วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สายน้ำและวิถีชุมชน เงาสะท้อนของสังคมที่เปลี่ยนไป

สายน้ำและวิถีชุมชน เงาสะท้อนของสังคมที่เปลี่ยนไป

คนไทยไม่สามารถตัดขาดจากสายน้ำได้ เมื่อสายน้ำหรือแม่น้ำทอดตัวผ่านชุมชน ผ่านเมือง ไม่ว่ายุคใดสมัยใดแม่น้ำจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจวบจนปัจจุบันกาล

หน้าที่ของสายน้ำเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากที่เคยถูกใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กัน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นตลาด ทุกวันนี้แม้บทบาทหน้าที่ของแม่น้ำจะลดลง ทว่าสายน้ำยังคงดำเนินไปตามครรลองเฉกเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

การเปลี่ยนผ่านของสังคมและผู้คนกลายเป็นตัวกำหนดบทบาทใหม่ให้แก่แม่น้ำไปโดยปริยาย วิถีชีวิตของคนไทยในยุคดิจิทัล ชีวิตที่หลายคนนิยามว่า คือชีวิตที่ศิวิไลซ์ ชีวิตที่ถูกกำหนดให้ดำเนินไปด้วยความไวของสัญญาณอินเทอร์เน็ตระดับ 4G

แต่น่าแปลกที่ความรวดเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ผู้คนหยุดความคำนึงถึงบรรยากาศและวิถีชีวิตเก่าๆ ที่ดำเนินคู่ไปกับสายน้ำได้เลย แต่กลับยิ่งโหยหาและปรารถนาที่จะดึงเอาความรู้สึกดั้งเดิมเหล่านั้นกลับมา

ประเพณีลอยกระทง เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี เพราะถึงแม้ว่า โลกจะหมุนเวียน ฤดูกาลจะผันผ่านไปนานเท่าไร งานลอยกระทงจะถูกสืบสานต่อไป ตามความเชื่อที่ว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ให้น้ำใช้อุปโภค บริโภค หรือบางคนเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการสะเดาะเคราะห์ และปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกจากชีวิต

งานลอยกระทงแต่ละปี ภาพจำที่ฉายชัดในความทรงจำของใครหลายคน คืองานลอยกระทงส่วนใหญ่ถูกจัดขึ้นภายในวัดวาอารามซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ติดคลอง ติดแม่น้ำ อาหารการกินมักหนีไม่พ้นขนมน้ำตาลปั้นรูปสัตว์ รูปดอกไม้ ลูกชิ้นปิ้ง สายไหม รำวง และเสียงเพลงที่เปิดคลอเบาๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ รวมไปถึงชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน เครื่องเล่นที่เด็กหลายคนต้องไม่พลาดสักครั้ง เหนืออื่นใดคือกระทงที่นำมาลอยล้วนแต่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเองในยามบ่ายจากต้นกล้วยใบกล้วยหลังบ้าน

เทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้บรรยากาศเหล่านี้ค่อยๆ เจือจางลงไปตามกาลเวลา การประดิษฐ์กระทงเพื่อนำไปลอยเองดูจะหายากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เมื่อความสะดวกสบายเข้ามาทดแทน กระทงก็หาซื้อง่ายขึ้นและราคาไม่แพง

เวลาในแต่ละวันยังคงเท่าเดิม ทว่า ผู้คนกลับใช้เป็นข้ออ้างว่า “เวลาเป็นสิ่งมีค่า” ด้วยการจ่ายเงินเพื่อประหยัดเวลากันมากขึ้น นั่นทำให้ธุรกิจกระทงประดิษฐ์ค่อยๆ เฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว

กระทงจากหยวกกล้วยมีน้ำหนักพอประมาณ ทำให้พ่อค้าแม่ค้านำเสนอกระทงโฟมเข้ามาในตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นว่าโฟมนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เมื่อโฟมคือวัสดุที่ต้องอาศัยเวลาในการย่อยสลายมากกว่า 500 ปี

คนไทยขึ้นชื่อเรื่องการเป็นนักประดิษฐ์และสร้างสรรค์ กระทงขนมปัง กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ จึงค่อยๆ ถูกแทนที่ ทว่าความย้อนแย้งที่ปรากฏตามภาพข่าวคือ กระทงประดิษฐ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาตินั้น ยังมีส่วนประกอบที่เป็นพลาสติกหรือเม็ดโฟมสำหรับใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรือกระทงขนมปังที่ใส่สีจนน่ากลัว แม้ผู้ผลิตจะอ้างว่าปลาสามารถกินได้ ถึงเวลานี้ไม่รู้ว่าควรสงสารใครมากกว่ากัน

