 6 แห่ง กลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่น 5 แห่ง และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล 2 แห่งในประเทศกัมพูชา คือ โรงพยาบาลรอยัลอังกอร์และรอยัลพนมเปญ นอกจากนี้ ยังถือหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเอกอุดร ถือหุ้นในบริษัท อุดรพัฒนา (1994) สัดส่วน 25.1% กับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยถือหุ้นในบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 20.5%
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโลมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยชาวต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการเป็น 30-40% จากเดิม 25% และเบนเข็มเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้นจากเดิมที่เคยเน้นกลุ่มระดับกลาง โดยทุ่มเงินลงทุนยกระดับการให้บริการสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ก้าวหน้าระดับโลก (State of the Art Medical Campus) ภายใต้โปรเจกต์ “พญาไท เปาโล เมดิคอล แคมปัส” หรือ PMC
รูปแบบคือ เลือกโรงพยาบาล 3 แห่ง จากทั้งหมด 11 โรงพยาบาลในเครือที่มีทำเลที่ตั้งใกล้เคียงกัน ได้แก่โรงพยาบาลพญาไท 1 พญาไท 2 และ เปาโล พหลโยธิน นำจุดแข็งความเชี่ยวชาญของแต่ละโรงพยาบาล มาให้บริการผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ทั้งในกลุ่มโรคซับซ้อน เวชศาสตร์การดูแลสุขภาพ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยกรรม และเป็น Medical Campus ที่มีการวิจัยพัฒนาทางวิชาการทางการแพทย์ เพื่อหาแนวทางรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน เพิ่มห้องพักระดับ Premium Prestige Ward อีก 16 ห้อง และหอผู้ป่วยวิกฤต 8 ห้อง เน้นการขยายศูนย์เฉพาะทาง เช่น เปิดคลินิกเวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) เพื่อรับเทรนด์ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ และเปิด Line @ Chat กับหมอทีมชาติ เปิดศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ศาสตร์ชะลอความเสื่อมของร่างกายแบบองค์รวม และเตรียมแผนลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างอาคารผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยแตะ 1,000 เตียง ในอนาคต
ทั้งหมดไม่ใช่แค่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน แต่ยังหมายถึงการสร้างฐานอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งในเอเชีย ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของหมอที่ร่ำรวยที่สุดในไทยที่ชื่อ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ”