วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ส่งออกไทยติดลบย่อยยับ เศรษฐกิจไทยพร้อมพับฐาน

ส่งออกไทยติดลบย่อยยับ เศรษฐกิจไทยพร้อมพับฐาน

ความเป็นไปของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 ดูจะดำเนินไปในทิศทางที่ถดถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับคำขวัญและความมุ่งมั่นในเชิงวาทกรรมของกลไกภาครัฐว่าด้วยความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปอย่างสิ้นเชิงและทำให้ถ้อยแถลงประชาสัมพันธ์ผลงานของกลไกรัฐในช่วงที่ผ่านมาดูจะไม่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าเสียเลย

ตัวเลขที่บ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงว่าด้วยเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนออกมาในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ที่สถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยที่อยู่ในภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หดตัวติดลบร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 18,555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.8 แสนล้านบาท ส่งผลให้เฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดดุลการค้าถึง 1,457.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือติดลบประมาณ 54,396.5 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2562 การส่งออกของไทยก็ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าอีกด้วย

ความตกต่ำลงของการส่งออกไทยในด้านหนึ่งนอกจากจะเผชิญแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนาน และต่างเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าไทยแล้ว การส่งออกสินค้าไทยไปยังสหภาพยุโรป (EU) ก็อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ตลาดให้กับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นไปอีก เพราะในขณะที่การเจรจากรอบการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปยังอยู่ในภาวะชะงักงันมาตลอดระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาล คสช. ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกลับดำเนินการเจรจาและสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ

ความเคลื่อนไหวว่าด้วย FTA สหภาพยุโรปกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ส่งผลต่อความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพราะผลจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปกับเวียดนาม ทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรป ที่เดิมมีอัตราภาษีอยู่ที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 12 ปรับลดลงเหลือร้อยละ 3.5 และจะลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ในปี 2563 ขณะที่สินค้าจากประเทศไทยยังมีภาษีนำเข้าอยู่ในอัตราร้อยละ 12 เท่าเดิม ซึ่งหมายความว่าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันและมีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่าด้วยการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดยุโรปอยู่ที่ตลาดยุโรปถือเป็นตลาดใหญ่ของเครื่องนุ่งห่มไทยโดยในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังยุโรปคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยไปทั่วโลกที่มีมูลค่ารวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ความสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียตลาดส่งออกให้กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะดังกล่าว ทำให้ความคาดหวังของกลไกรัฐไทย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่เคยตั้งเป้าหมายการเติบโตด้านการส่งออกไว้ที่ร้อยละ 8 มีแนวโน้มว่าจะต้องปรับลดประมาณการใหม่อีกหลายครั้ง โดยล่าสุดความคาดหวังที่จะเห็นตัวเลขการส่งออกปี 2562 เติบโตที่ร้อยละ 1 ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากและมีโอกาสจะเป็นไปได้น้อยลงทุกขณะ

สมมุติฐานว่าด้วยการรักษาการเติบโตด้านการส่งออกไว้ที่ร้อยละ 1 ในปี 2562 หมายถึงการกระตุ้นการส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือนับจากนี้ต้องส่งออกเฉลี่ยเป็นมูลค่า 22.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.9 แสนล้านบาทต่อเดือนโดยตัวเลขการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2561 อยู่ที่เพียง 21,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่าไทยจำเป็นต้องส่งออกให้ได้เพิ่มถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งหากมูลค่าการส่งออกต่อเดือนของไทยต่ำกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ตัวเลขส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตเป็นศูนย์หรือไม่ขยายตัวเลย

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งส่วนที่มีความเสี่ยง โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมายอดการส่งออกปรับตัวต่ำลงถึงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

แนวทางในการประคองการส่งออกเพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับวิกฤต ในด้านหนึ่งอยู่ที่การเร่งแสวงหาและเปิดตลาดการค้าใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างเสถียรภาพด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผันผวนของค่าเงิน และปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

การเร่งผลักดันให้เกิด FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่ควรให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ เพราะไม่เพียงแต่จะใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรปไว้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ FTA ดังกล่าวจะมีผลต่อเส้นทางการพัฒนาการผลิตแห่งอนาคตในไทยที่ต้องจับตาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแรงกระตุ้นและดึงดูดที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมรวมถึงการนำพาการลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงในสหภาพยุโรปได้อีกทางหนึ่ง

ความสำคัญของการเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรป อยู่ที่กรอบเวลาที่ชัดเจนในการเปิดเสรี ซึ่งหากสามารถเปิดเสรีได้ในเวลาไล่เลี่ยกับประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งส่งผลดีต่อไทยในระยะยาว โดยในขั้นแรกจะประหยัดค่าภาษีสินค้านำเข้าสหภาพยุโรปได้ถึงปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยเปิดโอกาสให้แก่สินค้าใหม่ของไทยในกลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ รวมทั้งหนุนให้ไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนระลอกใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นในกลุ่ม ICs แผงวงจรไฟฟ้า ไดโอท เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จนกระทั่งพัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้สามารถรองรับการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า อันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยก้าวไปเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีที่ใช้นวัตกรรมแห่งอนาคตของภูมิภาคได้อีกด้วย

ในทางกลับกันประเด็นว่าด้วยการเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปที่ยังอยู่ในภาวะชะงักงันนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ไทยสูญเวลาและเสียโอกาสการพัฒนาการผลิตในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ไทยยังอาจจะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีปัจจุบันไปให้แหล่งผลิตอื่นในอาเซียน และสูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของอาเซียนไป

ข้อน่าสังเกตจากสถานการณ์การส่งออกในห้วงเวลาปัจจุบันก็คือ การส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในสินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากผลของสงครามทางการค้าที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีสถานะเป็นเพียงส่วนหนึ่งใน supply chain ให้กับอุตสาหกรรมของจีน มากกว่าที่ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบส่วนเพื่อให้ได้สินค้าส่งออกที่มีระดับขั้นของเทคโนโลยีสูงขึ้น

การส่งออกที่ขยายตัวติดลบอย่างหนักหน่วงในห้วงเวลาปัจจุบัน ในด้านหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากสงครามทางการค้าที่ดำเนินอยู่ หากแต่ในอีกมิติหนึ่งได้สะท้อนศักยภาพในการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากจะต้องเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงทางธุรกิจแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมที่ประกอบส่วนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้นในการผลิต ซึ่งจะเป็นการปรับฐานการผลิตและอุตสาหกรรมของประเทศให้สอดรับกับวาทกรรมว่าด้วย ไทยแลนด์ 4.0 ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าที่เป็นอยู่นี้

ใส่ความเห็น