วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > จากสงครามการค้าสู่ GSP แผลกดทับคุกคามเศรษฐกิจไทย

จากสงครามการค้าสู่ GSP แผลกดทับคุกคามเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นอกจากจะปราศจากสัญญาณบวกที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวกระเตื้องขึ้นในระยะสั้นแล้ว ดูเหมือนว่าในระยะยาวที่ถัดออกไปสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมก็ถูกกระหน่ำด้วยปัจจัยลบและความเสี่ยงที่ฉุดรั้งทั้งความเชื่อมั่นและศักยภาพในการพัฒนาที่น่ากังวลไม่น้อยเลย

ภาวะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มักได้รับการอธิบายจากภาครัฐว่าเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกว่าด้วยข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจแผ่กว้างไปทั่วทุกมุมของโลก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีพื้นฐานที่ดี และกำลังดำเนินไปบนหนทางที่ถูกต้องเหมาะสมตามแนวทางและวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลได้กำหนดวางไว้ตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา และเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้าก็ตาม

ตัวเลขการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละไตรมาสในลักษณะที่พร้อมสร้างปรากฏการณ์จุดต่ำสุดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้รับการอธิบายว่ายังเป็นตัวเลขที่สะท้อนการขยายตัวอยู่แต่น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเท่านั้น และไม่ใช่สิ่งที่ควรวิตกกังวลมากนัก เพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมาถูกทางแล้ว และผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากกว่าที่จะเรียกร้องมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐ

กรณีที่ว่านี้ ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการสำรวจในแต่ละเดือน ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 18 ปี แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่โหมประโคมออกมาอย่างหนักก็ตาม

เหตุปัจจัยที่ปรากฏจริงอยู่เบื้องหน้าไม่สามารถฉุดรั้งความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งใน-นอกประเทศได้ ที่พร้อมจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของกลไกภาครัฐในการผลักดันมาตรการและนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นเงื่อนไขว่าด้วยความกังวลใจในเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต

ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในระดับ 57.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมในระดับ 67.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.3 สะท้อนการปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน ที่อยู่ในระดับ 59.3 68.5 และ 88.9 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติและถอยห่างจากระดับที่ 100 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความรู้สึกและจิตวิทยาของสังคมว่าผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

ความเป็นไปดังกล่าวส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 47.9 มาอยู่ที่ระดับ 46.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 217 เดือนหรือ 18 ปี 1 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 เป็นต้นมา แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต หรือในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 82.9 มาอยู่ที่ระดับ 81.3 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในสถานการณ์เศรษฐกิจไทย แม้จะหวังว่าจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคตหากไม่มีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้ามาเพิ่มเติมมากไปกว่าปัจจุบันก็ตาม

แรงกดทับที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยข่าวการที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalized System Preference) สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จำนวน 573 รายการอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจจากการที่สหรัฐอเมริกา ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย 573 รายการ หรือราวร้อยละ 40 ของจำนวนสินค้าทั้งหมดของไทยที่ใช้สิทธิ์ GSP ในปี 2561 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ภายใต้เหตุผลว่าเป็นเพราะไทยไม่ได้ดำเนินการยกระดับสิทธิแรงงานในประเทศให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล

กรณีดังกล่าวแม้จะได้รับการประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยรวมมูลค่าประมาณ 1,279.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.6 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องบางส่วนเชื่อว่าส่งผลกระทบต่อหารส่งออกไทยไม่มากนัก เพราะสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการไม่ได้รับสิทธิหรือถูกตัดสิทธิ GSP ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดูจะเป็นภาพสะท้อนว่าการส่งออกไทยไร้ข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดยิ่งขึ้นไปอีก

การปรับตัวลดลงในตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในทุกรายการอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากความไม่มั่นใจและไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงสูงทั้งจากกรณีข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ และการถูกตัดสิทธิ GSP ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย

มูลเหตุที่ทำให้ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลง ในอีกด้านหนึ่งเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ที่มีความเสี่ยงและความผันผวนสูงนี้ ประกอบส่วนควบคู่กับความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคต ซึ่งยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมให้ลดลงไปอีก

อาการป่วยไข้จากผลของการทรุดตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นประหนึ่งภาวะป่วยเรื้อรัง โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนทั่วไปเป็นประหนึ่งคนไข้รอการรักษาเยียวยาจากบทบาทหน้าที่ของกลไกรัฐไม่ต่างจากแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค เพื่อดำเนินการรักษาจัดการอย่างถูกจุดเหมาะสม ดูเหมือนจะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นไปอีก

เมื่อสภาพทางกายภาพที่แวดล้อมกำลังส่งผลให้เกิดแผลกดทับขนาดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยในนามเศรษฐกิจไทย อาจต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีลมหายใจรวยริน แต่ไม่สามารถลุกขึ้นช่วยเหลือตัวเองได้อีก นอกจากรอคอยปาฏิหาริย์ที่อาจไม่มีอยู่จริงในบริบทที่ดำเนินอยู่นี้

ใส่ความเห็น