วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สมรภูมิดรักสโตร์ เดือด “สมูท-อี” แตกไลน์ชนยักษ์

สมรภูมิดรักสโตร์ เดือด “สมูท-อี” แตกไลน์ชนยักษ์

สมรภูมิดรักสโตร์ร้อนเดือดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “สยามเฮลท์ กรุ๊ป” ผู้ปลุกปั้นเวชสำอาง สมูท-อี และผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก เดนทิสเต้ ประกาศแตกไลน์รุกธุรกิจดรักสโตร์แบรนด์ “P&F” โฉมใหม่ เพราะไม่ใช่แค่การเดินหน้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดร้านสุขภาพและความงามที่มีเม็ดเงินเดิมพันกว่า 2 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ผู้เล่นในสงครามล่าสุดล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ที่ปักหมุดยึดครองตลาดมานานหลายปี

ทั้งแบรนด์ต่างชาติอย่างวัตสันและบู๊ทส์ ร้านเพรียวของค่ายบิ๊กซี ร้านขายยาในเครือข่ายเทสโก้โลตัส รวมถึงร้านเอ็กซ์ต้าพลัสที่ค่ายเซเว่นอีเลฟเว่นของยักษ์ใหญ่ซีพีกำลังบุกปูพรมทั่วเมือง เพื่อเสริมจุดแข็งความเป็นร้านสะดวกซื้อที่ครอบคลุมสินค้าและบริการมากที่สุด

ภก.ดร.แสงสุข พิทยานุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเฮลท์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัททุ่มเงินลงทุนก้อนแรก 240 ล้านบาท ซื้อกิจการร้านขายยา P&F Super Drug ซึ่งเปิดให้บริการมานานกว่า 35 ปี มีสาขารวม 75 แห่งทั่วประเทศ และใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 200 กว่าล้านบาท รีแบรนด์ภาพลักษณ์ร้านโฉมใหม่ ทันสมัยขึ้น ภายใต้ชื่อ P&F Smooth Life

ที่สำคัญ ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาครบ 120 แห่ง และเตรียมทุ่มงบอีกราว 1,000-1,600 ล้านบาท ผุดขยายสาขาทั้งในรูปแบบสแตนด์อะโลนและในห้างสรรพสินค้าให้ครบ 800 แห่ง ภายใน 1-3 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “1 จังหวัด 1 ร้านขายยา” และ “1 อำเภอ 1 ร้านขายยา”

ทั้งนี้ เดิม P&F Super Drug เป็นร้านขายยาที่เปิดดำเนินการมานานถึง 35 ปีแล้ว จากการรวมตัวของเภสัชกร 5 คน โดยดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า จนกระทั่งตลาดร้านขายยามีการแข่งขันสูงมาก ทั้งการลดราคาสินค้า ลดการจ้างเภสัชกร จนทำให้ร้าน P&F Super Drug ต้องเปิดทางให้สยามเฮลท์ กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้นใหญ่

ขณะเดียวกัน ภก.ดร.แสงสุข เป็นเภสัชกรที่เคยทำธุรกิจร้านขายยาหลายสาขา เช่น สาขาสยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ซีคอนสแควร์ และบางลำพู เน้นจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ แต่เจอวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องเบนเข็มไปบุกธุรกิจเวชสำอาง สร้างแบรนด์สมูท-อี และเดนทิสเต้ จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ดอกเตอร์เกิด Passion อยากกลับมาสร้างดรักสโตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทยเหมือนในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี และในอังกฤษ

“ผมเห็นตลาดร้านขายยาเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก โดยเฉพาะการแข่งขันทำโปรโมชั่นลดราคามากกว่าเรื่องคุณภาพ ผู้บริโภคเริ่มมีโอกาสพบเภสัชกรในร้านขายยาน้อยลง ส่งผลให้การบริโภคยาขาดคุณภาพ และอาจทำให้เสียชีวิตจากการบริโภคยาได้ ซึ่งในอดีตประเทศไทยเคยมีปัญหาเภสัชกรไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ปัจจุบันเภสัชกรมีจำนวนมากเพียงพอ แต่ต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เชื่อว่ายังไม่สายเกินไปที่จะริเริ่มทำการตลาดแนวใหม่ เพื่อยกระดับร้านขายยาทั้งตลาดและถือเป็นการเดินหน้าธุรกิจครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปีของสยามเฮลท์ กรุ๊ป” ภก.ดร.แสงสุขกล่าว

