Facebook ร่วมกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยและเชอิล ประเทศไทย ปล่อยแคมเปญ ‘The Story of Anonymous Samaritans’ ร่วมสร้างสังคมปลอดภัย ช่วยเหลือเกื้อกูล บรรเทาวิกฤตฆ่าตัวตาย
เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกในทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี Facebook ประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรด้านความปลอดภัย สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยและเอเจนซี่ระดับโลก เชอิล ไทยแลนด์เปิดตัวแคมเปญออนไลน์เพื่อสังคม ‘The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก’ กระตุ้นจิตสำนึกร่วมสร้างสังคมปลอดภัย กระตุ้นการตระหนักรู้ปัญหาการฆ่าตัวตายและส่งเสริมความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์
‘The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก’ เป็นแคมเปญรูปแบบวิดีโอสั้นพร้อมภาพวาดประกอบแบบเคลื่อนไหวฝีมือของนักวาดภาพประกอบไทย จั๊ก ปรีดิ์ จินดาโรจน์ บอกเล่า 10 เรื่องราวของอาสาสมัครจากสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้บริการ hotline เป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้ที่มีความทุกข์หรือความคิดฆ่าตัวตาย แคมเปญเล่าเรื่องประสบการณ์ภารกิจในการช่วยชีวิตผู้คนผ่านคลิปเสียงของอาสาสมัคร 10 คนจากสะมาริตันส์ โดยอาสาสมัครเหล่านี้มีประสบการณ์ทำงานมามากกว่า 30 ปี และเป็นการทำงานโดยไม่เปิดเผยตัวตนตามนโยบายของสมาคมฯ และเป็นการทำงานแบบจิตอาสาโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ โดยแคมเปญคลิปวิดีโอ 10 เรื่องดังกล่าวเป็นแคมเปญที่ปล่อยบนแพลทฟอร์ม Facebook ผ่านทางเพจของสมาคมสะมาริตันส์ https://www.facebook.com/Samaritans.Thailand/ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรเอเจนซี่โฆษณาระดับโลกนำทีมโดยสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย และสนับสนุนโดย Facebook ประเทศไทย สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
สมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นฮอตไลน์ศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมการดำเนินงานบน Facebook โดยให้บริการทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษทุกวันไม่มีวันหยุด ในช่วงเวลา 12.00 – 22.00 น. โดยมีแผนที่จะขยายเวลาให้บริการเป็นตลอด 24 ชั่วโมง โดยอาสาสมัครทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นก่อนที่จะสามารถให้บริการคลายทุกข์ที่ปลายสายได้
ในโอกาสเดียวกันนี้ Facebook ได้ประกาศยกระดับนโยบายในการทำงานเพื่อร่วมสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย สอดคล้องกับพันธกิจในการทำงานด้านความปลอดภัยของแพลทฟอร์มและความพยายามอย่างต่อเนื่องในการยกระดับการทำงานด้านเนื้อหาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง สโนว์ ไวท์ สเมลเซอร์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook กล่าวว่า “ในฐานะที่เราเป็นชุมชนออนไลน์ที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก การรักษาความปลอดภัยของผู้คนบนแพลตฟอร์มของเรามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่เรายังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในแต่ละประเทศ อย่างเช่นสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในโลกออนไลน์หรือแพลทฟอร์มบน Facebook และในชีวิตจริง Facebook มีความยินดีและภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสะมาริตันส์และพันธมิตรในการสร้างประสบการณ์เชิงบวกที่ปลอดภัยบนแพลทฟอร์มและยังเป็นการสร้างการรับรู้ในวงการเกี่ยวกับเครื่องมือการป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเป็นพันธมิตรด้านความปลอดภัยของ Facebook มาตั้งแต่ปี 2018 และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยที่อยู่ในคณะที่ปรึกษาระดับโลกด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายของ Facebook
คุณตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีและโซเชียบมีเดียว่าปัจจุบันพฤติกรรมของผู้คนในการสื่อสารได้เปลี่ยนไปมาก สมาคมฯ ได้มีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านทาง Facebook Page โดยเพจได้ทำหน้าที่ในการแบ่งปันข้อมูลและให้ความรู้กับผู้คนในการรับมือกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน อีกทั้งอาสาสมัครยังได้รับการติดต่อจากผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านทาง Facebook Messenger เพิ่มมากขึ้น “ในปี 2561 ที่ผ่านมา เราได้รับข้อความกว่า 3,000 ข้อความจากคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงเท่าตัว และในหกเดือนแรกของปี 2562 นี้ เราก็ได้รับข้อความมากกว่า 3,000 ข้อความผ่าน Messenger ซึ่งเราเห็นว่าวัยรุ่นหรือคนวัยหนุ่มสาวสะดวกใจที่จะส่งข้อความผ่านทางแอพฯ มากกว่า โซเชียล มีเดียในมุมมองนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้เข้าถึงความช่วยเหลือได้โดยตรง เพราะหลายคนยังติดที่ความรู้สึกว่าไม่กล้าโทรหรือรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะโทรศัพท์เข้ามาคุยกับอาสาสมัคร”
