นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 (34th ASEAN SUMMIT) ที่กำลังจะเกิดมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ จะดำเนินไปท่ามกลางแนวคิดว่าด้วย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ที่จัดวางเป้าประสงค์ไว้ที่การมุ่งสู่การเป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ ด้วยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค และการก้าวไปสู่ดิจิทัลอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 พร้อมกับเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาอาเซียนให้มีความยั่งยืนในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาแล้ว
การประชุมดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลางความร้อนแรงของข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ทวีความหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับและกำลังเป็นปัจจัยลบที่ฉุดรั้งสถานการณ์และภาพรวมทางเศรษฐกิจของโลกให้ต้องตกอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ากรณีดังกล่าวอาจขยายตัวลุกลามจนเกิดเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้ไม่ยากในอนาคตอันใกล้นี้
ภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียน ผู้นำของอาเซียนได้ตั้งเป้าให้การสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสำเร็จในปี 2562 นี้ ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียน พยายามที่จะแสดงบทบาทนำในอาเซียนร่วมกับสมาชิกอีก 15 ประเทศ ด้วยการเร่งดำเนินงานตามแผนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้มุ่งสู่ผลลัพธ์ที่กำหนดไว้
พัฒนาการของ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นแผนความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจาที่ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยการเจรจาเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมอาเซียนที่ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถบรรลุสู่ข้อตกลงได้สำเร็จ
ท่าทีของสมาชิก RCEP ทั้ง 16 ประเทศ มีแนวโน้มที่ต่างพยายามเร่งให้การเจรจา RCEP ได้บทสรุปและเสร็จสิ้นภายในปี 2562 เพราะตระหนักว่าปัจจุบันสถานการณ์การค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง และสุ่มเสี่ยงที่จะมีการนำมาตรการกีดกันการค้ามาใช้อีก ซึ่งหาก RCEP สรุปการเจรจาและประกาศความสำเร็จได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แนวโน้มที่จะทำให้ในปี 2563 จะมีการลงนามความตกลงและนำไปสู่การมีผลบังคับใช้ได้ ก็จะทำให้การค้า การลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากขึ้นและเข้มแข็งมากขึ้น
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ RCEP จะเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่ใหญ่สุดในโลก โดยนอกจากจะมีประชากรรวมกันกว่า 3,560 ล้านคนแล้ว ยังครอบคลุมมูลค่าการค้าโลกประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าโลกหรือคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมกว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกันมากกว่า 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย
ความตกลงที่เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ว่าในห้วงปัจจุบันจะมีการเจรจาและปรับประสานกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกันไปแล้วในหลายกรณี ทั้งในส่วนของพิธีการศุลกากร แนวทางในการปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากฎหมายและกฎระเบียบของประเทศสมาชิก รวมทั้งการตรวจสอบมาตรฐานทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามความตกลงหลังจากมีผลบังคับใช้
แต่ประเด็นเจรจาที่ยังสามารถนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันได้ยังมีอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน การเงิน โทรคมนาคม และบทกฎหมาย การระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นกรณีที่ท้าทายอาเซียนไม่น้อย โดยเฉพาะการคุ้มครองการลงทุนที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้วิธีการใดระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนของสมาชิก RCEP กับรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุนอย่างไร
ส่วนการเปิดตลาดการค้ายังคงยึดรูปแบบการลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละศูนย์ ในหมวดหมู่สินค้ามากถึงร้อยละ 90-92 ของสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน ขณะที่ในส่วนของสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง ให้ทยอยลดภาษีภายใน 20 ปี และยอมให้แต่ละประเทศมีสินค้าที่ไม่นำมาลดภาษีได้ในสัดส่วนร้อยละ 1 โดยในประเด็นนี้ คู่เจรจาทั้ง 6 ที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียนได้เปิดให้อาเซียนตามเป้าหมาย แต่คู่เจรจาทั้ง 6 ที่ไม่เคยทำ FTA ร่วมกันมาก่อน เช่น จีน-อินเดีย จีน-ญี่ปุ่น จีน-เกาหลี ยังเปิดไม่ถึงเป้าหมาย และกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความคืบหน้าของ RCEP ในห้วงเวลาจากนี้