แน่นอนว่า ในแง่ตลาดร้านขายยายังมีศักยภาพสูง อัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% และประเมินมูลค่ายาจากตลาดร้านขายยายังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของตลาดยาทั้งระบบ เพราะถือเป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้บริการเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ราคายาและสินค้าทางการแพทย์ถูกกว่าการใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงเทรนด์การรักษาสุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่นิยมเลือกซื้ออาหารเสริมประเภทต่างๆ ทั้งดูแลสุขภาพและเสริมความงาม

ปัจจุบัน หน่วยงานบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์จำนวนร้านขายยาทั่วประเทศมีมากกว่า 22,000-23,000 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ 30% และต่างจังหวัด 70% แบ่งเป็นร้านขายยาเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเป็นรายกลางและเล็ก (SME) มีสัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งหมด และร้านขายยาของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสาขาทั้งในรูปแบบของการลงทุนเองและการขยายธุรกิจในรูปของแฟรนไชส์

ส่วนข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า จำนวนประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ทั้งประชากรตามทะเบียนราษฎรและประชากรแฝงรวมกันประมาณ 10 ล้านคน ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือน มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 18 ไม่ใช้สิทธิรักษาใดๆ แต่เลือกวิธีซื้อยากินเอง เพราะประหยัด ไม่สะดวกในการไปพบหมอ ไม่อยากรอคิวนาน และกลัวเสียเวลา

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้เล่นรายใหม่อย่างสยามเฮลท์ กรุ๊ป ย่อมต้องเร่งสร้างจุดต่าง ซึ่งตามแผนเบื้องต้นจะเน้นการลงทุนด้านบุคลากรครั้งใหญ่ เพื่อให้มีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลา และจัดอบรมบุคลากรประจำร้านให้มีความรู้เรื่องยา การบริการ มีการลงทุนด้านระบบสมาชิก (Membership) วางระบบคอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นของลูกค้า เช่น ประวัติการใช้ยา การแพ้ยา โรคประจำตัว ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาลและระบบประกันสุขภาพต่างๆ

นอกจากนั้น จะเพิ่มบริการคลินิกแพทย์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้ามาตรวจและได้รับคำปรึกษาโดยตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ 24 ชั่วโมง จากเภสัชกรโดยตรง และมีแผนร่วมทุนจับมือกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง วางระบบการจำหน่ายออนไลน์ เจาะกลุ่มผู้บริโภคแต่ละประเภท แต่ละโรคเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ภก.ดร.แสงสุข ย้ำว่า ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราเติบโต 10% และปีนี้มั่นใจจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10% หลังจากเข้าซื้อกิจการของร้านขายยา P&F และเร่งผลักดันให้ร้านขายยา P&F ขยับขึ้นเป็นผู้นำตลาดภายใน 3-4 ปี จากปัจจุบันติดอันดับทอปไฟว์ของธุรกิจ รวมทั้งตั้งเป้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 4 ปีข้างหน้า

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ “วัตสัน” ซึ่ง A.S. Watson Group ฮ่องกง บุกเข้ามาเจาะตลาดไทยนานกว่า 30 ปีและถือเป็นบริษัทค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดดำเนินการกว่า 15,000 สาขา ภายใต้ร้านค้าปลีกถึง 12 แบรนด์ ใน 25 ตลาด มีรายได้รวม 20,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มีฐานลูกค้า 5,200 ล้านคน ทั้งในร้านและออนไลน์