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยได้เปิดตัวแคมเปญ The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก’ ผ่านทางเพจ Facebook ด้วยความมุ่งหวังในการแชร์เรื่องราวของอาสาสมัครเพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้และเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างมากที่สุดด้วยเครื่องมือออนไลน์ของ Facebook “ก่อนหน้าเรามีแคมเปญวิดีโอที่ปล่อยออกมาทาง Facebook เมื่อปี 2015 หลังจากเหตุการณ์ที่น่าเศร้าของนักร้องชื่อดังที่จบชีวิตตัวเอง โดยเป็นคลิปที่ได้รับการชมมากอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในวิดีโอที่มีการรับชมมากกว่า 1.8 ล้านวิว และทุกวันนี้ก็ยังมีการแชร์วิดีโอตัวนี้อยู่ พวกเราคนทำงานก็รู้สึกว่าโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เป็นช่องทางที่ทรงพลังในการสร้างการรับรู้ให้คนตระหนักถึงปัญหาและหล่อหลอมจิตสำนึกที่เอื้ออาทรและห่วงใยกันมากขึ้น” คุณตระการกล่าว
คุณสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และรู้สึกชื่นชมกับความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของทางสมาคมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงรู้สึกสนใจในการช่วยสนับสนุนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้พูดคุยกับทางสมาคมอย่างจริงจังจึงได้เข้าใจว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ไม่มีงบด้านโฆษณา การขาดแคลนอาสาสมัคร รวมถึงยังไม่มีช่องทางการติดต่อที่ตอบรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ เราจึงพยายามให้ความช่วยเหลือทางสมาคมอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำแคมเปญต่างๆ รวมถึงการสร้างเว็บไซต์และเพจ Facebook ให้กับทางสมาคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีช่องทางสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”
“ส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาหลักของประเทศของเรา และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ช่วยโปรโมทและยกย่องการทำงานที่ยอดเยี่ยมของอาสาสมัครของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยในแต่ละวัน สำหรับกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ในการใช้ภาพวาดประกอบการเล่าเรื่องราวของอาสาสมัครของทางสมาคมนั้น มาจากวัตถุประสงค์ที่เราต้องการใช้วิธีการสื่อสารที่เรียบง่าย แต่มีพลังมากที่สุด เราเชื่อว่าการฟังเรื่องราวจากประสบการณ์ของอาสาสมัคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคงนึกภาพเองไม่ออก จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่คิดฆ่าตัวตายได้ยิ่งขึ้น และยังได้เรียนรู้ว่าการกระทำง่ายๆ อย่างการรับฟังปัญหาของผู้คนเหล่านั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้จริงๆ” คุณสาธิตกล่าวเสริม
ทั้งนี้ Facebook ได้รายงานความคืบหน้าในการยกระดับการทำงานด้านความปลอดภัยและเพิ่มทรัพยกรและความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองโดยมีการพัฒนาปรับปรุงวิธีการในการรับมือกับเนื้อหาบนแพลทฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายซึ่งเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกผ่านการร่วมประชุมและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การปรับนโยบายของ Facebook ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่อนุญาตให้มีการโพสต์รูปภาพการทำร้ายตัวเอง (cutting images) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสนับสนุนเนื้อหาที่กระตุ้นการทำร้ายตัวเอง และยังคงนำเสนอช่องทางความช่วยเหลือต่างๆให้กับผู้คนผ่านเทคโนโลยีต่างๆ บนแพลทฟอร์ม เช่น ระบบเอไอ โดยในช่วงเมษายน-มิถุนายน ปี 2562 นี้ Facebook ได้จัดการกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองบน Facebook ไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านเนื้อหา ร้อยละ 95 ของเนื้อหานี้มีการตรวจพบก่อนที่จะได้รับการรายงานจากผู้ใช้ ในช่วงเวลาเดียวกัน Facebook ยังได้จัดการกับเนื้อหามากกว่า 800,000 เนื้อหาบน Instagram และร้อยละ 77 เป็นการตรวจพบโดยระบบก่อนที่จะมีการรายงานจากผู้ใช้ นอกเหนือไปจากนี้ Facebook ยังได้เพิ่มทรัพยากรความช่วยเหลือบนแพลทฟอร์มด้วยการทำงานกับ Orygen หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านสุขภาพจิตเยาวชนโดยได้มีการเพิ่ม #chatsafe guidelines หรือคู่มือคำแนะนำสำหรับเยาวชนในการรับมือกับเนื้อหาหรือโพสต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเอง โดยสามารถดูคู่มือดังกล่าวได้ในศูนย์ให้ความช่วยเหลือของ Facebook (Safety Center) ที่ และจะมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทยเร็วๆ นี้
กรมสุขภาพจิตเผยรายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทย มีการพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากและทำให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นอันดับที่ 32 ของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที