วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > หนี้ครัวเรือนพุ่ง วิกฤตที่ไทยต้องเผชิญ

หนี้ครัวเรือนพุ่ง วิกฤตที่ไทยต้องเผชิญ

ภัยพิบัติที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เหมือนซ้ำเติมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หาหนทางตะเกียกตะกายขึ้นมายืนอยู่ขอบเหวแทบไม่เจอ ให้ตกต่ำและทับถมจมลงไปก้นเหวลึกกว่าเดิม เมื่อเวลานี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นประวัติการณ์

แม้คำว่า “หนี้” จะหมายถึงการมีภาระผูกพันที่ต้องชดใช้คืน ทว่า นัยความหมายของหนี้ครัวเรือนในอีกมิติ คือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางใด

ทั้งนี้ดูได้จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สอดคล้องกับระดับรายได้ของประชาชน หากหลังจากชำระหนี้สินแล้วยังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย นั่นหมายถึงเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

แต่หากภาระหนี้ครัวเรือนมากกว่ารายได้ครัวเรือนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในครัวเรือนใดครัวเรือนหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นเป็นการบ่งชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคของประเทศนั้นๆ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะชะลอตัวในทุกมิติ โดยมีปัจจัยที่สร้างผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลจากกระแสของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กำลังโรมรันห้ำหั่นกันอย่างต่อเนื่อง

สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยในแง่ของความต้องการสินค้าและภาคการผลิต ไม่ต่างจากระลอกคลื่นที่ถาโถมเข้าฝั่งที่ไร้ปราการป้องกัน นั่นย่อมเกิดความสูญเสียได้ง่าย รวมไปถึงความเป็นไปได้ของการหาทางออกอื่น ในที่นี้หมายถึงตลาดใหม่ แม้ว่าจะยังไม่สายที่จะมองหาตลาดใหม่สำหรับภาคการส่งออก แต่ต้องยอมรับว่าหลายประเทศได้รับผลกระทบไม่ต่างจากที่ไทยกำลังเผชิญมากนัก นั่นทำให้การรุกตลาดใหม่ของภาคส่งออกทำได้ยากมากขึ้น

เมื่อภาคการส่งออกเดินทางมาถึงขั้นวิกฤต ย่อมส่งผลต่อภาคการผลิตในประเทศ เมื่อสินค้าที่ปกติสามารถระบายออกไปได้อย่างต่อเนื่อง กลับกระจุกและช่องทางการกระจายสินค้าไปยังแหล่งอื่นเป็นไปได้ยาก

นั่นทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง กำไรลดลง ขณะที่ยังต้องแบกภาระต้นทุนอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสร้างให้เกิดความไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและเศรษฐกิจโลก ทางออกอาจเป็นไปได้ทั้งชะลอการลงทุนใหม่ในรายของผู้ประกอบการที่กำลังมีแผนในการขยายงานหรือขยายตลาด ขณะที่ทางออกของผู้ประกอบการบางรายอาจจบลงที่หยุดประกอบกิจการและจบลงด้วยการเลิกจ้าง

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีข่าวการประกาศเลิกจ้างให้ได้ยิน ได้อ่านอยู่บ้างประปราย ทว่าไม่ได้เกิดจากสถานการณ์จากเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยในปัจจุบันขณะ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสธารที่เปลี่ยนแปลงไปของการบริโภคในปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่แบรนด์ต่างๆ จะรักษาความจงรักภักดีในตัวแบรนด์หรือ Brand Loyalty ของผู้บริโภคเอาไว้ได้ตลอดไป

แน่นอนว่า เมื่อเกิดการเลิกจ้าง หรือภาวะการว่างงานมีสูงขึ้น ส่งผลถึงความไม่มั่นคงทางรายได้และหนี้ครัวเรือนที่จะต้องเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลการสำรวจภาวะการว่างงานเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า มีผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าที่ 1.0 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 5.4 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.3 หมื่นคน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็น 1.1 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่น่าจะส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นแล้ว ห้วงยามนี้ที่ไทยกำลังเผชิญกับอุทกภัยอีกระลอก น่าจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้สาหัสมากขึ้น เมื่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลง ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลง จากภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลจากการส่งออกที่หดหัว