ปี 2562 วัตสัน ประเทศไทย วางแผนใช้งบลงทุนมากกว่า 630 ล้าน ทั้งการเปิดสาขาใหม่ ปรับปรุงร้าน พัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ พัฒนาระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า การตลาด ไอที และการจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยงัดกลยุทธ์ Customer Connectivity เชื่อมต่อกับผู้บริโภค ทั้งช่องทางออนไลน์และร้านค้า ภายใต้ร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ “G8” เน้นเทคโนโลยีด้านการชอปปิ้ง

เช่น บริการ StyleMe เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR) ที่สามารถให้บริการแต่งหน้าเสมือนจริง เปิดตัว TRY ME เทคโนโลยีแสดงสินค้าผ่านรูปแบบวิดีโอที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย เปิด Makeup Studio มุมแต่งหน้าและทดลองสินค้า ซึ่งล่าสุดมีสาขาคอนเซ็ปต์ G8 แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ สาขาไอคอนสยาม สาขาเดอะมอลล์บางกะปิ และสาขาสยามสแควร์

ส่วนแผนการขยายสาขาตั้งเป้าไว้ 50 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปรับโฉมร้านวัตสันเดิมอีก 75 สาขา ให้เป็นรูปแบบใหม่ “G8” และเน้นการสร้างฐานสมาชิกจากปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกเกือบ 5 ล้านสมาชิก

ด้านเอ็กซ์ต้า พลัส ล่าสุด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เลือกทำเลเปิดสาขาติดกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น รวมแล้วมากกว่า 150 แห่ง และเร่งขยายเพิ่มต่อเนื่อง โดยใช้รูปแบบแฟรนไชส์ดึงดูดบรรดาผู้ประกอบการใหม่ ยิ่งถ้ามีเภสัชกรอยู่แล้วจะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้น ลดเงินสดค้ำประกันจาก 9 แสนบาท เหลือ 5 แสนบาท หรือรวมเงินลงทุนร้านเอ็กซ์ต้า พลัส ลดจาก 2.7 ล้านบาท เหลือประมาณ 2.3 ล้านบาท ระยะเวลาการทำสัญญา 10 ปี

ก่อนหน้านี้ ซีพีออลล์ยังจัดตั้งบริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพชุมชนด้วยนวัตกรรมระบบดิจิทัล ซึ่งในวงการธุรกิจต่างคาดการณ์ว่าอาจเป็นการลงทุนธุรกิจร้านขายยาแยกจากเอ็กซ์ต้า พลัส เพื่อขยายธุรกิจดูแลสุขภาพและกระจายไปสู่กลุ่มชุมชนครอบคลุมทั่วประเทศไทย อาจยกระดับถึงขั้นเปิดให้บริการคลินิกที่สามารถให้คำปรึกษาอาการเจ็บป่วยและรักษาเบื้องต้นได้ โดยแพทย์ที่มีใบรับรองถูกต้อง และมีร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส เป็นเครือข่ายรองรับในแง่การจำหน่ายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นยา อาหารเสริม เวชสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

อีกรายที่ซุ่มรุกตลาดอย่างเงียบๆ ก็คือ “ซูรูฮะ” ซึ่งกลุ่มสหพัฒน์จับมือกับธุรกิจค้าปลีกจากประเทศญี่ปุ่น โดยปีนี้จะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในทำเลที่เข้าถึงแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เช่น ในคอมมูนิตี้มอลล์ และร้านสแตนด์อโลน จากปัจจุบันมีทั้งหมด 24 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก และใน จ.เชียงใหม่และชลบุรี

ดังนั้น หากมองในแง่ธุรกิจ สงครามดรักสโตร์รอบนี้เดือดระอุ โดยเฉพาะความพยายามของร้านขายยาสัญชาติไทย แต่เหนือสิ่งอื่นใด การพัฒนาทั้งสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ย่อมหมายถึงการยกระดับจากร้านขายยาเถื่อนสู่ดรักสโตร์ที่มีมาตรฐานสากลมากขึ้น

ใส่ความเห็น