วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > วิกฤตภัยแล้ง และการจัดการที่ล้มเหลว?

วิกฤตภัยแล้ง และการจัดการที่ล้มเหลว?

ภาพผืนดินแตกระแหง ชาวนานั่งกอดเข่าทอดตามองต้นข้าวยืนต้นตาย ที่เคยเป็นภาพจำในอดีต บัดนี้ภาพเหล่านั้นหวนกลับมาในโลกยุคดิจิทัล ยุคที่สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกันได้เพียงปลายนิ้ว ยุคที่มนุษย์สามารถออกคำสั่งให้น้ำในแปลงเพาะปลูกพืช ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามบนโลกนี้

เป็นยุคที่มนุษย์สามารถจะรับรู้และคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะเพียงพอต่อการเพาะปลูกหรือไม่ รวมไปถึงปริมาณน้ำในเขื่อนที่จะสามารถจัดสรรสำหรับให้ประชาชนในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภค

เป็นอีกปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง ที่หลายฝ่ายเตือนภาครัฐให้เฝ้าระวังและหามาตรการแก้ปัญหาความต้องการน้ำกินน้ำใช้ โดยเฉพาะสำหรับภาคการเกษตร

เมื่อสถานการณ์ล่าสุดที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญคือ วิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะหนักสุดในรอบ 50 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่นอกจากฝนจะทิ้งช่วงแล้วน้ำในเขื่อนหรือในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภค

สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในครั้งนี้ว่า ไทยจะเจอกับสภาพอากาศร้อนที่ยาวนานขึ้น และภัยแล้งหนักกว่าทุกปี หรือเรียกว่าแล้งผิดปกติ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2562 ปริมาณฝนจะน้อยหรือทิ้งช่วง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังประสบกับภาวะภัยแล้ง ประเทศในแถบเอเชีย เช่น อินเดีย ปากีสถาน พม่า ต่างประสบวิบากกรรมไม่ต่างกัน

แน่นอนว่าภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แต่เพียงผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเท่านั้น ที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูก เมื่อปริมาณน้ำน้อยพืชผลการเกษตรย่อมมีจำนวนน้อยลง สินค้าเกษตรบางชนิดจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

นับเป็นงานหนักสำหรับรัฐบาลที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง เมื่อต้องเข้ามาทำงานด้วยการแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ซึ่งการแก้ปัญหาภัยแล้งนอกฤดูเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมไม่น้อย เมื่อส่วนหนึ่งของภัยแล้งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางธรรมชาติ

ทว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอนั้น เป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรที่มีจำกัด ว่าจะทำอย่างไรให้เพียงพอต่อความต้องการ เมื่อไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และพืชผลการเกษตรคือสินค้าส่งออกหลักของประเทศ

ล่าสุด รัฐบาลได้ประชุมเพื่อติดตามและแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยการแก้ไขวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้จะเป็นแบบบูรณาการ แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยมาตรการเร่งด่วนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทันที นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการพิจารณางบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2563 ได้กำชับให้การพิจารณาแผนงานสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำและนโยบายของรัฐบาล ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด จัดลำดับความสำคัญ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ จึงมอบให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และ สทนช. (สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ) พิจารณาความซ้ำซ่อนร่วมกับงบบูรณาการอื่นๆ งบตามภารกิจของหน่วยงานและงบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย

กระนั้นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถบรรเทาภัยแล้งได้คือการทำฝนหลวง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ออกปฏิบัติการฝนหลวงโดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 11 สิงหาคม จำนวน 4,214 เที่ยวบิน

แนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐเกี่ยวกับการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่เน้นไปเรื่องงานบูรณาการ ในยุค 4.0 จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อดูเหมือนว่าภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของหน่วยงานเสียก่อนที่จะสามารถขจัดปัญหาของพี่น้องประชาชนได้

สถานการณ์ภัยแล้งล่าสุดในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และมีผลกระทบต่อโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่าแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการภัยแล้งจังหวัดสุรินทร์ปี 2562 เพื่อกำกับการช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย

นอกจากจะมีปฏิบัติการฝนหลวงที่ดำเนินการมาตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังได้ทำการขุดเจาะน้ำบาดาลในโรงพยาบาลอีก 8 บ่อ ซึ่งได้ปริมาณน้ำ 800,000 ลิตร และยังใช้รถบรรทุกน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาคส่งน้ำไปให้โรงพยาบาลเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

หลังจากห้องประชุมปิดลงคงต้องติดตามกันต่อไปว่า งบประมาณที่ภาครัฐอนุมัติในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจำนวน 180,000 ล้านบาท จะสามารถบรรเทาวิกฤตภัยแล้งได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้การดูแลของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงกว่า 17,300 ล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจยาวนานขึ้นอีก 2 เตือน อาจจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูกพืชสำคัญอย่างข้าวนาปี รวมถึงระดับความรุนแรงของภัยแล้งน่าจะลดน้อยลงกว่าในช่วงรุนแรงที่สุดในเดือนมีนาคม-เมษายน ผนวกกับฝนที่อาจมีมาบ้าง แม้ว่าจะยังเป็นภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ซึ่งสภาพอากาศต่อจากนี้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะยังคงแห้งแล้ง รวมถึงแนวโน้มภัยแล้งที่อาจลดลง ท้ายสุดคาดว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นอีกราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าภัยแล้งจะมีระยะเวลาถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ทว่าเดือนสิงหาคมสถานการณ์กลับยังไม่คลี่คลาย และพืชผลการเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือข้าวนาปรังและอ้อย

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดการณ์ว่า ราคาข้าวและอ้อยอาจขยับขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงภัยแล้ง แม้ว่าในแง่ของภาพรวมราคาข้าวและอ้อยเฉลี่ยทั้งปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ ยังเป็นการซ้ำเติมรายได้ของเกษตรกรที่แย่อยู่แล้วให้ยากลำบากเพิ่มขึ้น

แม้ว่าสาเหตุของภัยแล้งจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ธรรมชาติ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และโดยการกระทำของมนุษย์ การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การทำลายธรรมชาติ ขาดการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบ

การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น ความเห็นแก่ตัว และการเพิกเฉยต่อผลของการกระทำของตนเอง สามัญสำนึกที่บกพร่อง กระทั่งถึงวันที่ผลของการกระทำแสดงผลชัดเจนเช่นทุกวันนี้

เวลานี้แม้รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหารงาน แต่ต้องแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างไม่จบไม่สิ้น และดูเหมือนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับการแก้ไขที่จุดหนึ่ง ปมของปัญหาจะเพิ่มยังจุดอื่นแทน หากไม่มีปัญหาภัยแล้ง อาจมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ดี ถ้าภาครัฐของไทยยังขาดการจัดการที่ดีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ใส่ความเห็น