ประเด็นที่มีความแหลมคมต่อการเจรจา RCEP อีกประการหนึ่งอยู่ที่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในสมาชิก RCEP ในอัตราเท่าไร เพื่อให้สินค้าที่ผลิตได้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีนำเข้า หรือไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งบางประเทศต้องการให้กำหนดสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ขณะที่บางประเทศต้องการให้ต่ำกว่านี้ รวมถึงเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีบางประเด็นยังตกลงกันได้
กรณีว่าด้วย กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ดูจะเป็นประเด็นเจรจาที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและจับตามองเป็นพิเศษ หลังจากที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่งออกจากจีนถูกกล่าวหาจากเวียดนามว่าปลอมแปลงแหล่งผลิตสินค้าที่ผลิตในจีนมาเปลี่ยนป้ายเป็น “เมดอินเวียดนาม” เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าร้อยละ 25 ที่ทางการสหรัฐอเมริกานำมาบังคับใช้กับสินค้าจากจีน
โดยทางการเวียดนามถึงกับระบุว่าผู้นำเข้าบางรายนำสินค้าจากจีนมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่อย่างผิดกฎหมายว่าเป็นสินค้า “เมดอินเวียดนาม” แล้วก็ยื่นขอหนังสือรับรองแหล่งผลิตเวียดนามเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางธุรกิจและสินค้าเวียดนามอย่างมาก และกรมศุลกากรเวียดนามกำลังพัฒนากระบวนการในการระบุแหล่งผลิตให้ดีขึ้นและลงโทษธุรกิจที่ฝ่าฝืน
เวียดนามเป็นแหล่งผลิตราคาถูกของสินค้าหลากหลายประเภทมาเนิ่นนาน ตั้งแต่รองเท้า Adidas เสื้อผ้าเอชแอนด์เอ็ม ไปจนถึงสมาร์ทโฟนซัมซุง และโปรเซสเซอร์ของอินเทล การส่งออกสินค้าเวียดนามมีปริมาณเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยไตรมาสแรกนั้นสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากเวียดนามเกือบ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ปฏิกริยาจากเวียดนามในกรณีดังกล่าวในด้านหนึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะความหวั่นเกรงของเวียดนามที่อาจโดนสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนาม เพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าหรือดำเนินมาตรการลงโทษอื่นๆ หากเวียดนามไม่สามารถจัดการกับปัญหาการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดและผลิตสินค้าได้ ขณะที่อินเดียประสบปัญหาการปลอมแปลงแหล่งผลิตสินค้าจากจีนในอีกรูปแบบหนึ่ง
อินเดีย ซึ่งเป็นคู่เจรจาอีกประเทศหนึ่งในกรอบ RCEP และยังคงอัตราภาษีและเน้นหนักในประเด็นว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อปกป้องสินค้าจากจีนไม่ให้ไหลท่วมบ่าเข้าสู่ตลาดอินเดีย และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมภายในประเทศ กลับไม่สามารถหลีกเลี่ยงปริมาณสินค้าจีนที่อาศัยช่องทาง Duty-Free Quota-Free จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ (South Asia Free Trade Pact) ที่บังกลาเทศได้รับ ผ่านสินค้าเข้าสู่อินเดียอย่างต่อเนื่อง
สัมพันธ์ทางการค้าอินเดีย-จีน เป็นไปในลักษณะที่อินเดียจะปรับลดกำแพงภาษีสินค้าร้อยละ 70-80 ของสินค้าที่มีการแลกเปลี่ยนกันในห้วงระยะที่ทอดยาวออกไปและไม่ประสงค์ที่จะลดลงมากกว่านี้ เพราะอุตสาหกรรมภายในประเทศกำลังเผชิญการแข่งขันและคุกคามจากสินค้าจีนอย่างหนัก โดยในปีที่ผ่านมาจีนได้เปรียบดุลการค้าอินเดียมากถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าอินเดียจะคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราที่สูงก็ตาม
ประเด็นว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นกรณีที่อินเดียให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะกรณีดังกล่าวไม่ได้จำกัดผลอยู่เฉพาะกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น หากแต่สินค้าในกลุ่มอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์เกษตร, แผ่นกระเบื้อง, น้ำผึ้ง, เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ ก็ดูจะเป็นกลุ่มสินค้าที่อ่อนไหวสำหรับอินเดียเช่นกัน
แรงกดดันของจีนที่มีต่ออินเดียรอบล่าสุดอยู่ที่การระบุว่า จีนอาจทำความตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับอาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นการทดแทนหากการเจรจาในกรอบ RCEP ที่มีอินเดียรวมอยู่ด้วยยังดำเนินไปอย่างล่าช้า ซึ่งนั่นอาจทำให้อินเดียต้องปรับท่าทีในการเจรจา RCEP ที่กำลังจะมีขึ้น ก่อนที่จะถูกผลักให้มีอำนาจในการต่อรองลดลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
บางทีความคืบหน้าไปสู่ความสำเร็จของการเจรจา RCEP อาจเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยว่าด้วยความพยายามและท่าทีของจีนที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากข้อพิพาททางการค้าจากสหรัฐอเมริกา มากกว่าท่วงทำนองของอาเซียนก็เป็นได้