แต่ละปี ในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนกระทงในวันลอยกระทงเกือบหนึ่งล้านใบ โดยข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในปี 2555 มีกระทงจำนวน 916,354 ใบ ปี 2556 865,415 ใบ ปี 2557 982,064 ใบ ปี 2558 825,614 ใบ ปี 2559 661,935 ใบ ปี 2560 811,945 ใบ ปี 2561 796,774 ใบ

และล่าสุดในปี 2562 การจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีกระทงจำนวน 502,024 ใบ ซึ่งกระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้จำนวน 483,264 ใบ หรือประมาณ 96.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังพบกระทงที่ทำจากโฟมจำนวน 18,760 ใบ หรือ 3.7 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนกระทงปีนี้กับปีก่อนหน้า ที่ลดจำนวนลงไปถึง 339,303 ใบ หรือราว 40.3 เปอร์เซ็นต์ นั่นอาจเป็นเพราะประชาชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังมีการรณรงค์ไม่ขอขมาพระแม่คงคาด้วยการสร้างขยะ ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะลอยกระทงผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น หรืองดลอยกระทงไปเลย ด้วยหวังว่าจะไม่เพิ่มปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ เมื่อที่ดินริมน้ำกลายเป็นพื้นที่ที่หลายคนปรารถนาจะได้มาครอบครอง เพื่อที่จะพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัยแนวตั้ง ห้างสรรพสินค้าริมน้ำ โรงแรม หรือทางเดิน ทางจักรยานริมแม่น้ำ ที่แม้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวของโครงการนี้จะเงียบหายไปจากสังคม ทว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ถูกตัดตกไปแต่อย่างใด

แน่นอนว่าหากโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยายังเดินหน้าต่อไป วิถีชีวิตผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม

นอกจากพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเสมือนแหล่งน้ำหวาน ที่ส่งกลิ่นเชิญชวนให้นักลงทุนแสวงหาผลกำไรเข้ามาจับจองและเปลี่ยนแปลงพื้นที่โดยรอบให้ทันสมัยหรือร่วมสมัยมากขึ้น ชุมชนที่อยู่บริเวณคูคลองสำคัญๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครค่อยๆ ปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความสวยงาม โดยมีจุดประสงค์ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามชุมชน อีกทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยโดยรวม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคลองโอ่งอ่าง ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกร้านรวงย่านสะพานเหล็กยึดครองมาอย่างยาวนาน กระทั่งกรุงเทพมหานครมีมติพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองโอ่งอ่างให้เป็นเสมือนเวนิสเมืองไทย แม้จะสร้างความไม่พอใจให้ผู้ค้าย่านสะพานเหล็กในช่วงแรก ทว่า ปัญหาทุกอย่างดูจะคลี่คลายไปในทางที่ดี และต้องยอมรับว่าการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง เป็นผลงานน่าชื่นชมไม่น้อย แม้จะใช้เวลาหลายปีก็ตาม หรือแม้จะเคยมีคำถามว่า เพราะเหตุใด กทม. ถึงปล่อยให้คลองโอ่งอ่างถูกผู้ค้าย่านสะพานเหล็กยึดครองเป็นเวลานาน

สิ่งที่ตามมาจากการพัฒนาพื้นที่คลองโอ่งอ่างคือแลนด์มาร์กการท่องเที่ยว ทั้งสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวถูกปิดกั้นด้วยแผ่นผ้าใบ แผ่นสังกะสีของหลังคาร้านรวงมานานหลายสิบปี

การพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำ ตลอดจนคูคลองสำคัญของกรุงเทพมหานคร ดูเหมือนจะเป็นโจทย์สำคัญที่จะตอบคำถามได้ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนได้

และเมื่อวันลอยกระทงที่ผ่านมา คลองโอ่งอ่างถูกใช้เป็นพื้นที่จัดงานลอยกระทง ผู้จัดงานนำเอากลิ่นอายบรรยากาศงานลอยกระทงในยุคเก่ามาถ่ายทอดในงาน เช่น การฉายหนังกลางแปลง การประดับประดาด้วยไฟแบบงานวัด แต่น่าเสียดายที่พื้นที่ของงานไม่ได้ยาวตลอดลำคลอง หากจัดงานเต็มพื้นที่น่าจะสร้างจุดสนใจและกลายเป็นแลนด์มาร์กสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ไม่ยาก

วิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กลับเป็นการเข้ามาถึงของบุคคลนอกพื้นที่ ที่พยายามยึดครองและเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นสิ่งใหม่ โดยหลงลืมไปว่า อะไรคือรากเหง้าของผู้คนในย่านนั้น

ใส่ความเห็น