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานในขณะนี้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังไม่น่าวางใจ นั่นเพราะตัวเลขอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการบริโภคที่จะปรับตัวลดลงจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และรวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนด้วย

ด้าน ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2562 จำนวนผู้มีงานทำคือ 37.8 ล้านคน และการจ้างงานลดลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง 4 เปอร์เซ็นต์ จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และก่อนหน้านี้ไทยประสบกับภาวะภัยแล้ง และตัวเลขผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรที่มีการจ้างงานลดลง เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกที่หดตัวลง แม้ว่าด้านการบริการสำหรับการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เลขาธิการ สศช. ยังเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2562 สูงถึง 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 78.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย โดยสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2560

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ทำให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลกที่มีหนี้ครัวเรือนสูงสุด และอยู่ในอันดับ 2 ในเอเชีย จาก 22 ประเทศ และมีความเป็นไปได้ว่าในไตรมาส 2/2562 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลขยายตัว 11.3 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2558

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าว อาจมองได้ว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น น่าจะหมายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนในภาคครัวเรือน หากจะมองในแง่มุมนั้นคงจะไม่ผิดนัก ทว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องนำไปพิจารณาคือ ในจำนวนหนี้ครัวเรือนนั้น จะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลด้วยเช่นกัน ซึ่งไตรมาสล่าสุด 2/2562 หนี้เอ็นพีแอลเพื่ออุปโภคสูงถึง 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็น 2.74 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อรวม

โดยยอดคงค้างหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์คือ 32.3 เปอร์เซ็นต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ สินเชื่อบัตรเครดิตที่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนมีการขยายตัวอีกครั้ง

ถึงจุดนี้ทิศทางของหนี้ครัวเรือน หนี้เอ็นพีแอล ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น มีคำถามว่า ภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาป้องปรามปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรวมหรือไม่

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล นอกเหนือไปจากมาตรการ LTV ที่ประกาศใช้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไปแล้วก่อนหน้านี้ จนส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เรียกร้องให้แบงก์ชาติชะลอหรือหยุดการใช้มาตรการดังกล่าว เมื่อจำนวนยูนิตของที่อยู่อาศัยรอขายหรือในส่วนที่ไม่สามารถโอนได้เหลือจำนวนมากขึ้น ในแง่มุมของผู้ประกอบการอาจจะมองว่า ยาแรงที่แบงก์ชาติประกาศใช้นั้นส่งผลให้เกิดซัปพลายที่คงค้างอยู่ในตลาด ทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจหรือต้องชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปก่อน

สำหรับมาตรการที่แบงก์ชาติจะนำมาใช้กับสินเชื่อส่วนบุคคลคือ มาตรการ DSR หรือ Debt Service Ratio ซึ่งแบงก์ชาติอยู่ในระหว่างดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินใน 2 เรื่อง คือ 1. การกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR ทั้งในส่วนภาระหนี้และรายได้ของผู้กู้

ปัจจุบันสถาบันการเงินมีการคำนวณที่แตกต่างกัน โดยล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลาง DSR ร่วมกันแล้ว และคาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางให้แบงก์ชาติได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

และ 2. การผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ไปใช้โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้ ขณะที่มาตรการ DSR Limit นั้นแบงก์ชาติยังไม่มีแผนที่จะนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ภายในปีนี้

ต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด เมื่อฟันเฟืองทุกชิ้นส่วนยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้จะมีการกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐด้วยการใส่เงินเข้ามาในระบบมากกว่า 3 แสนล้านบาท

ไทยจะเข้าสู่ยุคมืดทางเศรษฐกิจมากไปกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ คงเป็นคำถามที่ไม่อาจหาคำตอบได้ในเร็ววัน

ใส่ความเห็น